Home / บทความ / บทความทั่วไป / รถติด.....ราคาแพง โดย เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2559

รถติด.....ราคาแพง โดย เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2559

ในที่สุดกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของเราก็ได้รับตำแหน่งเมืองรถติดอันดับ 1 ความจริงแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เราก็ติดอันดับต้นๆ มาตลอด ไม่ใช่ว่าไม่มีใครคิดจะทำอะไร หลายหน่วยงาน หลายคน หลายองค์กร ต่างก็พยายามหาทางลดปัญหานี้กันมาหลายรอบแล้ว แต่จำนวนครั้งที่ล้มเหลวกับจำนวนครั้งที่พยายามก็เท่ากันมาตลอด จนหลายคนเริ่มคิดว่า ปัญหานี้คงไม่มีทางแก้ได้

เวลาเราพูดถึงรถติดจะมีการพูดถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจคู่กันไปด้วยเสมอ ทั้งจากการสิ้นเปลืองพลังงาน ความล่าช้าในการไปทำงาน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน นอกจากนี้เวลาที่เสียไปยังส่งผลต่อเวลาที่จะใช้กับครอบครัวอีกด้วย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม

เพื่อให้เห็นถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าสูงแค่ไหน ผมลองไปดูงานวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาจราจร โดยเลือกเฉพาะงานที่ระบุมูลค่าเป็นสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อใช้ในการประมาณค่าโดยคร่าวๆ ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครจะมีมากแค่ไหน

ต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า การเอาตัวเลขของประเทศอื่นมาใช้คงไม่สามารถให้ค่าที่แม่นยำได้ แต่อย่างน้อยก็พอช่วยให้เรามองเห็นขอบเขตของความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนขึ้นว่าความเสียหายคิดเป็นกี่บาท

จากการไปดูงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ตัวเลขความเสียหายส่วนใหญ่มีความต่างกันพอสมควร ผมเลยเลือกประเทศมา 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นประเทศที่มีผลกระทบต่ำ เพราะมีระบบขนส่งมวลชนดีอยู่แล้ว และมีความหนาแน่นต่อประชากรต่อพื้นที่ต่ำ เพื่อให้ประมาณการผลกระทบขั้นต่ำ อีกกลุ่มเป็นประเทศที่ใช้ในการประมาณการผลกระทบขั้นสูง

รถติด.....ราคาแพง โดย เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2559

จากตารางที่นำเสนอจะเห็นว่าผลกระทบขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 0.2% ถึง 0.8% ส่วนผลกระทบขั้นสูงอยู่ระหว่าง 1.6% ถึง 3.5% ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าในปี 2557 มูลค่าตลาดในปัจจุบันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครที่วัดโดยผลิตภัณฑ์ภาค (Gross Provincial Productหรือ GPP) มีมูลค่า 4,128,733.97 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ถ้าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนเท่ากับที่เกิดขึ้นในฟินแลนด์ (0.8%) มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเท่ากับ 4,128,733.97 คูณ 0.8% เท่ากับ 34,268.5 ล้านบาทต่อปี

เราใช้วิธีนี้คิดมูลค่าความเสียหายโดยใช้ตัวเลขของทุกประเทศในตาราง ก็จะได้ค่าออกมาตามที่แสดงไว้ เมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยจะพบว่ามูลค่าความเสียหายต่อปีอยู่ระหว่าง 29,396.60 ถึง 89,263.20 ล้านบาท

ถ้าคิดมูลค่าต่อวัน ก็เอา 365 มาหาร จะได้ระหว่าง 80.5 ถึง 244.6 ล้านบาทต่อวัน หากมีคำถามว่า 365 บาทรวมวันหยุดเข้าไปด้วยจะเหมาะหรือเปล่า ก็ต้องขอบอกว่า สำหรับกรุงเทพมหานครของเรา วันหยุดหรือวันธรรมดา รถก็ติดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว การใช้ตัวเลขจำนวนวันทั้งปีจึงไม่น่าจะกระทบกับผลที่ออกมามากนัก

เห็นตัวเลขแล้วก็น่าตกใจนะครับ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าใกล้เคียงกับ GPP ของจังหวัดเชียงราย และมีมูลค่าเกือบ 4 เท่าของ GPP ของจังหวัดอ่างทอง คิดกันเล่นๆ คือ แต่ละปีเราเผาเงินที่จังหวัดเชียงรายสร้างทิ้งไปทั้งหมด หรือเผาเงินที่จังหวัดอ่างทองสร้างได้ไป 4 รอบ

แม้ว่าปัญหารถติดจะยังเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับกรุงเทพมหานคร และเริ่มเป็นปัญหาในจังหวัดอีกหลายจังหวัด ซึ่งคงจะแก้ได้ไม่ง่าย แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขเหล่านี้คือ ทางเลือกที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

สังเกตไหมครับว่า ประเทศที่มีผลกระทบไม่สูงส่วนใหญ่มีประชากรต่อพื้นที่ไม่หนาแน่นและมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี เดินทางไปมาได้สะดวก แสดงว่า เราเองก็สามารถลดผลกระทบได้ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง และอาจต้องคิดกันอย่างจริงจังเรื่องการวิธีการกระจายความเจริญไปยังจังหวัดใกล้เคียง เพื่อย้ายคนบางส่วนออกไปทำงานในพื้นที่ใกล้เคียง

จริงอยู่นโยบายทั้งสองเรื่องนี้ “แพง” แน่นอน แต่หากยอมตัดใจทุ่มทุนสักดี คิดแบบภาพรวมว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ดี และจะย้ายคนบางส่วนออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงยังไงให้เขาคุณภาพชีวิตไม่ด้อยไปกว่าเดิม ผลในระยะยาวย่อมคุ้มค่า เพราะต้นทุนของการไม่ทำอะไรในทุกวันนี้มันก็แพงแสนแพงอยู่แล้ว

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638806#sthash.I5Ljo64P.dpuf

 

 

Comments

comments

Check Also

โรแบร์ มาร์ชอง นักจักรยานวัย 105 ทำสถิติใหม่