แผนจักรยานแห่งชาติของเยอรมันจะเพิ่มการเดินทางด้วยจักรยานเป็นร้อยละ ๑๕
กวิน ชุติมา เรียบเรียงจาก 15% of Trips By Bike: Germany’s National Cycling Plan Under the Microscope ใน ECF Newsletter, 21 September 2012
“เราจะให้คนทั้งประเทศหันมาใช้จักรยานได้อย่างไร” พวกเราหลายคนอาจมีคำถามนี้อยู่ในใจ แน่นอนว่าก็ต้องมีแผน ในเมื่อประเทศไทยของเรายังไม่มี “แผนจักรยานแห่งชาติ” ก็เลยน่าสนใจว่าประเทศอื่นเขามีไหม ถ้ามี แผนนั้นเป็นอย่างไร ก็เลยจะขอเอาแผนจักรยานแห่งชาติของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรปคือเยอรมัน ซึ่งเพิ่งเปิดเผยยุทธศาสตร์ของแผนฉบับใหม่ออกมาเมื่อต้นเดือนนี้เองมาเล่าสู่กันฟัง โดยเรียบเรียงเก็บความจากบทวิเคราะห์ของคุณเฟเบียน คึสเตอร์ เจ้าหน้าที่นโยบายอาวุโสของสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญนโยบายจักรยานของยุโรป เขาเคยทำงานให้สมาชิกสภายุโรปของเยอรมันและสถานทูตเยอรมันด้วย จึงรู้ไส้สนกลในของทั้งสหภาพยุโรปและรัฐบาลเยอรมันเป็นอย่างดี บทความนี้ยังเป็นการปูพื้นต้อนรับการเดินทางมาเยือนไทยของ ดร. เบอร์นาร์ด เอ็นซิงค์ เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป ในระหว่างวันที่ ๔-๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ อีกด้วย
คุณเฟเบียน ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเขาอยากรู้ว่าประเทศของตนทำนโยบายออกมา “ถูกต้องไหม?” และได้เรียนรู้อะไรได้บ้างจากความผิดพลาดในอดีต เขาชี้ว่า แผนจักรยานแห่งชาติไม่ใช่ของใหม่สำหรับเยอรมัน สิบปีที่ผ่านมาคือในช่วงปี ๒๐๐๒-๒๐๑๒ เยอรมันก็มียุทธศาสตร์แห่งชาติสำหรับจักรยานแล้ว แต่เมื่อเวลาสิบปีผ่านไปก็ต้องมาปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย มีวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานใหม่ๆ
แก่นแกนของแผนแม่บทฉบับใหม่ที่จะใช้ในช่วงปี ๒๐๑๒ ถึง ๒๐๒๐ นี้ก็คือการทำให้คนใช้จักรยานมากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนการเดินทางด้วยจักรยานเป็นร้อยละ ๑๕ จากการเดินทางทั้งหมดของประเทศ คือร้อยละ ๑๖ ในเมืองและร้อยละ ๑๓ ในชนบท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปี ๒๐๐๘ แล้ว ในปีนั้น สัดส่วนการใช้จักรยานในการเดินทางทั้งหมดคือร้อยละ ๑๐ เพิ่มจากร้อยละ ๙ ในปี ๒๐๐๒
ตัวเลขการเพิ่มจำนวนการเดินทางด้วยจักรยานในเยอรมันและสหภาพยุโรปนี้น่าสนใจ ข่าวจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๐๑๒ เปิดเผยว่า ยอดการขายรถยนต์ใหม่ในยุโรปลดลงโดยตลอดในช่วงห้าปีที่ผ่านมาและมีการคาดการณ์ด้วยว่าจะลดลงอีกต่อไปในห้าปีข้างหน้า น่าคิดว่าแม้ข่าวจะไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการลดลงนี้ไว้ แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากการที่ชาวยุโรปลดการใช้รถยนต์ลง หันมาใช้จักรยานมากขึ้น
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแผนแม่บทฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมประเด็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยาน รวมทั้งแผนการจราจรขนส่งแบบบูรณาการ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยาน การสื่อสารคมนาคม ความปลอดภัยของท้องถนน การให้การศึกษา การท่องเที่ยว และการเคลื่อนที่อิเล็คโทรนิค(e-mobility) คุณเฟเบี้ยนชี้ว่าแผนนี้ให้ภาพสถานการณ์ปัจจุบันและ “ความฝันของยุโรป” ไว้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมกับรายการยาวเหยียดของข้อเสนอแนะที่รัฐบาลเยอรมันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสหพันธ์รัฐ ระดับภาค ลงไปจนถึงระดับท้องถิ่น จะเอาไปปฏิบัติ
ที่สำคัญคือแผนนี้ดูสมจริงสมจังเมื่อมาพิจารณาในด้านการเงิน โดยเชื่อว่าเมืองและนครต่างๆ ควรใช้งบประมาณของตนราวปีละ ๘-๑๙ ยูโร(หรือราว ๔๐๐-๑,๐๐๐ บาท)ต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นหนึ่งคน ไปทำโครงสร้างพื้นฐาน ที่จอดจักรยาน การสื่อสารคมนาคม และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาและขนาดของเมืองนั้นๆ (ไม่รู้ว่าจำนวนนี้จะฟังดูเยอะหรือไม่ แต่คุณเฟเบี้ยนชี้ว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ทุกระดับใช้เงินรวมกันคิดเป็น ๒๕ ยูโร (หรือราว ๑,๒๕๐ บาท) ต่อชาวดัทช์แต่ละคนทีเดียว)
แต่แผนนี้ก็มีจุดอ่อนหรือช่องโหว่รูเบ้อเริ่ม นั่นคือใครจะเป็นคนออกเงินนี้
รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมันยืนยันว่าจะใช้งบประมาณของสหพันธรัฐไปทำโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานตามถนนของสหพันธรัฐเท่านั้น ซึ่งงบประมาณตรงนี้ถูกตัดจาก ๑๐๐ ล้านยูโรเมื่อสามปีก่อนลงไปเหลือเพียง ๗๓ ล้านยูโรในปีนี้(๒๐๑๒) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือรัฐบาลเยอรมันลงทุนน้อยกว่าปีละ ๑ ยูโรต่อประชากรแต่ละคน และงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับทำทางจักรยานตามถนนของสหพันธรัฐจะลดลงไปอีกเหลือเพียง ๖๐ ล้านยูโรในปี ๒๐๑๓ จึงเกิดคำถามว่าแท้จริงแล้ว รัฐบาลเยอรมันควรจะใช้เงินเท่าใด ถ้าเยอรมันจะทำตามข้อเสนอแนะของสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป คือใช้ร้อยละ ๑๐ ของงบประมาณที่จัดไว้ให้ทำโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทั้งหมดมาทำโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยาน รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมันจะต้องลงทุนประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านยูโร
ทีนี้มาดูข้อดีข้อเสีย จุดแข็งจุดอ่อน ของแผนแม่บทนี้กัน เริ่มต้นด้วยข้อดีก่อน
· แผนนี้บูรณาการการใช้จักรยานเข้าไปในระบบขนส่ง รวมทั้งในด้านโครงสร้างองค์กรสำหรับการบริหารจัดการ
· มีการรับคนมาเป็นผู้ประสานงานแห่งชาติด้านการใช้จักรยาน และตั้ง “คณะทำงานระหว่างกระทรวง” มาประสานงานมาตรการการใช้จักรยานต่างๆ
· มีการจัด “ชุดมาตรการเริ่มต้น” ให้เมืองและนครใหญ่ที่สัดส่วนการใช้จักรยานในการเดินทางยังน้อยกว่าร้อยละ ๑๐
· มีการดำเนินงานโรงเรียนจักรยานที่ประสบความสำเร็จมาแล้วต่อไปให้เป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลในระดับท้องถิ่น
· พัฒนาฐานข้อมูลการวิจัย ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานในเรื่องความปลอดภัยของท้องถนน
· มีการปรับปรุงที่จอดจักรยานตามสถานีรถไฟ
· มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบเกี่ยวกับการใช้จักรยาน
· มีการริเริ่มปรับปรุงการออกแบบและอุปกรณ์รถยนต์ให้ลดอุบัติเหตุลง
ทีนี้ก็มาถึงจุดอ่อน ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการใช้จักรยานของเยอรมันฉบับนี้อ่อนในด้านการปรับปรุงความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการขับรถเร็วยังเป็นเรื่องใหญ่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่กระทรวงคมนาคมเยอรมันเองเป็นผู้แต่งตั้งได้ให้คำแนะนำนายรัมซาวเออร์ รัฐมนตรีคมนาคมเยอรมัน ให้พิสูจน์ให้เห็นว่าการจำกัดความเร็วในเขตในของเมืองที่ ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นยังเหมาะสมหรือไม่ สมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปได้ผลักดันมานานแล้วให้มีการระบุความเร็วสูงสุด ๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตที่มีประชากรหนาแน่นไว้ในกฎหมายทางหลวง และรัฐสภายุโรปก็สนับสนุนข้อเสนอนี้ในปี ๒๐๑๑ โชคร้ายที่แผนแม่บทฉบับใหม่เพียงแต่แนะนำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นพิจารณาใช้ความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะประกาศให้มีเขตจำกัดความเร็ว ๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
เมื่อพูดถึงแผนขนส่งแบบบูรณาการ คุณเฟเบี้ยนชี้ว่า รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมันจำเป็นต้องพิจารณานโยบายลดหย่อนภาษีให้กับรถยนต์ของบริษัทใหม่ รายงานการศึกษาของคณะกรรมการยุโรปที่ตีพิมพ์ในปี ๒๐๐๙ พบว่าร้อยละ ๖๐ ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในปี ๒๐๐๘ ในเยอรมันเป็นรถของบริษัท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปยุโรปคือร้อยละ ๕๐ ทำให้เฉพาะเยอรมันประเทศเดียว รัฐบาลสูญเสียรายได้โดยตรงไปจากการลดหย่อนภาษีนี้ราว ๒๒,๐๐๐ ล้านยูโร
คณะกรรมการยุโรปสรุปไว้ในเอกสารดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่แนบมาพร้อมกับสมุดปกขาวด้านการขนส่งประจำปี ๒๐๑๑ ว่าสถานการณ์ในรัฐสมาชิกส่วนใหญ่คือระบบภาษีสำหรับบริษัทได้ทำให้เกิดการส่งเสริมการใช้รถยนต์อย่างเทียมๆ จนเกินไปกว่าผลประโยชน์ที่จะได้
ในระดับเมืองแล้ว คำถามที่สำคัญคือสภาพภูมิประเทศของเขตเมืองจะรองรับเป้าหมายที่จะให้มีการเพิ่มจำนวนการใช้จักรยานถึงร้อยละ ๕๐ ในเวลาน้อยกว่าสิบปีได้อย่างไร ถ้ามองเพื่อนบ้านของเยอรมันบางประเทศ นั่นคือเนเธอร์แลนด์กับเดนมาร์ค คำตอบก็ชัดใสแจ๋วเหมือนกระจก นั่นคือผู้ใช้จักรยานในเยอรมันต้องการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานที่ดีกว่านี้ ในหลายๆกรณีนี่หมายถึงการต้องมาจัดสรรการใช้พื้นที่ในเขตเมืองที่มีจำกัดกันเสียใหม่ แต่แผนใหม่นี้ไม่มีเนื้อหาใดๆในทำนองนี้อยู่เลย
แต่เมื่อเอาภาพรวมมาพิจารณาแล้ว คุณเฟเบี้ยนฟันธงไปเลยว่า แผนแม่บทฉบับนี้ก้าวหน้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในหลายประเทศของยุโรป แผนมีรายการยาวเหยียดของมาตรการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งถ้าเอามาปฏิบัติจริง จะทำให้การใช้จักรยานในเมืองและนครต่างๆของเยอรมันฟื้นฟูกลับมารุ่งเรืองได้อีก แม้จะต้องทำงานกันอีกมากทีเดียว ส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมันโยนลูกไปให้รัฐบาลในระดับท้องถิ่นและระดับภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยาน และแม้ว่าแผนนี้จะมี “สิ่งที่มีก็จะดี” เต็มไปหมด แต่ก็ขาดไปในด้าน “สิ่งที่ต้องมี” แผนนี้ไม่ได้ตอบสนองจริงๆ ต่อความจำเป็นที่จะต้องทำให้การจราจรและการเดินทางที่ใช้เครื่องยนต์ลดความวุ่นวายลง
ท้ายสุด คุณเฟเบี้ยนชี้ว่าเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าแผนนี้จะทำให้คนในเยอรมันออกมาใช้จักรยานกันมากขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือ ADFC สมาชิกของสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปในเยอรมัน จะทำให้ดีที่สุดให้ทุกคนหันมาใช้จักรยาน
อยากเห็นแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการใช้จักรยานของเยอรมัน เข้าไปดูได้ที่http://www.bmvbs.de/SharedDocs/DE/Pressemitteilungen/2012/188-ramsauer-nationaler-radverkehrsplan.html