Home / ข่าวและกิจกรรม / สสส. และ ชมรมฯ ปลุกกระแสการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ยุคสมัยการพัฒนาตามหลัก SDGs

สสส. และ ชมรมฯ ปลุกกระแสการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ยุคสมัยการพัฒนาตามหลัก SDGs

เวทีภาคเหนือ

สสส. และ ชมรมฯ ปลุกกระแสการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์ยุคสมัยการพัฒนาตามหลัก SDGs

ประเดิมเวทีแรกติดตามความก้าวหน้าของ 35 พื้นที่ภาคเหนือ พร้อมประกาศจุดยืนร่วมกันก้าวข้ามอุปสรรค และพร้อมต่อยอดสู่ชุมชนจักรยานอย่างยั่งยืน 

โครงการ “ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ” ปลุกกระแสการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานเป็นพาหนะคู่ใจ หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในปีแรก เดินหน้าสานต่อโครงการในปีที่ 2  

 “เวทีติดตามความก้าวหน้าของภาคี” เวทีแรกเชิญชวน 35 ชุมชนภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน นำคณะทำงานของแต่ละชุมชนเข้าร่วมเวทีเพื่อรายงานความก้าวหน้าที่ผ่านมาหลังดำเนินงานมาแล้ว 4-5 เดือน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของแต่ละพื้นที่ เติมองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อผลลัพธ์ในการดำเนินงานให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น

หลังจากโครงการ “ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ” เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 โดยได้คัดเลือก 99 ชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้โครงการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ชมรมฯ และสสส. ได้จัด “เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาพภาวะ”ระดับภูมิภาค ณ โรงแรมแม่ยมพาเลส จังหวัดแพร่ ปลายปีที่ผ่านมา

ภาพรวมของ 35 ชุมชน พบว่าการขับเคลื่อนผลักดัน “โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ” ทำให้ประชาชนตื่นตัว เกิดกระแสการกลับมาใช้จักรยานมากขึ้น มีกิจกรรมรณรงค์การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้คนในพื้นที่ ซึ่งเคยใช้จักรยานอยู่แล้วในอดีต หยิบจับจักรยานขึ้นมามากขึ้น  นอกจากนี้ยังเกิดการพัฒนาแนวร่วมภาคีเครือข่ายโดยคณะทำงานในพื้นที่หาภาคีมาร่วมขับเคลื่อนงานให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนทุกกลุ่มอายุ และที่สำคัญภาคียังได้สำรวจข้อมูลผู้ใช้จักรยานในชุมชนประเด็นหลักๆ เช่น แต่ละวันใช้จักรยานเพื่อการใดบ้าง ใช้มากน้อยแค่ไหน ระยะทางเท่าไร  ทำไมถึงใช้ และทำไมจึงไม่ใช้ เพื่อนำข้อมูลนี้มาใช้ในการออกแบบกิจกรรม สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงจะได้ทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆในพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีปฏิบัติของคนในชุมชน และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

จากเวทีภาคีได้ร่วมสะท้อนข้อจำกัดและอุปสรรคการดำเนินโครงการไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น อาทิ

  • การออกแบบกิจกรรมไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการออกแบบกิจกรรมรณรงค์ที่ไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์
  • ไม่นำข้อมูลชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หลายชุมชนมีการสำรวจข้อมูลการใช้จักรยานของคนในชุมชน แต่กลับไม่ได้นำข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น บางชุมชนสำรวจพบกว่าเด็กนักเรียนมีแนวโน้มจะใช้จักรยานมากขึ้น แต่กลับไม่ได้มาทำกิจกรรมรณรงค์กับเด็ก หรือสร้างพื้นที่ใช้จักรยานปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน
  • จากกระแสสู่ชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยนจากกิจกรรมการปั่นเพื่อสร้างกระแสมาเป็นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ในปัจจุบันคือ ทุกพื้นที่มีการทำกิจกรรมปั่นรณรงค์หรือปั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ในชุมชน แต่ส่วนใหญ่ประชาชนจะหยุดอยู่แค่ออกมาปั่นทำกิจกรรม ไม่ได้มีการนำจักรยานออกมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน สิ่งท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การปั่นเพื่อสร้างกระแสต่อยอดมาสู่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้
  • สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้จักรยานความมั่นใจในการใช้รถใช้ถนนเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันหลายชุมชนท้องถนนยังไม่มีความปลอดภัย ถนนเส้นหลักมีรถจำนวนมากและวิ่งเร็ว ผู้ร่วมท้องถนนไม่เห็นความสำคัญของการใช้รถใช้ถนนร่วมกับจักรยาน ทำให้ผู้ใช้จักรยานไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย

ชุมชนเด่น  ท้องถิ่นมุ่งมั่น ของภาคเหนือ เช่น  

อบต. กกแรต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย

ทำงานเชิงรุก ปลูกจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชน มีมติร่วมกัน “ห้ามนักเรียนนำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน”

ชุมชนกกแรตเป็นชุมชนที่มี สสส. และชมรมฯ ที่ทำงานรณรงค์อย่างเข้มแข็งโดยมีนายสุวัฒน์ สังข์ทอง ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพตำบลกกแรต เป็นผู้นำการขับเคลื่อนเอง  จึงสามารถประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือได้ โดยนายสุวัฒน์กล่าวว่า ชุมชนกกแรตได้ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนเป็นอับดับแรก โดยเรามีโรงเรียนในพื้นที่ 3 แห่ง คณะทำงานชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ จึงสามารถเข้าไปผลักดันจนโรงเรียนทุกแห่งออกกฎ“ห้ามไม่ให้นักเรียนนำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน”ซึ่งเป็นมติจากครูและผู้ปกครอง โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยเพราะมีนักเรียนเกิดอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์จำนวนมาก ทางชมรมฯได้พยายามชี้ให้ครู ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กนักเรียนเห็นถึงข้อเสียของการใช้จักรยานยนต์ และตระหนักถึงข้อดีของการใช้จักรยาน และการรณรงค์ขั้นต่อไปคือการเดิน หรือปั่นจักรยานมาโรงเรียน

เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

วันพุธ วันจักรยาน” สร้างนวัตกรรมทางสังคม

ทม.แกนฯ โดดเด่นเรื่องการสร้างนวัตกรรมทางสังคม และการทำกิจกรรมรณรงค์อย่างจริงจังโดย น.ส.เยาวเรส
กิติ
ลังการ์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา เล่าถึงแนวคิดในการรณรงค์ว่า “ทางเทศบาลเมืองแกน ได้สำรวจความต้องการใช้จักรยานในชุมชน และดำเนินการจัดซื้อจักรยานมือสองจาก อ.แม่สอด นำมาให้กับประชาชนได้ผ่อนซื้อในราคาถูก โดยได้แจกจ่ายไปแล้วกว่า 80 คัน และยังมีความต้องการอีกกว่า200 คัน โดยก่อนส่งมอบจักรยานมือสองให้กับประชาชน เราจะมีการให้ความรู้ผ่านคลินิกจักรยาน สอนการซ่อม และการดูแลจักรยานอีกด้วยค่ะ”นอกจากนี้นายกเทศมนตรียังได้ประกาศนโยบาย “วันพุธ วันจักรยาน” ประกาศให้ทุกวันพุธเป็นวันใช้จักรยาน 100 % โดยประกาศให้พนักงานทุกคนของเทศบาลและโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,000 คน  ใช้จักรยานในการเดินทางมาทำงานทุกวันพุธ  รวมไปถึงเชิญชวนผู้อยู่นอกพื้นที่เทศบาลปั่นจักรยานทุกวันพุธทั่วทั้งชุมชนด้วยเช่นกัน

เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

การใช้จักรยานสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่

ตำบลหาดเสี้ยวเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม มีถนนภายในชุมชนที่เหมาะสมและเอื้อต่อการใช้จักรยาน โดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านหาดสูง “นายเติมกฤษพงษ์ สุนทรพงษ์บุญนาค” เล่าว่า “เทศบาลตำบลหาดเสี้ยวทำโครงการชุมชนจักรยานบ้านหาดสูงเพื่อสุขภาวะ เพื่อเป็นชุมชนนำร่องในการส่งเสริมให้เป็นชุมชนตัวอย่างแก่คนในชุมชนอื่นคณะทำงานชุมชนตำบลหาดเสี้ยวเรามีหลักคิดที่เข้มแข็งหลายเรื่อง ที่เอื้อให้เกิดชุมชนจักรยานเพื่อ
สุขภาวะ โดยเฉพาะเรื่องเมืองคาร์บอนต่ำ รณรงค์ลดการเกิดคาร์บอนในพื้นที่ ดังนั้นการรณรงค์ใช้จักรยานจึงสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของพื้นที่อย่างกลมกลืน  
จุดเด่นของชุมชนบ้านหาดสูงคือ ผู้สูงอายุเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้จักรยานในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ทั้งการเดินทางไปร่วมกิจกรรมในชุมชน  การออกกำลังกายและการเดินทางทั่วไป”

นี่เป็นเพียงบางส่วนของการสรุปผลการดำเนินงานของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืน ของสสส. และ ชมรมฯ โดยหลังจากนี้จะมีการจัดเวทีติดตามความก้าวหน้าโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปีที่ 2 ในภูมิภาคอื่นๆทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทางทีมงานจะได้นำผลการดำเนินงานมาสรุปและผลักดันให้เกิดแนวทางการใช้จักรยานอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

Comments

comments

Check Also

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 5 ชุมชนที่เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน