Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ ร่วมจัดการประชุมเรื่องระบบจักรยานสาธารณะกับ APEC

ชมรมฯ ร่วมจัดการประชุมเรื่องระบบจักรยานสาธารณะกับ APEC

ชมรมฯ ร่วมจัดการประชุมเรื่องระบบจักรยานสาธารณะกับ APEC

  

ะบบจักรยานสาธารณะ (Public Bike Sharing System – PBSS) คือระบบที่จัดจักรยานไว้ตามจุดต่างๆ ของเมืองที่เรียกได้ว่าเป็น “สถานี” ให้ประชาชนทั่วไปที่สมัครเป็นสมาชิกสามารถนำออกไปใช้ได้ และต้องนำจักรยานไปคืนที่สถานีใดสถานีหนึ่งของระบบ โดยมีระบบอิเล็กโทรนิกที่ขั้นต่ำบันทึกเวลาการใช้งานจากที่นำจักรยานออกไปจากสถานีจนถึงเมื่อนำมาคืนเข้าที่สถานีใดสถานีหนึ่ง คิดออกมาเป็นค่าเช่าที่หักออกไปจากยอดเงินที่ใส่ไว้ในบัตรอิเล็กโทรนิกนั้น

ระบบจักรยานสาธารณะกลายเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลกในการส่งเสริมให้การใช้จักรยานกลายเป็นวิธีการเดินทางในเมืองที่สำคัญวิธีหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของระบบคมนาคมขนส่งของเมือง โดยเฉพาะสำหรับการเดินทางในช่วงแรกและช่วงสุดท้าย (the first and the last mile) ของการเดินทางที่ใช้ระบบรางหรือรถประจำทาง หลังจากมีการเริ่มใช้มาเพียงประมาณสิบปี ในเดือนมิถุนายน 2559 ก็มีระบบนี้ใช้อยู่แล้วใน 1,055 เมือง (ในไทยมี 4 เมืองคือ กรุงเทพฯ พิษณุโลก อุดรธานี และเชียงใหม่) และกำลังอยู่ในช่วงการวางแผนหรือติดตั้งอีก 321 เมืองทั่วโลก เนื่องจากมีความตระหนักกันมากขึ้นว่า การจะมีเมืองที่มีประสิทธิภาพ น่าอยู่ และยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม (Smart City) ได้นั้น เมืองนั้นจำเป็นต้องมีระบบการคมนาคมขนส่งที่สอดคล้องรองรับ(Smart Transportation / Smart Mobility)ด้วย

กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) ตระหนักถึงความจำเป็นนี้จึงได้มอบให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจักรยานและสุขภาพ (Cycling & Health Tech Industry R&D Center – CHC) ในไต้หวันมาทำโครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อส่งเสริมการนำระบบนี้มาใช้ให้มากขึ้น สำหรับในไทยก็ได้มอบให้สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute  – ITRI) เป็นผู้จัด ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน(Thai-Taiwan Business Association  – TTBA) และบริษัท Q-Advertising ซึ่งเป็นดูแลการหารายได้จากการโฆษณาของระบบจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” ในไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กระทรวงกิจการเศรษฐกิจ(Department of Industrial Technology, Ministry of Economic Affairs – DoIT, MOEA) ของไต้หวัน

กระบวนการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2559 โดยในช่วงบ่ายวันที่ 4 เป็นการดูระบบจักรยานสาธารณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ  ในวันที่ 5 ทั้งวันเป็นการประชุมสัมมนาเรื่อง “การจัดการระบบจักรยานสาธารณะ:ระบบจักรยานสาธารณะปันกันใช้ เพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน” (APEC Public Bike Sharing System: Innovation Forum on Last Mile Solution and Its Implementation on SMEs) ที่ห้องประชุมของสมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน ในกรุงเทพฯ  และวันที่ 6 เป็นการดูงานระบบจักรยานสาธารณะในเมืองเชียงใหม่

  

สำหรับการประชุมสัมมนาในวันที่ 5 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบจักรยานสาธารณะที่ประสบความสำเร็จ ผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน โดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการแจ้งข่าวและเชิญผู้เกี่ยวข้อง-ผู้สนใจเข้าร่วม ซึ่งมีทั้งที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่เทศบาลนครลำปาง พิษณุโลก เชียงราย ภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร (สำนักการจราจรและขนส่ง), สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นต้น

การสัมมนาประกอบด้วยการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อดังต่อไปนี้

1)  APEC Public Bike Sharing System Promotion Summary (สรุปการส่งเสริมระบบจักรยานสาธารณะในกลุ่ม APEC) โดย Hsiang Yi HSU, Cycling and Health Tech. Industry Center, Chinese Taipei

2) Global Bench Marking – APEC Public Bike Sharing System Roadmap (การเปรียบเทียบในระดับโลก – เส้นทางของระบบจักรยานสาธารณะในกลุ่ม APEC) โดย Francois Liang, General Manager, Cycling and Health Tech. Industry Center, Chinese Taipei

3) Should we have or Should we not have Public Bike Sharing System in Thailand (เราควรหรือไม่ควรมีระบบจักรยานสาธารณะในไทย) หัวข้อนี้เดิม ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้นำเสนอ แต่เนื่องจากอาจารย์ธงชัยไม่สบาย ไม่อาจมาร่วมประชุมได้ คุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ จึงเป็นผู้นำเสนอแทน

4) Pun Pun Bangkok Metropolitan Bike Sharing Project (ปันปั่น โครงการแบ่งปันการใช้จักรยานสาธารณะในกรุงเทพมหานคร) โดยคุณจุไรพร วิจักขณวงศ์ Executive Director, Q-Advertising Co. Ltd

5) Bike Sharing System & Ubike in Taiwan (ระบบจักรยานสาธารณะกับยูไบค์ในไต้หวัน) โดย James Huang, Vice Director, International Business Department, YouBike Co. Ltd.

6) Policy Recommendations; R&R of Policy Makers, Operator, Industry, STI Institutes (ข้อเสนอเชิงนโยบาย:การทำซ้ำได้ของผู้กำหนดนโยบาย ผู้ดำเนินการ อุตสาหกรรม สถาบันวิจัย) โดย Dr. Jet, Ping-Huei SHU, Advisor, DoIT, MOEA, Chinese Taipei

แต่ละช่วง ผู้เข้าร่วมสามารถสอบถามและแสดงความเห็นได้ โดยมีการช่วยแปลจากอังกฤษเป็นไทย และไทยเป็นจีน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถรับรู้เนื้อหาและแลกเปลี่ยนได้เต็มที่

  

การสัมมนาเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การริเริ่มทำระบบจักรยานสาธารณะของเมืองและสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะจากไต้หวันซึ่งระบบนี้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วมีใช้อยู่ใน 6 เมืองใหญ่ในเวลาเพียง 7 ปี และขณะนี้มีอัตราการใช้จักรยานสาธารณะสูงที่สุด (6.8 ครั้งต่อคันต่อวันในไทเป) เห็นได้ชัดเจนว่า เนื่องจากแต่ละเมืองมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ในการจัดทำระบบจักรยานสาธารณะ ผู้บริหารเมืองจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนมาสนับสนุนและต้องพิจารณาระบบจักรยานสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการคมนาคมขนส่งของเมือง มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำไปเพื่ออะไรในระยะยาว ไม่ใช่คิดอยากจะทำก็จะทำได้ประสบความสำเร็จ   ที่สำคัญคือ แม้ระบบนี้จะประสบความสำเร็จมากที่สุดจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐกับภาคเอกชน (public-private partnership) รัฐบาลท้องถิ่นต้องเป็นผู้ลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบ เช่น เส้นทาง สถานี   จักรยานที่นำมาใช้ก็ต้องได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีให้ “น่าใช้” ประชาชนจึงจะนิยมใช้ ซึ่งปัจจัยสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ขาดไปในไทย

ส่วนการดูงานระบบจักรยานสาธารณะที่เชียงใหม่นั้นทำให้พบว่า ระบบจักรยานสาธารณะในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่นั้นมีบริษัท Q-Advertising เป็นผู้ดูแล ตั้งเป้าจะมี “สถานี” ทั้งหมด 16 แห่ง ขณะนี้อยู่ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน เป็นเพียงการติดตั้งเพื่อให้ขายค่าโฆษณาได้เท่านั้น ยังไม่ได้ส่งเสริมให้ชาวเมืองใช้จักรยานอย่างจริงจัง ระบบยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวเมืองเชียงใหม่มากนัก ผู้ใช้จักรยานในเมืองเชียงใหม่ที่มองเห็นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งนิยมใช้บริการจักรยานของโรงแรมหรือที่พักมากกว่า

รายงานโดย กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น