กทม.ลุยจัดระเบียบทางเท้า รื้อ 1.7 หมื่นแผงค้าภายในปี 60
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 8 สิงหา 59
คอลัมน์ สังคม-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม
- ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยรุกล้ำทางเท้า เป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ที่ต่อเนื่องมายาวนาน และในอดีตมักจะถูกเอาจริงเอาจังเพียงชั่วคราว
แม้จะมีพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ออกมาระบุกติกา ไปจนถึงบทลงโทษชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ปรากฏผลงานเป็นรูปธรรม ท่ามกลางเสียงครหาว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ “บางราย”เรียกรับผลประโยชน์หรือไม่?
จนกระทั่งมีรัฐบาล คสช. เมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมามีการย้ำชัดเรื่องนี้อีกครั้งตามด้วยการดำเนินการอย่างจริงจังของกทม. จึงได้เห็นการจัดระเบียบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
การเร่งรัดจัดระเบียบเมือง คืนทางเท้าให้ประชาชนตามนโยบายของคสช. เริ่มต้นจากจุดแรกที่ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร ด้วยการประกาศห้ามขายตลอด 24 ชม. ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ให้ย้ายเข้าไปขายในซอยใกล้เคียงแทนหรือบางรายก็ย้ายตามสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปสนามบินน้ำ
รวมถึงบริเวณริมคลองคูเมืองเดิมและรอบศาลฎีกาเขตพระนคร ที่มีผู้ค้าประมาณ 1,000 ราย เป็นการยุติแหล่งค้าขายสินค้าในตำนานริมคลองหลอด ตามด้วยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี ที่ให้ทำการค้าที่เดิมแต่ขีดแนวตั้งวางให้ชัดเจน และกวดขันให้ผู้ค้าอยู่ในกติกา
แต่ที่ถือเป็นการระเบียบที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากก็คือ การจัดระเบียบตลาดคลองถม ย่านการค้าเก่าแก่ชื่อดัง แม้จะไม่ถึงกับเป็นการปิดตำนาน เพราะร้านค้าบนอาคารยังเปิดขายอยู่ แต่ก็ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายผิดไปจากอดีต รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงกันย่านสะพานเหล็กที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่าง ก็ต้องถูกรื้อทิ้งทั้งหมดตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา และประเดิมใช้พื้นที่จัดงานลอยกระทงเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2558
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่มีประเด็นต่อเนื่องคือปากคลองตลาด แหล่งค้าดอกไม้ พวงมาลัยเก่าแก่ ที่ต่อรองกันมาหลายครั้ง และกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ กทม.กับผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพื้นที่ติดกันใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่มีแผงค้านานาชนิด ทีขณะนี้การเจรจาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
จนถึงขณะนี้การดำเนินของ กทม. มีการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชนไปแล้ว 61 จุด ในพื้นที่ 27 เขต รวมผู้ค้า 16,645 หมื่นรายโดยเน้นการเจรจาและขอความร่วมมือจากผู้ค้าเป็นหลัก พร้อมกับการช่วยจัดหาจุดขายใหม่
อย่างไรก็ดีการจัดระเบียบมีหลายวิธีการ โดยมี 4 จุดที่ยังคงผ่อนผัน แต่เข้าไปกำกับให้เป็นระเบียบมากขึ้นที่บริเวณปากซอยอุดมสุข เขตบางนา ปากซอยอ่อนนุช เขตวัฒนา ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี และหน้าศูนย์การค้าบิ๊กซี เขตปทุมวัน รวมทั้งบางพื้นที่ที่จัดแบ่งเวลาให้ค้าขาย 2 รอบ อย่างเช่นที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัสเวิลด์โบ๊เบ๊ ถนนข้าวสาร ฯลฯ และบางจุดยอมให้ขายเฉพาะกลางคืนอย่างเช่นหน้าศูนย์การค้าสยามสแควร์ หน้าวัดหัวลำโพง ถนนสีลมขาออกตั้งแต่สีลมซอย 10 ถึงแยกพระราม 4 ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็มีหลายพื้นที่ห้ามขายเด็ดขาดตลอด 24 ชั่วโมงอย่างเช่นรอบศาลฎีกา สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ หน้าตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี รอบตลาดจตุจักร หน้าโรงพยาบาลศิริราช หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน ตลาดคลองถม หน้าอาคารสินสาทรฝั่งธนบุรี ฯลฯ
รวมถึงล่าสุดได้เตรียมจัดระเบียบในจุดสำคัญอื่นๆ ประกอบไปด้วยประตูน้ำ มีผู้ค่า 610 ราย แยกราชประสงค์ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้ค้า 600ราย ถนนสีลมมีผู้ค้า 611 ราย ทั้ง 4 แห่งจะยกเลิกการค้าในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ส่วนถนนสุขุมวิทตลอดสาย จะยกเลิกแผงค้าในวันที่ 5 ก.ย.
ส่วนใต้สะพานพุทธ และสะพานพระปกเกล้า มีผู้ค้ารวม 348ราย จะยกเลิกในวันที่ 12 ก.ย.และในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ทุกสำนักงานเขตจะยกเลิกแผงค้าบนทางเท้าทั้งหมด ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้
โดยกทม. ได้ตั้งเป้าหมายในการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชนด้วยการจัดระเบียบผู้ค้าใน 48 เขตจากทั้งหมด 50 เขตใน กทม. บนถนน 73 สาย ระยะทาง 309 กม. ที่มีผู้ค้าในจุดผ่อนผันทั้งสิ้นรวม 17,812 ราย มีกำหนดเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน ส.ค.ปี2560