Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / เอาจักรยานขึ้นรถไฟ(ฟ้า) ความเหมาะสมพอดีอยู่ที่ไหน

เอาจักรยานขึ้นรถไฟ(ฟ้า) ความเหมาะสมพอดีอยู่ที่ไหน

   เอาจักรยานขึ้นรถไฟ(ฟ้า) ความเหมาะสมพอดีอยู่ที่ไหน

 

untitled_5

ลายคนคงเห็นประกาศแล้วว่า จากเดิมที่เคยอนุญาตให้นำจักรยานทุกชนิดขึ้นรถได้ตลอดเวลาที่ให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส(BTS)จะอนุญาตให้นำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าได้ตลอดเวลาเฉพาะรถจักรยานที่พับได้เท่านั้น ส่วนจักรยานที่พับไม่ได้จะอนุญาตให้นำขึ้นได้ทุกวันเฉพาะในช่วง 22.00 น.จนระบบปิดให้บริการ และในช่วง 6.00-6.30 น.ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และ 6.00-9.00 น. ของวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  ส่วนระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที(MRT)และระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ที่ให้บริการจากสถานีพญาไทไป-กลับสนามบินสุวรรณภูมิไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คืออนุญาตให้นำเฉพาะรถจักรยานที่พับได้มีขนาดล้อไม่เกิน 20 นิ้วขึ้นได้ทุกวันทุกช่วงเวลามาตั้งแต่ต้น

ผู้ใช้จักรยานหลายคนที่เคยเอาจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสอาจจะรู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบ สิทธิเสรีภาพและความสะดวกสบายของตนเองถูกจำกัดลง แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกินคาดหมาย และความจริงก็มีการพูดถึงมาตรการนี้มานาน นับแต่มีภาพปรากฏทางสื่อสังคมเมื่อปีที่แล้วกรณีนักจักรยานสองคนเอาจักรยานขึ้นไปแขวนกับห่วงที่จัดไว้ให้ผู้โดยสารจับยึดทรงตัวจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกันไปทั่ว

ต่อเรื่องนี้ ความเป็นจริงก็คือ หลักปฏิบัติทั่วโลกในการนำรถจักรยานขึ้นรถไฟหรือรถโดยสารใดๆ ในระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ให้บริการในเมือง คืออนุญาตให้นำขึ้นได้เฉพาะรถจักรยานที่พับได้เท่านั้น โดยมีการกำหนดขนาดของวงล้อที่ใหญ่ที่สุดที่อนุญาต (เท่าที่ทราบโดยทั่วไปจะไม่เกิน 20 นิ้ว) หรือขนาดของถุงใส่จักรยาน หากระเบียบระบุไว้ด้วยว่าต้องนำจักรยานพับใส่ถุงสำหรับจักรยานด้วยจึงจะอนุญาต บางเมืองมีการจำกัดด้วยว่าบางสถานี(เช่นสถานีที่มีคนขึ้นลงอย่างหนาแน่นเกือบตลอดเวลา)ก็ไม่อนุญาตให้นำแม้แต่จักรยานพับขึ้น-ลงได้เลย  และหากอนุญาตให้นำจักรยานทั่วไปขึ้นได้ก็จะมีการจำกัดเวลา ท่านสามารถค้นหาทางอินเตอร์เน็ตเข้าไปดูข้อกำหนดหรือกฎระเบียบในเรื่องการนำจักรยานขึ้นรถไฟของระบบรถไฟฟ้าในเมืองและระบบรถไฟระหว่างเมือง(ซึ่งในยุโรปและญี่ปุ่นเป็นรถไฟฟ้าไปหมดนานแล้ว)มาเปรียบเทียบกันดูได้ง่ายๆ ดังตัวอย่างข้อกำหนดสำหรับผู้โดยสารที่มีจักรยานของระบบรถไฟฟ้านครไทเป ไต้หวัน (http://english.metro.taipei/ct.asp?xItem=89829374&CtNode=70246&mp=122036) และระเบียบการเดินทางด้วยรถไฟของเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งถ่ายภาพมาจากป้ายของจริงบนรถไฟเมื่อคณะของชมรมฯ ไปขี่จักรยานและใช้บริการเอาจักรยานขึ้นรถไฟมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2559) ซึ่งอนุญาตให้เอาจักรยานทั่วไป(พับไม่ได้)ขึ้นรถไฟได้เฉพาะนอกเวลา 6.30-9.00 น. และ 16.00-18.30 น. ที่มีผู้โดยสารมากที่สุด ตราบใดที่ยังมีที่ว่างให้และต้องถอดกระเป๋าออกจากจักรยานด้วย

 

trt_route_map_shows_where_bikes_are_not_allowed_to_board_traintrt_stipulation_for_passengers_th_bicycle

ตัวอย่างข้อกำหนดสำหรับผู้โดยสารที่มีจักรยานของระบบรถไฟฟ้านครไทเป ไต้หวัน

travel_regulations_on_nederland_trains bike_regulation_on_nederland_trains

(ซ้าย) ระเบียบการเดินทางด้วยรถไฟระหว่างเมืองของเนเธอร์แลนด์โดยรวม และ (ขวา) ขยายให้เห็นระเบียบเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยจักรยาน

และแม้จะออกมาตรการมาใหม่ เมื่อเปรียบเทียบดูก็จะเห็นว่า ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสของกรุงเทพฯ ยัง “ใจกว้าง” มากที่สุด เพราะยังอนุญาตให้นำจักรยานทั่วไปที่พับไม่ได้ขึ้นรถไฟได้ในช่วงที่มีผู้โดยสารใช้บริการน้อย ส่วนจักรยานที่พับได้ก็ยังสามารถนำขึ้น-ลงได้ทุกสถานี และไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใส่ในถุงจักรยานหรือมีขนาดล้อไม่เกินที่กำหนด (คล้ายรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองในเนเธอร์แลนด์)

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้ผู้ที่นำจักรยานขึ้นระบบรถไฟ(ฟ้า)ใดๆ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นการเคารพผู้บริหารระบบรถไฟ(ฟ้า)นั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ใช้จักรยานมากกว่าทุกเมืองในโลก และถึงแม้ว่ารถจักรยานที่นำขึ้นรถไฟจะเป็นจักรยานที่พับแล้ว ก็ควรจะให้เกียรติและความสะดวกกับผู้โดยสารทั่วไป โดยไม่ทำให้จักรยานเกะกะขวางทางการเคลื่อนไหวขึ้น-ลงของพวกเขา ควรหลีกเลี่ยงการนำจักรยานขึ้นรถไฟในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารแน่นขนัด คือช่วงเข้างาน/เข้าเรียนและช่วงเลิกงาน/เลิกเรียน และนำจักรยานของท่านไปไว้ที่หัวหรือท้ายตู้โดยสาร ดีที่สุดคือที่หัวหรือท้ายขบวน

กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

 

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016