Home / ข้อมูลความรู้ / ๐๔. กฎระเบียบในทางระหว่างเมือง ป้าย เครื่องหมายจราจรนอกเมือง กับข้อกำหนดทางวิศวกรรมของทางจักรยานและที่จอดจักรยาน

๐๔. กฎระเบียบในทางระหว่างเมือง ป้าย เครื่องหมายจราจรนอกเมือง กับข้อกำหนดทางวิศวกรรมของทางจักรยานและที่จอดจักรยาน

หัวข้อที่ ๔.    กฎระเบียบในทางระหว่างเมือง ป้าย เครื่องหมายจราจรนอกเมือง กับข้อกำหนดทางวิศวกรรมของทางจักรยานและที่จอดจักรยาน

ได้ข้อสรุปว่า :
ศัพท์ที่สำคัญและความหมาย :

       ทางจราจร – ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้เพื่อการจราจรของยานพาหนะ
       ทางเท้า – ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้สำหรับคนเดิน
       ทางหลวงแผ่นดิน – ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่ที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง
       ทางหลวงชนบท – ทางหลวงนอกเขตเทศบาล ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรมโยธาธิการ หรือสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นผู้ก่อสร้าง
       ทางหลวงเทศบาล – ทางหลวงในเขตเทศบาล ที่เทศบาลเป็นผู้ก่อสร้าง
       ยาน พาหนะที่เครื่องยนต์ขัดข้อง : ให้เข้าจอดไหล่ทาง ถ้าไม่มีไหล่ทางให้ชิดซ้ายสุด ทั้งนี้ จอดได้ไม่เกิน ๒๔ ชม. ถ้าเกิดขึ้นในเวลาที่แสงสว่างไม่พอที่จะมองเห็นในระยะ ๑๕๐ เมตร ต้องเปิด / จุดไฟให้สว่างพอที่จะเห็นได้

ป้ายจราจร มี ๓ ประเภท คือ :
๑.    ป้ายบังคับ ใช้บังคับการจราจรบนทางหลวง เช่น
๑.๑.    ป้าย “หยุด” หมายความว่า ให้ผู้ขับรถหยุดรถก่อนถึงทางที่ขวางข้างหน้าหรือเส้นหยุด

       ๑.๒.    ป้าย “ให้ทาง” หมายความว่า ให้ผู้ขับรถระมัดระวังและให้ทางแก่รถ หรือคนเดินเท้าบนทางขวางข้างหน้า
๒.    ป้ายเตือน ใช้เตือนให้ทราบล่วงหน้าถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า มี ๒ ชนิด คือ
๒.๑.    ป้ายเตือนทั่วไป – สีเหลือง เส้นขอบป้ายสีดำ มีรูป หรือข้อความสีดำ
๒.๒.    ป้ายเตือนในงานก่อสร้าง – สีแสด เส้นขอบป้ายสีดำ มีรูป หรือข้อความสีดำ
๓.    ป้ายแนะนำ ใช้เพื่อแนะนำให้ไปสู่จุดหมายได้ถูกต้องหรือให้ความรู้อื่นๆ มี ๒ ชนิด คือ
๓.๑.    ชนิดพื้นป้ายสีขาว มีข้อความ เครื่องหมาย หรือรูปสีดำ
๓.๒.    ชนิดพื้นป้ายสีเขียวหรือสีน้ำเงิน มีข้อความ เครื่องหมายหรือรูปสีขาว

เครื่องหมายจราจรมี ๔ ประเภท คือ :
๑.    เส้นแสดงช่องจราจร : เส้นซึ่งทอดไปตามยาวของทางซึ่งแบ่งทางจราจรเป็นช่องจราจร ให้ผู้ขับรถเดินรถอยู่ภายในช่องจราจร มี ๕ รูปแบบ คือ

       ๑.๑.    เส้น “ทึบสีเหลือง” = ให้เดินรถทางด้านซ้ายของเส้น ห้ามมิให้ขับรถแซงขึ้นหน้ารถคันอื่นล้ำเส้นออกไปทางขวา
๑.๒.    เส้น “ประสีเหลือง” = ให้เดินรถทางด้านซ้ายของเส้น เว้นแต่ในกรณีที่ต้องการแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
๑.๓.    เส้น “ทึบคู่กับเส้นประสีเหลือง” = ให้ปฏิบัติตามความหมายของเส้นที่อยู่ทางซ้าย
๑.๔.    เส้น “ทึบสีขาว” = ห้ามขับรถคร่อมเส้นหรือเปลี่ยนช่องจราจร
๑.๕.    เส้น “ประสีขาว” = ห้ามขับรถคร่อมเส้นแต่สามารถเปลี่ยนช่องจราจรได้
๒.    เส้นขวางแนวจราจร : เส้นสีขาวขวางทางจราจรหรือช่องจราจร มีความหมายดังต่อไปนี้
๒.๑.    เส้น “หยุด” – เส้นทึบสีขาวขวางแนวจราจร = เมื่อมีป้าย เครื่องหมาย หรือสัญญาณจราจรบังคับให้ผู้ขับรถหยุดรถ จะต้องหยุดรถก่อนถึงเส้นหยุด
๒.๒.    เส้น “ให้ทาง” – เส้นประสีขาวขวางแนวจราจร = ให้ผู้ขับรถขับให้ช้าลงและให้ทางแก่รถหรือคนเดินเท้าบนทางขวางข้างหน้าผ่านไปก่อน
๒.๓.    เส้น “ทางข้าม” มี ๒ ลักษณะ คือ
       (ก)    “ทางม้าลาย” – แถบสีขาวหลายๆ แถบ ประกอบเป็นทางคนข้ามขวางแนวจราจร = ให้ขับรถช้าลงและพร้อมที่จะหยุดได้ทันท่วงทีเมื่อมีคนเดินข้ามทาง
       (ข)    “แนวคนข้าม” – เส้นทึบสองเส้น ขนานกันขวางแนวจราจร ใช้บังคับเช่นเดียวกับทางม้าลายต่อเมื่อมีสัญญาณไฟกระพริบ
๓.    เครื่องหมายและข้อความบนพื้นทาง : เครื่องหมายซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้

       ๓.๑.    “ลูกศร” – แสดงทิศทางจราจรให้รถตรงไปเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาย้อนกลับหรือร่วมกัน
       ๓.๒.    ข้อความ “หยุด” – ให้ปฏิบัติตามความหมายเช่นเดียวกับป้าย “หยุด”
       ๓.๓.    ข้อความอื่นๆ เช่น “ลดความเร็ว” และ “ขับช้าๆ” – ให้ผู้ขับรถปฏิบัติตามข้อความนั้นๆ
๔.    เครื่องหมายบนขอบทาง : เครื่องหมายซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้

       ๔.๑.    เครื่องหมาย    “ห้ามจอดรถเว้นแต่หยุดรับ-ส่งชั่วขณะ” คือ เส้นสีขาวสลับเหลืองที่ขอบทาง = ห้ามจอดรถทุกชนิด เว้นแต่การหยุดรับ-ส่งคนหรือสิ่งของชั่วขณะ
       ๔.๒.    เครื่องหมาย    “ห้ามหยุดรถหรือจอดรถ” คือ เส้นสีขาวสลับแดงที่ขอบทาง = ห้ามหยุดรถหรือจอดรถทุกชนิด

สัญญาณจราจรที่ใช้ควบคุมการจราจรบนทางหลวงมี ๒ ประเภท คือ :
๑.    สัญญาณไฟ : มีดวงโคมอย่างน้อยสามดวง สีแดงอยู่ตอนบน สีเหลืองอำพันอยู่ตอนกลาง และสีเขียวอยู่ตอนล่าง บางกรณีอาจมีลูกศรสีเขียวประกอบได้ มี ๕ ความหมายดังต่อไปนี้

       ๑.๑.    “สีแดง” = ให้หยุดรถ เว้นแต่ไฟสีเขียวเป็นรูปลูกศรก็ให้ผ่านได้เฉพาะทิศตามลูกศร
       ๑.๒.    “สีเขียว” = ให้ผ่านไปได้ แต่ในกรณีสีเขียวเป็นรูปลูกศร จะผ่านได้เฉพาะทิศตามลูกศร
       ๑.๓.    “สีเหลืองอำพัน” = ให้เตรียมหยุดรถ เว้นแต่ในขณะที่สีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอำพัน และได้ขับเลยเส้นหยุดไปแล้ว ก็ขับผ่านไปได้
       ๑.๔.    “กระพริบสีเหลืองอำพัน” = ให้ลดความเร็ว และขับรถผ่านทางนั้นด้วยความระมัดระวัง
       ๑.๕.    “กระพริบสีแดง” = ให้หยุดรถรอให้รถและคนเดินเท้าบนทางที่ขวางข้างหน้าผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัย ให้เคลื่อนรถต่อไปได้
๒.    สัญญาณธง : สัญญาณที่เจ้าหน้าที่แสดงด้วยการยกธง มีความหมายดังต่อไปนี้

       ๒.๑.    เจ้าหน้าที่ยกธงแดง = ให้ผู้ขับรถหยุดรถโดยไม่ให้ขวางทางรถที่สวนทางมา
       ๒.๒.    เจ้าหน้าที่ยกธงเขียว = ให้ผู้ขับรถขับรถผ่านไปได้

ข้อกำหนดทางวิศวกรรมของทางจักรยาน และที่จอดจักรยาน ตามประกาศกรมโยธาธิการ:
ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานทางวิศวกรรมของทางรถยนต์ ไม่ได้มีการกำหนดสำหรับ “ทางจักรยาน” หรือ “ทางที่จัดทำไว้สำหรับรถจักรยาน” ไว้โดยตรง

การรับน้ำหนัก: มีการกำหนดมาตรฐานการรับน้ำหนักสำหรับทางหลวงทุกๆ ชั้นไว้ที่ ๒๑ ตัน ซึ่งเป็นการกำหนดเผื่อรถบรรทุก จึงน่าจะเพิ่มการกำหนดสำหรับทางจักรยาน ไว้ในประกาศกรมโยธาธิการฉบับนี้ด้วย การจัดงบประมาณและการประมูลงานก่อสร้างทางจักรยาน(โดยเฉพาะ)จะได้ทำได้โดยมี กฎหมายรองรับ ซึ่งเมื่อลดการรับน้ำหนักของโครงสร้างลง ก็สามารถใช้เงินที่เหลือสร้างทางจักรยานได้ยาวขึ้นอีก ส่วนจะกำหนดให้รับน้ำหนักเท่าใดนั้น ก็สามารถเทียบเคียงจาก มาตรฐานวิศวกรรมทางจักรยานของต่างประเทศได้ไม่ยาก ซึ่งอาจจะกำหนดให้รับน้ำหนักประมาณ ๓ ตันก็พอ

ช่องลอดของถนน (อุโมงค์): กำหนดไว้แต่เพียงช่องลอดของถนน สำหรับทางหลวงทุกๆ ชั้นไว้ว่า ต้องมีระยะลอดในแนวดิ่งไม่น้อยกว่า ๕.๐๐ เมตร แต่ไม่มีการกำหนดไว้สำหรับทางจักรยาน สำหรับมาตรฐานอุโมงค์จักรยานของอังกฤษได้กำหนดระยะลอดในแนวดิ่งไว้ ๒.๒๕ เมตร ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ให้ความเห็นว่าควรออกแบบอุโมงค์จักรยานให้ไม่สะดวกกับการใช้รถยนต์ เช่น ให้มีเสาหรืออุปกรณ์กั้นรถยนต์และรถตุ๊กๆ กับให้มีระยะลอดในแนวดิ่งประมาณ ๒.๒๕ เมตร ถ้าสูงไปรถยนต์ก็จะพยายามรุกล้ำเข้ามาใช้ ถ้าต่ำไปก็จะรู้สึกถูกบีบจากด้านบน

ความเรียบผิวจราจรและฝาท่อ เครื่องกั้นทางจักรยาน ที่จอดจักรยานในย่านการค้า ลักษณะอุปกรณ์ที่จอดจักรยาน ห้องอาบน้ำในอาคารขนาดใหญ่: ไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้เลย

ไชยยศ รัตนพงษ์ และณัฏฐ์ นีลวัชระ

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น