Home / ข้อมูลความรู้ / บทเรียนการขี่จักรยานในเมือง (ตอน ๑)

บทเรียนการขี่จักรยานในเมือง (ตอน ๑)

บทเรียนการขี่จักรยานในเมือง (ตอน ๑)

โดย กวิน ชุติมา

โดยทั่วไปแล้ว การขี่จักรยานเป็นสิ่งที่รื่นรมย์ ไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายคนคิด (คนที่พูดออกมาว่าอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้มักจะเป็นคนที่ไม่เคยมาขี่จริง) แต่ก็แน่นอนว่าไม่ได้ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง อาจจะมีสถานการณ์ที่ไม่รื่นรมย์หรือน่ากลัวเกิดขึ้น  สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราขี่จักรยานในเมืองได้อย่างสะดวกและปลอดภัยคือ การเรียนรู้ที่จะใช้ความระมัดระวังและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้เหมาะสมที่สุดไว้ก่อนล่วงหน้า ลดโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ที่ไม่รื่นรมย์หรือน่ากลัวลงให้น้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้  ความรู้เช่นนี้ส่วนหนึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของตนเอง อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการถ่ายทอดของผู้ใช้จักรยานคนอื่นที่เคยประสบกับสถานการณ์เช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าด้วยปากหรือการเขียน

ในบทความชุดนี้ ผู้เรียบเรียงจะนำความรู้จากประสบการณ์จริงของผู้ใช้จักรยานหลายๆคนมาเล่าสู่กันฟัง โดยผู้เรียบเรียงก็อาจจะใส่ประสบการณ์ส่วนตัวลงไปเสริมด้วยบ้างตามที่เห็นว่าน่าจะช่วยให้บทเรียนนั้นอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องย้ำว่าความรู้หรือบทเรียนเหล่านี้คงไม่สมบูรณ์ไปทั้งหมด หรือค้ำประกันได้ว่า ทำตามแล้วจะไม่เกิดปัญหาใดๆ เพราะสถานการณ์จริงย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณด้วย และผู้เรียบเรียงยินดีรับฟังความเห็นของผู้อ่าน-ผู้ใช้จักรยานทุกท่าน ซึ่งน่าจะทำให้กลายเป็นบทเรียนและคำแนะนำที่ “รุ่มรวย” ยิ่งขึ้น

ตอนที่ ๑: บทเรียนจากลอนดอน(๑)

บทเรียนในตอนที่ ๑ นี้มาจากผู้ใช้จักรยานคนหนึ่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีระบบการจราจรที่เคลื่อนไปทางซ้ายของถนนเช่นเดียวกับประเทศไทย เป็นกรณีที่ผู้ใช้จักรยานบางคนอาจจะเคยประสบมาแล้วและพบว่าคล้ายคลึงกันมาก  เขาเขียนในแบบเรื่องเล่าเพื่อให้เห็นภาพชัด

รถตู้สีขาวกับผมที่กำลังจะขี่ออกไปทางหลัก

“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผมขี่จักรยานอยู่ในช่องทางจักรยาน(ซึ่งอยู่ชิดซ้ายติดกับทางเท้า ซึ่งก็จะเป็นสถานการณ์เดียวกับการขี่ชิดซ้ายติดทางเท้าหรือขอบทางหรือบนไหล่ถนนเมื่อไม่มีทางจักรยาน) ผมสังเกตเห็นว่ามีรถยนต์จอดอยู่ข้างหน้าปิดขวางทางจักรยาน(หรือช่องทางจราจรช่องซ้ายสุด)เอาไว้ ทำให้ผมจำเป็นต้องแซงด้วยการขี่ออกไปทางขวามาอยู่บนทางหลักหรือในช่องที่สองของถนน ขณะที่ผมกำลังจะเปลี่ยนทิศทางที่ขี่เหพารถออกไป ผมคิดเอาเองว่าคนขับรถตู้สีขาวที่วิ่งตามมาในช่องทางหลัก(หรือช่องที่สอง) จะให้ทางผมคือยอมให้ผมขี่แซงรถที่จอดอยู่เข้าไปใช้ทางหลัก(หรือช่องที่สอง)ได้ แต่คนขับรถไม่คิดเช่นนั้น เขาอาจจะคิดว่าจักรยานเป็นพาหนะเล็กๆ ไม่คู่ควรกับถนน หรือต้องยอมให้เขาไปก่อนเพราะรถเขาใหญ่กว่า เขาจึงไม่ลดความเร็วและขับมาเต็มช่องทางไม่เบี่ยงหลบเปิดช่องทางให้ผม โชคดีที่ผมเหลือบไปสังเกตเห็นเสียก่อนและตระหนักว่าผมไม่อาจจะขี่ออกไปได้โดยไม่ถูกชน จึงต้องเบรกตัวโก่งมาหยุดห่างจากรถที่จอดอยู่นิดเดียว”

คำแนะนำข้อแรกและน่าจะเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดที่คุณจะได้รับจากทุกคนต่อสถานการณ์เช่นนั้นก็คือ อย่าทึกทักเอาเอง เพียงเพราะคุณคิดว่าคนขับน่าจะรู้ว่าคุณกำลังจะขี่ออกไปและปล่อยให้คุณทำ ไม่ได้แปลว่าเขาจะทำเช่นนั้นเสมอไป

คำแนะนำข้อที่ ๒ คือพยายามมองไปข้างหน้าให้ไกลและสังเกตดูให้รู้ล่วงหน้าแต่เนินๆ ว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างที่ขวางทางเราอยู่ ที่ทำให้คุณต้องเปลี่ยนแนวการขี่ (ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะที่จอดอยู่ หลุม ตะแกรงท่อระบายน้ำ คนที่ลงมายืนคอยรถประจำทางหรือเรียกรถแท็กซี่ ฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำให้ต้องขี่ออกไปอยู่ในช่องทางจราจรที่ห่างจากขอบถนนออกไป แล้วก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางออกไปอยู่ในแนวที่จะทำให้คุณขี่ผ่านอุปสรรคนั้นไปได้เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนจะไปถึงอุปสรรคนั้นๆ ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเนื่องจากจักรยานไม่มีไฟเลี้ยว คุณก็ควรจะให้สัญญาณมือบ่งบอกความตั้งใจของคุณที่จะไปใช้ช่องทางจราจรนั้นอย่างชัดเจน การเอี้ยวคอมองกลับไปที่รถและคนขับรถคันนั้นก็ช่วยได้มาก เพราะเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บอกให้คนขับรถรู้ว่าคุณจะไม่ขี่ตรงไปตามแนวเดิมที่คุณขี่อยู่แล้ว แต่อยากจะเปลี่ยนทางมาอยู่ในช่องทางที่เขาใช้อยู่ในขณะนั้น

ดังนั้นหากคุณขี่จักรยานไปตามถนนที่มียานพาหนะจอดหรือมีอุปสรรคอื่นเป็นระยะๆ ไม่ห่างกันนัก วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ อย่าขี่วกเข้าวกออก(คือตรงที่ไม่มีรถจอดหรือไม่มีอุปสรรคก็เหเข้าไปขี่ริมทางเท้า พอเจอรถจอดหรืออุปสรรคก็เหออกไปขี่ในช่องทางที่สอง) เพราะคุณจะมีอาการ “ผลุบๆโผล่ๆ” เป็นนินจาในสายตาคนขับรถที่ตามมาข้างหลัง เดี๋ยวเห็นเดี๋ยวหาย จนน่ารำคาญและกะไม่ถูกว่าคุณจะเอาอย่างไร  จงขี่ในช่องทางที่สองโดยตลอด จนกว่ารถที่จอดหรืออุปสรรคจะหมดไปหรืออยู่ห่างๆกัน แน่นอนว่าต้องขี่ให้ชิดไปทางซ้ายของช่องทาง รถที่ตามมาจะเห็นคุณได้ชัดและรู้ชัดว่าคุณจะขี่ไปในแนวใดตลอดเวลา เขาจะมีเวลาเตรียมตัวและแซงคุณไปอย่างสบายและปลอดภัยทั้งคุณและตัวเขาเอง

ดังนั้นอย่าเป็นนินจาเลย มาเป็นซามูไรกันดีกว่า

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น