บทเรียนการขี่จักรยานในเมือง (ตอน ๒)
โดย กวิน ชุติมา
โดยทั่วไปแล้ว การขี่จักรยานเป็นสิ่งที่รื่นรมย์ ไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายคนคิด (คนที่พูดออกมาว่าอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้มักจะเป็นคนที่ไม่เคยมาขี่จริง) แต่ก็แน่นอนว่าไม่ได้ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง อาจจะมีสถานการณ์ที่ไม่รื่นรมย์หรือน่ากลัวเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราขี่จักรยานในเมืองได้อย่างสะดวกและปลอดภัยคือ การเรียนรู้ที่จะใช้ความระมัดระวังและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้เหมาะสมที่สุดไว้ก่อนล่วงหน้า ลดโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ที่ไม่รื่นรมย์หรือน่ากลัวลงให้น้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ความรู้เช่นนี้ส่วนหนึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของตนเอง อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการถ่ายทอดของผู้ใช้จักรยานคนอื่นที่เคยประสบกับสถานการณ์เช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าด้วยปากหรือการเขียน
ในบทความชุดนี้ ผู้เรียบเรียงจะนำความรู้จากประสบการณ์จริงของผู้ใช้จักรยานหลายๆคนมาเล่าสู่กันฟัง โดยผู้เรียบเรียงก็อาจจะใส่ประสบการณ์ส่วนตัวลงไปเสริมด้วยบ้างตามที่เห็นว่าน่าจะช่วยให้บทเรียนนั้นอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องย้ำว่าความรู้หรือบทเรียนเหล่านี้คงไม่สมบูรณ์ไปทั้งหมด หรือค้ำประกันได้ว่า ทำตามแล้วจะไม่เกิดปัญหาใดๆ เพราะสถานการณ์จริงย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณด้วย และผู้เรียบเรียงยินดีรับฟังความเห็นของผู้อ่าน-ผู้ใช้จักรยานทุกท่าน ซึ่งน่าจะทำให้กลายเป็นบทเรียนและคำแนะนำที่ “รุ่มรวย” ยิ่งขึ้น
ตอนที่ ๒: กรณีรถยนต์ตัดหน้าเข้ามาเร็วเกินไป
บทเรียนในตอนที่ ๒ นี้มาจากผู้ใช้จักรยานคนหนึ่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกเช่นกัน ซึ่งต้องย้ำว่าประเทศอังกฤษมีระบบการจราจรที่เคลื่อนไปทางซ้ายของถนนเช่นเดียวกับประเทศไทย และก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ผู้ใช้จักรยานบางคนอาจจะเคยประสบมาแล้วและพบว่าคล้ายคลึงกันมาก
“เราทุกคนคงเคยมีประสบการณ์คล้ายคลึงกันนี้มาบ้าง ครั้งหนึ่งผมจำได้ว่าเป็นช่วงค่ำขณะที่ผมกำลังขี่จักรยานอยู่ในช่องซ้ายชิดขอบถนนก็มีรถคันหนึ่งแซงผมขึ้นไปและหักกลับเข้าอยู่ตรงหน้าผมอย่างรวดเร็วจนผมต้องเบรกตัวโกร่งเพื่อป้องกันไม่ให้ล้อหน้าชนเข้าไปที่ท้ายรถคันนั้น
“คุณต้องระวังเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่เสมอ คนขับรถบางคนก็กะความเร็วที่จักรยานกำลังแล่นไปผิดและกะผิดด้วยว่าควรจะเหลือที่ว่างเผื่อให้คุณเท่าใดจึงจะปลอดภัยเมื่อเขาตัดกลับเข้ามาในช่องทางที่คุณขี่จักรยานอยู่ ดังนั้นคุณต้องวางมือให้นิ้วอยู่ใกล้ๆ เบรกอยู่เสมอ เพื่อว่าคุณจะใช้มันได้ทันทีเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน”
เรายังจะพบด้วยว่า บ่อยครั้งที่รถคันนั้นตัดหน้าจักรยานเข้ามาเพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าซอยหรือไปยังถนนที่มาบรรจบ จึงชะลอความเร็วลงทันทีและบางครั้งก็ไปหยุดที่หัวเลี้ยวหรือปากทางเข้าซอยหากต้องรอให้รถที่สวนออกมาออกไปก่อนในกรณีที่เป็นซอยเล็กๆ ดังนั้นผู้ใช้จักรยานจึงควรลดความเร็วลงและเพิ่มความระมัดระวังขึ้นเมื่อสังเกตเห็นทางแยกอยู่ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เราหยุดจักรยานได้ทันหากจำเป็น การที่ผู้ใช้จักรยานบางคนมีความคิดว่า หากขี่เร็วๆ ก่อนถึงและในบริเวณทางแยก รถยนต์จะไม่กล้าเลี้ยวหรือตัดหน้าเข้ามา เป็นการคิดเอาเองโดยไม่มีหลักประกันว่าผู้ขับรถข้างหลังจะไม่ทำเช่นนั้น อีกทั้งรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่ออกมาจากซอยหรือถนนด้านข้างอาจมาด้วยความเร็ว ไม่หยุดให้จักรยาน หรือหยุดไม่ทันเมื่อเห็นจักรยานในระยะกระชั้นชิด(เนื่องจากจักรยานมาด้วยความเร็ว) ดังนั้นการใช้ความเร็วสูงจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ทั้งคนขับรถที่กะความเร็วและระยะทางยากขึ้น และผู้ใช้จักรยานก็เบรกให้หยุดหรือชะลอจักรยานได้ยากขึ้นเช่นกัน
ข้อแนะนำอีกสองประการที่มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงเมื่อขี่จักรยานเข้าใกล้ทางแยกทุกชนิดคือ ประการแรก ควรให้สัญญาณมือให้ชัดเจนว่าจะไปทางใด เพื่อเตือนคนขับรถยนต์หรือขี่จักรยานยนต์ตามมาให้รู้เห็นชัดๆว่าเราจะไปทางใด จะตรงไปหรือจะเลี้ยวซ้าย เพราะมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อเขาเห็นเราขี่อยู่ชิดซ้าย เขาจะคิดเอาเองว่าเราจะเลี้ยวซ้ายเมื่อถึงทางแยก โดยเฉพาะเมื่อช่องทางซ้ายสุดมีเครื่องหมายบนพื้นว่าเป็นช่องทางเลี้ยวซ้าย
ประการที่สอง นอกจากการให้สัญญาณแล้ว ผู้ใช้จักรยานควรดูด้วยว่าสภาพของการจราจรหรือยานพาหนะที่ตามมาเบื้องหลังเป็นอย่างไร เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าจะทำอย่างไร การเอี้ยวคอไปดูสั้นๆ หากทำได้โดยไม่ทำให้เกิดอันตราย ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ที่ดีกว่าคือการติดกระจกส่องหลังที่ปลายแฮนด์ด้านขวา (จะติดทั้งสองข้างก็ได้ แต่ที่จำเป็นกว่าคือด้านขวา) การก้มลงมองกระจกส่องหลังนี้ทำได้ง่ายและปลอดภัยมากกว่าการเอี้ยวคอไปมอง เมื่อติดกระจกส่องหลังแล้วก็ควรฝึกใช้จนเป็นนิสัยหรือความเคยชิน ดูบ่อยๆ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ไม่เพียงเมื่อเข้าใกล้ทางแยก แต่ในจังหวะที่ผู้ใช้จักรยานจะแซงยานพาหนะที่อยู่ข้างหน้าแซงขึ้นไป หรือในช่วงอื่นๆ ที่ควรรู้สภาพของยานพาหนะที่อยู่เบื้องหลังด้วย