ชมรมฯ ร่วมจัดทำมาตรฐานยางรถจักรยาน
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา แผนงานวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยาน กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดการประชุมคณะผู้จัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยาน ครั้งที่ 1 ขึ้นที่อาคารศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรุงเทพฯ
การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่กรมฯ ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาดำเนินการโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยานขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยานฉบับที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน (มอก.571-2528 สำหรับยางนอก และ มอก. 652-2529 สำหรับยางใน) เป็นมาตรฐานที่กำหนดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ไม่มีความทันสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา
คณะผู้จัดทำร่างฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง-ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อันได้แก่กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจักรยานทั้งที่ผลิตรถจักรยานขายทั้งคันและที่ผลิตเฉพาะยางใน-ยางนอกรถจักรยาน สมาคมส่งเสริมจักรยาน(ซึ่งเป็นที่รวมตัวของผู้ประกอบการเกี่ยวกับจักรยานในไทยทั้งหลาย) และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้แทนเพียงหนึ่งเดียวของผู้ใช้จักรยาน ในการประชุมครั้งนี้ ชมรมฯ ได้ส่งนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เข้าร่วมประชุม
การปรับปรุงครั้งนี้ได้ระบุขอบข่ายชัดเจนว่ากำหนดให้ครอบคลุมยางใน-ยางนอกเฉพาะของ “รถจักรยานที่ใช้ในการเดินทางและใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน” คือรถจักรยานแบบที่หลายคนมักเรียกว่า “จักรยานแม่บ้าน” เท่านั้น ไม่รวมยางใน-ยางนอกของรถจักรยานสำหรับการแข่งขันและรถจักรยานเสือภูเขา โดยใช้มาตรฐานยางใน-ยางนอกของญี่ปุ่น (JIS) ที่ออกโดย Japanese Standards Association (สมาคมมาตรฐานญี่ปุ่น) ล่าสุดของปี 2014 เป็นกรอบในการอ้างอิง เนื่องจาก International Standards Organisation (ISO หรือองค์การมาตรฐานสากล) ยังไม่มีมาตรฐานยางรถจักรยานที่ชัดเจน ในขณะที่มาตรฐาน JISมีความน่าเชื่อถือสูง เป็นที่ยอมรับทั่วไปในระดับสากล การอ้างอิง JIS จึงมีผลดีในแง่การตลาด แม้มาตรฐานอินเดีย (IS) ได้รวบรวมเอามาตรฐานจากทั่วโลกมาจัดทำก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการปรับปรุงครั้งนี้คือการเปลี่ยนหน่วยวัดจากหน่วยอังกฤษมาเป็นหน่วยเมตริกตามแนวของ ISO เช่น เปลี่ยนจาก “นิ้ว” มาเป็น “มิลลิเมตร” สำหรับระยะ และจาก “ปอนด์ต่อตารางนิ้ว”เป็น “กิโลพาสคัล” สำหรับความดันลม เช่น ยาง 26 x 1 3/8 นิ้วและใช้ความดันลมที่สูบเข้ายางใน 60 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ในระบบเก่า จะกลายเป็นยาง 37-590 ที่มีความดันลมยางใน 200 กิโลพาสคัล เป็นต้น
โดยรวมแล้ว ส่วนที่มีการแก้ไขและเพิ่มเติมข้อความส่วนใหญ่อยู่ที่มาตรฐานของยางนอก ตั้งแต่บทนิยาม ประเภทและแบบ ขนาด วัสดุ คุณลักษณะที่ต้องการ เครื่องหมายและฉลาก การชักตัวอย่างและเกณฑ์ตัดสิน และการทดสอบ ของส่วนต่างๆ ของยางนอกโดยแก้ไขให้ครอบคลุมและชัดเจนขึ้น มีการทำตัวเลขคุณลักษณะที่ต้องการให้เป็นตัวเลข “กลมๆ” ที่วัดตรวจสอบได้ง่าย เช่น ความต้านพลังงานทำลาย (breaking energy) ของยางนอก เดิมกำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 6.86 นิวตันเมตร ได้แก้ไขใหม่เป็น 7.0 นิวตันเมตร เป็นต้น
ความคืบหน้าของการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจะนำมาเสนอต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย