อัมสเตอร์ดัมอาจเป็นเมือง(หลวง)ที่มีการใช้จักรยานมากที่สุดในโลก ประชากรที่นั่น 1.1 ล้านคนมีจักรยาน 1 ล้านคัน และร้อยละ 68 ของการเดินทางในย่านกลางเมืองทำด้วยจักรยาน จึงไม่แปลกที่อัมสเตอร์ดัมจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาเพราะจักรยาน มากกว่าภาพวาดของจิตรกรเอกอย่างแวนโฮห์และเรมบรานด์ และก็เป็นความจริงที่ชาวอัมสเตอร์ดัมหนึ่งรุ่นเต็มๆ เติบโตขึ้นมาคุ้นเคยกับการใช้จักรยานจนพวกเขามีทักษะที่จะขี่ยานพาหนะสองล้อนี้ไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว ไหลลื่น ตื่นตัวอย่างยิ่งกับสิ่งที่อยู่รอบตัว แต่ก็ดูเป็นธรรมชาติเสียเหลือเกิน
แม้จักรยานจะเป็นภาพลักษณ์ของอัมสเตอร์ดัม เมืองนี้ก็เป็นสวรรค์ของการใช้จักรยานน้อยกว่าเมืองอื่นในเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างอูเทรคท์และโกรนิงเก็น ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเวลาเช้าเย็นและบริเวณที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวผู้ไม่คุ้นเคยกับกฎเกณฑ์การขี่จักรยานที่ไม่มีการเขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรของชาวอัมสเตอร์ดัม เราจะเจอกับสภาพ “จักรยานติด” (เหมือนรถติด) ที่ผู้ใช้จักรยานตามเส้นทางสายหลักต้องหยุดทุกจุดที่มีถนนตัดกัน ทำให้แม้แต่ชาวอัมสเตอร์ดัมเองก็เอือมระอา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่อัมสเตอร์ดัมไม่ใช่นครใหญ่มากมาย หากมีพื้นที่จำกัด ในขณะที่มีจักรยานมากเกินไป สกู๊ตเตอร์มากเกินไป รถยนต์มากเกินไป และแม้แต่คนเดินเท้าก็มากเกินไป ยิ่งกว่านั้นแม้การเดินทางที่ใจกลางเมืองร้อยละ 68 จะทำด้วยจักรยาน แต่ก็มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพียงร้อยละ 11 ในขณะที่รถยนต์ได้ไปถึงร้อยละ 44 ผิดสัดผิดส่วนเป็นอย่างยิ่ง แล้วรถสกู๊ตเตอร์ ซึ่งใหญ่กว่า หนักกว่า และเร็วกว่า ยังเข้ามาใช้ทางที่จัดไว้ให้จักรยานอีกด้วย แม้ปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไข ข้อเสนอให้ห้ามสกู๊ตเตอร์ใช้ทางจักรยานทั่วประเทศกำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา จักรยานไฟฟ้าซึ่งขณะนี้ขายดีกว่าจักรยานที่ใช้แรงคนธรรมดาๆ ก็อาจเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาเพราะมันสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แอนนา ลูเท็น .นายกเทศมนตรีจักรยานคนแรกของโลก (ภาพโดยนิค แมน มีด)
จะแก้ปัญหากันอย่างไร กลุ่มผลักดันนโยบายจักรยานชื่อ CycleSpace เอาตัวอย่างความสำเร็จก่อนหน้านี้จากการแต่งตั้งมิริค มิลาน มาเป็น “นายกเทศมนตรีกลางคืน” ของอัมสเตอร์ดัมมาใช้ นายมิริคเป็นตัวกลางให้เกิดการพูดคุยสื่อสารกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียใน “กิจกรรมกลางคืน” ของเมืองที่กำลังขยายตัว ตั้งแต่ผู้ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นที่บางครั้งก็ไม่อยากยอมรับว่ามีกิจกรรมเช่นนี้ในพื้นที่รับผิดชอบของตน จนสามารถตกลงกันได้ จากประสบการณ์นี้ CycleSpace จึงเสนอให้มีการสร้างตำแหน่งขึ้นมาใหม่เรียกว่า “นายกเทศมนตรีการจักรยาน” (cycling mayor) โดยเปิดให้ส่งวิดีโอคลิปเข้ามาสมัคร เปิดให้สาธารณชนลงคะแนนเลือกให้เหลือจำนวนน้อยลง จากนั้นเจ้าหน้าที่เมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านจักรยานก็มาเลือกกันเป็นขั้นสุดท้ายได้แอนนา ลูเท็น (Anna Luten) มาเป็นนายกเทศมนตรีการจักรยานคนแรกของอัมสเตอร์ดัมและของโลก ความจริงตำแหน่งคล้ายๆกันนี้ก็ไม่ใช่ของใหม่ หลายเมืองมีตำแหน่งที่เรียกว่า ผู้ตรวจการจักรยาน(bicycle commissioner), หัวหน้าเจ้าหน้าที่จักรยาน(Chief Bicycle Officer – CBO) หรือซาร์จักรยาน(cycle tsar) แต่ตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งทางการ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองท้องถิ่น หลายแห่งมาจากการเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีการจักรยานของอัมสเตอร์ดัมแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานใดๆ และเป็นงานอาสาสมัคร
แอนนามีงานประจำเป็นผู้จัดการยี่ห้อจักรยาน LIV ซึ่งเป็นยี่ห้อจักรยานสำหรับผู้หญิงของ GIANT ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่จากไต้หวัน แอนนาก็เหมือนกับชาวดัทช์ทั่วไป ครั้งเป็นเด็ก เธอขี่จักรยานไปโรงเรียนทุกวันตั้งแต่ถอดเอาล้อช่วยการทรงตัว(ล้อเล็กที่ติดสองข้างล้อหลังของจักรยานเด็กช่วยไม่ให้จักรยานล้ม)ออก และไม่เคยใส่หมวกนิรภัย
ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษที่ไปสัมภาษณ์เธอบอกว่า เธอแทบจะไม่ชะลอความเร็วลงเลยเมื่อขี่จักรยานเข้าสู่ทางแยกแห่งหนึ่งในย่านเก่าที่มีคลองตัดไปตัดมากลางกรุงอัมสเตอร์ดัม ตรงจุดนั้นมีจักรยานแล่นเข้ามาหากันจากหกทิศทาง แน่นอนว่ามีเสียงกระดิ่งเตือนการมาถึงของจักรยาน แต่ก็ไม่มีใครหยุด ไม่มีจักรยานคันใดชนหรือเกี่ยวกัน เหมือนกับว่าพวกเขาเข้าใจ มีสัญชาตญาณในการขี่จักรยานผ่านการจราจรที่สลับซับซ้อนอยู่ในตัว แน่นอนว่าทุกคนขี่จักรยานกันผมปลิวไสว ไม่มีใครใส่หมวกนิรภัย
แต่กระนั้น แอนนาก็บอกการแก้ปัญหาในเมืองหลวงจักรยานที่ยุ่งเหยิงที่สุดในโลกนั้นยากกว่าคิดไว้ “สำหรับพวกเราแล้ว การใช้จักรยานเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เสียจนเบื่อหรือไม่ได้แค่เก็บเอามาคิด มันไม่ได้เป็นอัตลักษณ์หรือภาพลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่งเหมือนดังในเมืองหรือประเทศอื่น มันเป็นวิธีที่เราใช้ไปไหนมาไหนในชีวิต ดังนั้นแม้ว่าเราจะนำหน้าเมืองจำนวนมาก แต่เราก็ยังต้องทำงานในการรักษาตำแหน่งของเราไว้และปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป ตอนนี้ชาวอัมสเตอร์ดัมจำนวนมากคิดว่า “ในเมื่อเราขี่จักรยาน เราก็เป็นเจ้าของถนน” เราอยากจะคิดว่าเราก็เคลื่อนไหลไปเรื่อย แต่บางครั้งจริงๆแล้วเราก็หยาบคาย ดูเหมือนว่าจะมีคนขี่จักรยานและจักรยานมากเกินไปเสียแล้ว ถ้าสภาพยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คนจะหยุดใช้จักรยานเพราะมันจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป”
นอกจากนั้นแม้ในอัมสเตอร์ดัมจะใช้จักรยานกันมาก ก็ยังมีผู้ค้าขายในท้องถิ่นอย่างเช่นในย่านช็อปปิ้งถนน Kinkerstraat ที่คัดค้านการห้ามรถยนต์และการขยายช่องทางจักรยานให้กว้างขึ้น พวกเขายังคิดว่าลูกค้าขับรถยนต์มาซื้อของ ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นงานของแอนนาที่จะไปเปลี่ยนความคิดที่ฝังหัวมานานนี้
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของอัมสเตอร์ดัมคือการมีที่จอดจักรยานไม่เพียงพอ ซึ่งก็ต้องแก้กันไปเรื่อยๆ ที่ Mahlerplein ทางใต้ของย่านธุรกิจการเงินของอัมสเตอร์ดัมมีที่จอดจักรยานใหม่สุดไฮเทค จอดได้ 3,000 คัน ทางเข้า-ออกอยู่ใต้ดินมีทางลาดเลื่อนให้เอาจักรยานขึ้น-ลงได้อย่างสะดวกสบาย และที่ใกล้สถานีรถไฟกลาง กำลังมีการสร้างที่จอดจักรยานที่จุได้กว่า 30,000 คันเสร็จในปี 2030 ไม่นับรวมที่จอดจักรยานใต้น้ำใต้ตลิ่งริมแม่น้ำและเกาะเทียมลอยน้ำสำหรับจอดจักรยานอีกต่างหาก
ตรงสถานีรถไฟกลางซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของแม่น้ำอัมสเตลก็มีปัญหาพิเศษที่อาจกลายเป็นความขัดแย้งได้ ตอนนี้วิธีเดียวที่จักรยานจะข้ามแม่น้ำไปย่านชานเมืองทางทิศเหนือที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วคือใช้เรือเฟอรี่ซึ่งแม้จะเทศบาลจะจัดบริการให้แบบไม่คิดเงินและทิวทัศน์ก็สวยงาม แต่ต้องคอยคิวกันนานใช้เวลามาก ถ้าขี่ไปข้ามสะพานก็ต้องอ้อมไปทางตะวันออกอีกสี่ห้ากิโลเมตร การทำอุโมงค์ลอดแม่น้ำให้จักรยานจะแพงมากเกินไปเพราะใต้อัมสเตอร์ดัมเป็นดินโคลน และเมื่อมีการเสนอจะสร้างสะพานใหม่ตรงนี้ พวกผู้ให้บริการเรือนักท่องเที่ยวก็ไม่ยอมเพราะเกรงว่าธุรกิจที่ทำเงินดีของพวกเขาจะเสียหาย
ปัญหาร่วมสมัยที่เกิดขึ้นมาใหม่คือ คนที่อาศัยอยู่ในอัมสเตอร์ดัมจำนวนมากขึ้นไม่ใช่ชาวอัมสเตอร์ดัมดั้งเดิมที่ทั้งชีวิตอยู่มากับจักรยาน คนจำนวนมากขึ้นที่อาศัยอยู่ชานเมืองหรือในย่านตะวันตกใหม่มีประชากรเป็นผู้อพยพในสัดส่วนสูง คนเหล่านี้ไม่ได้มีประวัติศาสตร์การใช้จักรยานและมักจะขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากคิดว่าการใช้จักรยานเป็นสิ่งที่อันตราย เมื่อเด็กพวกนี้อายุ 16 แทนที่พวกเขาจะได้จักรยาน พ่อแม่กลับซื้อสกู๊ตเตอร์ให้ นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่นายกเทศมนตรีการจักรยานต้องทำงาน
นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาอื่นที่ดูเป็นปัญหาปลีกย่อย แต่ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น กระแสการใช้ล้ออ้วน(fat wheels) ซึ่งเอาไปจอดกับที่จอดจักรยานเดิมไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของนายกเทศมนตรีการจักรยานอีกเช่นกันที่ต้องรับฟังปัญหาของคนเหล่านี้ ซึ่งเดิมมักไปไม่ถึงคนที่มีอำนาจ แอนนารับว่าไม่ได้มีคำตอบให้ปัญหาทุกอย่าง แต่ก็จะช่วยให้มีการสื่อสารพูดคุยกัน ซึ่งทางเทศบาลก็รับฟัง เธอชี้ว่านอกจากสื่อสารกันแล้ว ก็ต้องมีนวัตกรรม ต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆมาทดลองแก้ปัญหา มิฉะนั้นจะตามไม่ทัน อย่างเช่นการทำทางจักรยานที่มีหลังคาคลุมเพื่อให้คนในแวดวงธุรกิจขี่จักรยานไปทำงานได้โดยที่ฝนไม่ทำให้ชุดสูทของพวกเขาเปียก หรือการติดป้ายใหม่บอกทางให้นักท่องเที่ยวไปขี่จักรยานในเส้นทางที่พวกเขาจะขี่ได้ปลอดภัยกว่า
แอนนาบอกว่าจากปัญหาข้างต้น เธอเองก็ไม่แน่ใจว่าอัมสเตอร์ดัมยังเป็นเมืองจักรยานอันดับ 1 อยู่หรือไม่ บางทีโคเปนเฮเกนอาจจะแซงขึ้นหน้าไปแล้วก็ได้ แต่เธอไม่คิดว่าการแข่งขันชิงตำแหน่งที่หนึ่งกันระหว่างสองเมืองนี้จะสำคัญเท่าใดนักตราบใดที่แต่ละเมืองเป็นสถานที่ที่ดีสำหรับการขี่จักรยาน การใช้จักรยานมีพลังในการเปลี่ยนแปลง “ฉันฝันและหวังว่าในอีก 20 หรือ 50 ปีข้างหน้าจะมีเมืองจำนวนมากคล้ายอัมสเตอร์ดัมที่การใช้จักรยานเป็นสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตจนเราไม่ตระหนักถึง”
แม้จะเริ่มโครงการได้ไม่นาน CycleSpace ก็มีแผนจะส่งออกแนวคิดการมีนายกเทศมนตรีการจักรยานที่เป็นอิสระไปยังเมือง 25 เมืองทั่วโลกที่แสดงความสนใจมา ตั้งแต่โยฮันเนสเบิร์กกับเคปทาวน์ในอาฟริกาใต้ กรุงปักกิ่ง นครชิคาโกในสหรัฐฯ และกรุงวอร์ซอว์ในโปแลนด์ โดยมีแผนจะจัดประชุมในเนเธอร์แลนด์ในปี 2017 เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
—————————————————————————————————————————————–
กวิน ชุติมา เรียบเรียงจาก Bike jams and unwritten rules: a day with Amsterdam’s new ‘bicycle mayor’ เขียนโดย Nick Van Mead ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ 12 สิงหาคม 2016