Home / ข้อมูลความรู้ / เดิน วิธีง่ายที่สุดที่จะมีชีวิตยืนยาว

เดิน วิธีง่ายที่สุดที่จะมีชีวิตยืนยาว

เดิน วิธีง่ายที่สุดที่จะมีชีวิตยืนยาว

เรียบเรียงโดย กวิน ชุติมา

หลายคนอาจจะประจักษ์ถึงผลดีของการเดินต่อสุขภาพด้วยตนเองมาแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ข้อมูลข้างล่างนี้เป็นการสรุปรวบรวมผลการศึกษาวิจัยถึงผลดีของการเดินต่อสุขภาพถึง ๒๖ ชิ้น บางชิ้นทำกับคนหลายหมื่นคน หลายชิ้นใช้เวลาศึกษานานหลายปี ทำให้ผลการวิเคราะห์มีความน่าเชื่อถือสูง แม้ผลต่อสุขภาพจะไม่ได้อยู่บนเกณฑ์ระยะทาง เวลา และจำนวนครั้งของการเดินที่เท่ากัน แต่ก็สามารถยืนยันผลดีของการเดินได้แน่ชัดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ผู้เรียบเรียงได้นำเอาการอ้างอิงถึงรายงานการศึกษาวิจัยมาใส่ไว้ด้วยในตอนท้ายให้ท่านผู้อ่านที่สนใจไปติดตามศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดได้ หวังว่ารายงานชิ้นนี้คงช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเดินกันมากขึ้นจนเป็นกิจวัตรสำหรับการไปไหนมาไหนในระยะสั้น และอาจจะนำไปเผยแพร่กับคนอื่นๆ เพื่อชักชวนให้มาเดินกันมากขึ้นด้วย – กวิน ชุติมา ผู้เรียบเรียง

คุณรู้หรือไม่ว่าทุกๆนาทีที่คุณเดิน คุณจะยืดอายุของตนเองออกไปอีก 1.5-2 นาที  นอกจากนั้นการศึกษาเป็นจำนวนมากยังแสดงให้เห็นว่าคนที่เดินเป็นประจำมีอายุยืนยาวกว่า น้ำหนักน้อยกว่า ความดันเลือดต่ำกว่า และมีสุขภาพโดยรวมดีกว่าคนที่ไม่ได้เดินเป็นประจำ

พร้อมหรือยังครับ ประการแรก ถ้าคุณอยากจะเพิ่มปริมาณการเดินของตนเองก็หาเครื่องวัดจำนวนก้าวที่เดิน (pedometer)มาติดเอวสักเครื่อง เพราะข้อมูลจากการศึกษา ๒๖ ชิ้นบ่งชี้ว่า เพียงแต่ทำง่ายๆ แค่นี้ก็จะเพิ่มกิจกรรมทางกายของคุณไปแล้วมากกว่าวันละ ๒,๑๐๐ ก้าว[1]

 

มาลองดูประโยชน์ของการเดินต่อสุขภาพ ๑๐ ประการกันให้จะๆ มากขึ้นดีกว่า

ประการแรกการเดินยืดอายุของคุณออกไป การศึกษาคน ๒๗,๗๓๘ คนอายุ ๔๐ ถึง ๗๙ ปีเป็นเวลา ๑๓ ปีได้ผลออกมาในปี ๒๕๕๔[2] ว่า การเดินวันละหนึ่งชั่วโมงขึ้นไปทำให้ชีวิตยืนยาวออกไปอย่างสำคัญ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะอายุยืนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในชั่วชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย  รายงานการศึกษาชิ้นนี้สรุปว่าการเพิ่มเวลาที่ใช้ในการเดินในระดับประชากรจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประชาชน

ประการที่สองการเดินช่วยป้องกันเบาหวาน  การศึกษากลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวปกติและมีน้ำหนักเกินในปี ๒๕๔๕[3] เปิดเผยว่าการเดินเพียงวันละ ๓๐ นาทีสามารถช่วยป้องกันโรคได้หลายชนิด เช่น เบาหวานชนิดที่ ๒  แต่ถ้าคุณเป็นเบาหวานอยู่แล้ว การเดินก็ช่วยคุณได้อีกเช่นกัน การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี ๒๕๕๐[4] พบว่าการเดินวันละอย่างน้อย ๑.๕ กิโลเมตรจะลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุทุกอย่างลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง

ประการที่สามการเดินทำให้ความคิดแหลมคม การศึกษาผู้สูงอายุ ๒๙๙ คนเป็นเวลา ๙ ปี[5] แสดงให้เห็นว่าการเดิน ๑๐-๑๕ กิโลเมตรต่อสัปดาห์ช่วยเพิ่มสมองสีเทา ซึ่งจะไปช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องทนทุกข์กับปัญหาการรับรู้ลดลง หรือการมีปัญหากับการมีสมาธิ ความทรงจำ และความคิด  ยิ่งกว่านั้นการเดินสัปดาห์ละ ๘ กิโลเมตรสามารถช่วยปกป้อง[6]ส่วนที่ทำหน้าที่เรียนรู้และเก็บความทรงจำในสมองของผู้ที่ป่วยอยู่แล้วจากโรคอัลไซเมอร์หรือปัญหาการรับรู้ลดลงอย่างอ่อนๆ และทำให้การสูญเสียความทรงจำเกิดขึ้นช้าลง

ประการที่สี่การเดินช่วยลดความดันโลหิตมีการศึกษา[7]พบว่าการเดินเพียงวันละ ๓๐ นาที สัปดาห์ละ ๓ ถึง ๕ วัน สามารถลดความดันโลหิตลงได้อย่างสำคัญ แม้ว่าจะแบ่งการเดิน ๓๐ นาทีในแต่ละวันนั้นออกเป็น ๓ ช่วงๆละ ๑๐ นาทีก็จะมีผลเช่นเดียวกัน

ประการที่ห้าการเดินมีผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพของกระดูกการศึกษาเมื่อปี ๒๕๓๗ [8]บ่งชี้ว่า การเดินเพียงวันละ ๑.๕ กิโลเมตรเท่านั้นก็สามารถเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกของผู้หญิงในวัยหลังหมดประจำเดือนแล้วได้ รวมทั้งลดอัตราการสูญเสียกระดูกที่ขาด้วย  ดร. คราลล์ หัวหน้าคณะที่ทำการศึกษาชิ้นนี้บอกหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ส[9] ว่า คนที่เดินสม่ำเสมอจะเกิดสภาพความหนาแน่นของกระดูกต่ำมากช้ากว่าคนทั่วไป ๔ ถึง ๗ ปี

ประการที่หกการเดินลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน การศึกษาศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกากว่า ๑๑,๐๐๐ คนที่มีอายุเฉลี่ย ๕๘ ปี [10]พบว่า การเดินสัปดาห์ละอย่างน้อย ๒๐ กิโลเมตรช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง

ประการที่เจ็ดการเดินทำให้อารมณ์ของคุณดีขึ้น การวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารเวชศาสตร์การกีฬาของอังกฤษ[11]เปิดเผยว่าถ้าคุณรู้สึกห่อเหี่ยว การเดินจะเป็นวิธีแก้ที่ง่ายและรวดเร็ว  การเดินบนเครื่องออกกำลังกายแบบสายพานเพียง ๓๐ นาทีลดความรู้สึกตึงเครียดและหดหู่ลง จริงๆแล้ว การศึกษานี้พบว่าการเดินทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้เร็วกว่าการใช้ยากดประสาทเสียอีก ทั้งมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามากด้วย  นอกจากนั้นการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เทเยอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ลองบีช[12] ทำกับผู้เข้าร่วม ๓๗ คนเป็นเวลา ๒๐ วัน ก็ให้ผลไปในทางเดียวกันว่ายิ่งเดินมากเท่าใด อารมณ์และพลังงานของคนก็จะดีขึ้นเท่านั้น

ประการที่แปด การเดินช่วยเผาคาลอรี่ การเดินเพียงวันละ ๒๐ นาทีจะช่วยเผาไขมันไปปีละ ๗ ปอนด์ ผลจะยิ่งมากขึ้นหากคุณเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารบางอย่างควบคู่ได้ด้วย[13]

ประการที่เก้าการเดินช่วยแก้โรคนอนไม่หลับ  คุณมีปัญหานอนไม่หลับในเวลากลางคืนหรือไม่ ลองเดินเร็วๆสัก ๔๕ นาทีในตอนเช้าสัปดาห์ละ ๕ วัน คุณจะนอนหลับได้ดีขึ้นอย่างสำคัญทีเดียว  นี่เป็นผลของการวิจัยที่ดำเนินงานโดยศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรดฮัทชินสัน[14]ในเมืองซีแอทเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา กับผู้หญิงอายุ ๕๐ ถึง ๗๔ ปี  แต่การเดินในตอนเย็นบางครั้งกลับให้ผลในทางตรงกันข้าม ดังนั้นหากจะใช้การเดินมาแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ก็ต้องระวังว่าคุณเดินเวลาใดและแบบแผนการหลับของคุณเป็นอย่างไร

ประการที่สิบการเดินดีกับหัวใจ การวิเคราะห์ผลจากการศึกษาสุขภาพของนางพยาบาลที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า ๗๒,๐๐๐ คนที่มีอายุระหว่าง ๔๐ ถึง ๖๕ ปี[15]พบว่า ผู้หญิงที่เดินอย่างเร็วอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมงลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจลงถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ แม้ว่าในแต่ละปี อาการหัวใจล้มเหลวจะฆ่าชาวอเมริกันที่เป็นหญิงมากกว่าชาย[16]  ประโยชน์ของการเดินก็ไม่จำกัดอยู่กับเพศใดเพศหนึ่ง เพราะมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเดินสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อหัวใจอุดตันลงได้ถึงครึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุระหว่าง ๗๑ ถึง ๙๓ ปี[17]

สนใจรายละเอียดของการศึกษาวิจัยที่อ้างอิงข้างต้น เข้าไปอ่านได้ที่



[1] Pedometers help people count steps to get healthy. Stanford Report, November 28, 2007 http://news.stanford.edu/news/2007/november28/med-pedometer-112807.html

[2] Impact of walking on life expectancy and lifetime medical expenditure: the Ohsaki Cohort Study http://bmjopen.bmj.com/content/1/2/bmjopen-2011-000240.full

[3] Physical Activity, Obesity, and the Incidence of Type 2 Diabetes in a High-Risk Population http://aje.oxfordjournals.org/content/158/7/669.abstract

[4] Walking Provides Strong Protection from Cardiovascular Disease Mortality in Older Adults with Diabetes http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2542980/

[5] Physical activity predicts gray matter volume in late adulthood http://www.neurology.org/content/early/2010/10/13/WNL.0b013e3181f88359.abstract

[8] Walking is related to bone density and rates of bone loss. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8304358

[10] Physical Activity and Stroke Incidence http://stroke.ahajournals.org/content/29/10/2049.short

[11] Acute effects of beta blockade and exercise on mood and anxiety. http://bjsm.bmj.com/content/30/3/238.abstract

[12] Acute effects of beta blockade and exercise on mood and anxiety. http://www.csulb.edu/misc/inside/archives/vol_58_no_4/1.htm

[13] Can I lose weight if my only exercise is walking? http://www.mayoclinic.com/health/walking/AN01773

[15] A Prospective Study of Walking as Compared with Vigorous Exercise in the Prevention of Coronary Heart Disease in Women http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJM199908263410904#t=articleResults

[17] Effects of Walking on Coronary Heart Disease in Elderly Men http://circ.ahajournals.org/content/100/1/9.full

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น