Home / News / สรุปการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) วันที่ 17-18 สิงหาคม 2559 : การจัดทำมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนจักรยาน (2559)

สรุปการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) วันที่ 17-18 สิงหาคม 2559 : การจัดทำมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนจักรยาน (2559)

  1. ที่มาที่ไป

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง“มาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วน” เพื่อให้มีการปรับปรุงมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนเดิม (พ.ศ.2532) ให้เป็นมาตรฐานสากล เป็นประโยชน์ต่อระบบอุตสาหกรรมจักรยาน ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย(แยกเป็นสามกลุ่มตามลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่ม) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำเสนอการจัดทำร่างมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนนี้ เมื่อวันที่ วันที่ 17 -18 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมมิโด ถนนประดิพัทธ์ กทม.

%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%ad-3

  1. ข้อสรุป

ข้อสรุปเบื้องต้นมีดังต่อไปนี้

ทั้ง 3 กลุ่ม เห็นฟ้องต้องกันว่าจักรยานและชิ้นส่วนต้องมีมาตรฐานของไทย จะเป็นมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานทั่วไป ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งมีข้อดีและข้อด้อยของมาตรฐานทั้งสองรูปแบบ เพราะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด โดยข้อดีของมาตรฐานบังคับ คือ ทุกบริษัททั้งผลิตในประเทศและนำเข้าจะต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นจักรยานทุกยี่ห้อจะมีมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้จักรยาน ข้อด้อยคือการเพิ่มต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ เครื่องทดสอบ ผู้ผลิตชิ้นส่วนนำเข้าก็จะต้องได้รับมาตรฐานตามกำหนดของประเทศไทย เมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่ม ราคาจักรยานก็จะเพิ่มขึ้น

ในส่วนของข้อดีสำหรับมาตรฐานทั่วไป คือ ราคาในตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้น ส่งผลให้ราคาจักรยานราคาถูก ข้อด้อย คือ อาจมีจักรยานไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด(สำหรับผู้ประกอบการที่ทำต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด) ส่งผลต่อผู้บริโภคได้ใช้จักรยานราคาถูกแต่ไม่มีความปลอดภัยเมื่อนำไปใช้

ปัญหากฎหมาย: การบังคับใช้มาตรฐานฯขัดกับหลักกฎหมายเดิม เช่น พรบ.จราจรบางบก กรณีเบาะท้ายจักรยาน, การผลิตจักรยานของเล่นเด็ก หรือจักรยานได้รับมาตรฐานรับรองแล้ว แต่ผู้บริโภคเปลี่ยนอุปกรณ์หรือดัดแปลงด้วยตัวเองแล้วมีปัญหา เป็นต้น ซึ่งต้องนำข้อคิดนี้ไปวิเคราะห์และสรุปในโอกาสต่อไป

กลุ่มของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้แทนจากชุมชน(ในเขตกรุงเทพมหานคร)ที่เป็นคนใช้จักรยานทั่วไปในชีวิตประจำวัน ได้แสดงความเห็นร่วมกันว่า ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหากจักรยานที่ซื้อมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับรอง เพราะสามารถมั่นใจได้ว่า จักรยานที่มีมาตรฐานรับรองจะปลอดภัย วัสดุที่ใช้มีคุณภาพ และอายุการใช้งานนานกว่าจักรยานในปัจจุบันที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า ซึ่งราคาประมาณพันกว่าบาท แต่ชำรุดง่ายและไม่สามารถใช้งานได้คุ้มค่า

slide1

กลุ่มผู้ประกอบการ เห็นด้วยต่อการมีมาตรฐานจักรยาน และได้แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ให้สมอ. สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือร่วมกับทุกภาคส่วน สื่อสารประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูล ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ(รายย่อย)และผู้บริโภครับรู้และเข้าใจเรื่องมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วน และเสนอให้เน้นการสร้างกลไกการจัดการร่วมกับการบังคับใช้ เพราะการมีมาตรฐานจักรยาน เป็นมาตรการกันสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการเองควรร่วมมือกันให้มากขึ้น รวมทั้งควรมีการดำเนินการแบบ “พี่ช่วยน้อง”ด้วย ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนของอุตสาหกรรม

%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%ad-5

กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้แจงว่าการทดสอบมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนเป็นภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องมีให้บริการแก่ผู้ประกอบการในการทดสอบผลิตภัณฑ์ โดยสามารถทดสอบได้ทั้งชิ้นส่วนจักรยานและจักรยานทั้งคัน โดยใช้มาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) เช่น

  • มีข้อบ่งบอกความเสี่ยงในการใช้จักรยาน ระบุข้อกำหนด และมาตรฐานการผลิตที่ชัดเจน
  • ความสามารถในการรับน้ำหนักของเบาะท้ายจักรยาน น้ำหนักที่สามารถใส่ในตะกร้า
  • การรับน้ำหนักของล้อ เป็นต้น

หมายเหตุ : อาจมีการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นนี้จากกลุ่มผู้ขายและผู้นำเข้าด้วยในภายหลัง

ที่ประชุมเสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว อาจให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับเช่นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกฉลากให้กับจักรยานที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลักษณะเดียวกันกับการออกฉลากประหยัดไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจและความสะดวกในการเลือกซื้อให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้ การกำหนดให้หน่วยงานราชการต้องซื้อจักรยานที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เท่านั้น  ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) และก่อให้เกิดวัฒนธรรมจักรยานได้ง่ายและเร็วขึ้น

นอกจากประเด็นเรื่องมาตรฐานจักรยานดังกล่าวแล้วนั้น ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวกับจักรยานด้วย เช่น

  • พรบ.จราจรทางบก (2522) หมวดลักษณะของจักรยาน มาตรา 83 ในทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดทำไว้สำหรับรถจักรยาน ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถจักรยาน (5) ขับโดยบรรทุกบุคคลอื่น เว้นแต่รถจักรยานสามล้อสำหรับบรรทุกคน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด (6) บรรทุก หรือถือสิ่งของ หีบห่อ หรือของใดๆในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจับคันบังคับรถหรืออันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ดังนั้น การซ้อนท้ายจักรยานจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พรบ.จราจรทางบกปัจจุบัน
  • ในขณะที่บริบทของประเทศไทยชาวบ้านโดยทั่วไปต้องใช้ประโยชน์ จากการซ้อนท้ายหรือบรรทุกของท้ายจักรยาน เช่น ลูกหลานซ้อนท้ายไปโรงเรียน เป็นต้น หรือการใช้ทางในการขับขี่รถจักรยานในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ก็อาจไม่ได้ใช้ทางที่ได้จัดไว้สำหรับรถจักรยาน ตามมาตรา 79 พรบ.จราจรทางบก กำหนด เช่น ทางจักรยานวันเวย์ แต่ต้องเดินทางไปในทิศตรงข้าม เป็นต้น
  • ด้านเจ้าพนักงานจราจรซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมาย ไม่สามารถไม่จับหรือไม่ปรับได้ ด้วยจะถูกดำเนินคดีฐานละเว้น (มาตรา 157)

จึงต้องแก้กฎหมายในส่วนนี้โดยผ่านการนำเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ซึ่งควรเป็นบทบาทหน้าที่ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้นนั้น ที่ประชุมให้ความเห็นร่วมกันว่า ควรมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นการไม่เหมาะสมกับการใช้รถจักรยานของสังคมไทย ที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายข้างต้นเนื่องจากขัดกับบริบทของสังคม โดยต้องเป็นการเสนอเรื่องขึ้นมาจากภาคประชาชน รวมทั้งที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติมต่อประเด็นข้อจำกัดของกฎหมาย ดังนี้

  • ที่ประชุมเสนอแนะว่า อาจจะให้มีการซ้อนท้ายได้ แต่ควบคุมน้ำหนัก เช่น ไม่เกิน 20 กิโลกรัม หรือควบคุมอายุของผู้ซ้อนไม่เกิน 8 ปี เป็นต้น โดยการศึกษาหาข้อมูลทางวิชาการมารองรับ เช่น งานวิจัย ข้อมูลสถิติ ข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งควรเป็นบทบาทของชมรมฯ
  • อาจกำหนดเส้นทางการใช้จักรยานที่สามารถซ้อนท้ายได้เป็นการเฉพาะ เช่นในชุมชน ในเขตชนบท ในซอยเล็ก หรือในทางตรงข้าม อาจมีการกำหนดพื้นที่ที่ไม่ให้มีการซ้อนท้ายจักรยาน เช่น บนทางหลวง ถนนหลัก ถนนรอง ส่วนพื้นที่นอกนั้นสามารถดำเนินการได้
  1. ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมอ.

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ประกาศใช้ครั้งแรกเป็นมาตรฐานเลขที่ 844-2532 ใน
ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 106 ตอนที่ 16 เมษายน 2532 ซึ่งนานมากพอสมควรแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะแก้ไขปรับปรุงใหม่เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจักรยาน ได้มีการพัฒนาด้านคุณภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น โดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นหลัก

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 2 ข้อกำหนดสำหรับรถจักรยานที่ใช้ในการเดินทางและใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน รถจักรยานสำหรับเยาวชน รถจักรยานเสือภูเขา และรถจักรยานเพื่อการแข่งขัน กำหนดขึ้นมาใช้โดยดัดแปร(modified)จาก ISO 4210-2 : 2015 Cycles-Safety requirement for bicycle –Part 2 : Requirements for city and trekking , youth adult, mountain and racing bicycles

ดังนั้นเพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรม และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์รถจักรยานที่ทำขึ้นภายในประเทศให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพทั้งในสมรรถนะและความปลอดภัย รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค จึงได้ทำการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานเดิมโดยการยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานเฉพาะด้านความปลอดภัย นี้ขึ้นใหม่

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ เป็นเล่มหนึ่งในชุดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย ซึ่งมีดังนี้

มอก. 844 เล่ม 1-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 1 คำศัพท์และบทนิยาม

มอก. 844 เล่ม 2-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 2 ข้อกำหนดสำหรับรถจักรยานที่ใช้ในการเดินทางและใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน รถจักรยานสำหรับเยาวชน รถจักรยานเสือภูเขา และรถจักรยานเพื่อการแข่งขัน

มอก. 844 เล่ม 3-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 3 วิธีทดสอบทั่วไป

มอก. 844 เล่ม 4-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 4 วิธีทดสอบห้ามล้อ

มอก. 844 เล่ม 5-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 5 วิธีทดสอบชุดบังคับเลี้ยว

มอก. 844 เล่ม 6-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 6 วิธีทดสอบโครงรถและตะเกียบ

มอก. 844 เล่ม 7-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 7 วิธีทดสอบล้อรถและวงล้อ

มอก. 844 เล่ม 8-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 8 วิธีทดสอบบันไดและระบบขับขี่

มอก. 844 เล่ม 9-25xx          รถจักรยาน เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 9 วิธีทดสอบอานรถและเสาอานรถ

  1. ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย

สรุปจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละกลุ่ม

%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%ad-17

หมายเหตุ :

(1) ประกอบด้วยผู้ประกอบการ/ห้างร้าน ดังนี้ 1.1) บริษัทนำสยามไบซิเคิล 1.2) สยาม ไซเคิลอินเตอร์เนชั่นแนล 1.3) บริษัทเคซีไอ ไบซิเคิล แอนด์ พาร์ทส์ 1.4) บริษัทเอ.บี. ทอย 1.5) บริษัทที ซี ควิก จำกัด 1.6) ห้างหุ้นส่วนจักรยานสยาม 1.7) บริษัทมายจักรยาน จำกัด 1.8) บริษัทราชาไซเคิล 1.9) บริษัทเคเอชซี 1.10) บริษัทเอลเอ ไบซิเคิล

(2) ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 2.1) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 2.2) สำนักส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2.4) กรมการขนส่งทางบก 2.5) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2.6) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 2.7) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(3) ประกอบด้วยผู้บริโภค /ตัวแทนผู้ใช้จักรยาน ดังนี้ 3.1) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 3.2) มูลนิธิหมอชาวบ้าน 3.3) ชมรมจักรยานพับได้ประเทศไทย 3.4) ชมรมจักรยานรักษ์โลก(บางคูวัด) 3.5) ผู้แทนชุมชนบ้านม้าเกาะล่าง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร 3.6) ผู้แทนชุมชนสกุลทิพย์ เขตทวีวัฒนา 3.7) ผู้แทนชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ 3.8) ผู้แทนชุมชนหน้าวัดโคนอน และ 3.9) กลุ่มนักจักรยานสะพานบุญ

ทั้งนี้หลังการประชุมฯครั้งนี้ในกลุ่มที่ 3 จะได้สอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติมจากกลุ่มตัวอย่างชุมชนและชมรมต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

picture1

Comments

comments

Check Also

The 5th Thailand Bike and Walk Forum