นครและเมืองต่างๆครอบคลุมพื้นที่เพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่โลกทั้งหมด แต่รับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ถึงร้อยละ 70 ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ขณะนี้มนุษย์เราร้อยละ 59 อาศัยอยู่ในเขตเมือง ในประเทศที่กำลังพัฒนา ร้อยละ 81 ของประชากรเป็นชาวเมือง และตัวเลขเหล่านี้กำลังสูงขึ้นทุกวัน
ถึงแม้เมืองจะเป็นแหล่งหลักที่ปล่อยก๊าซที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง “เมืองก็ยังเป็นสถานที่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย” โจแอน คลอส ผู้อำนวยการ UN-Habitat กล่าว “เราสามารถที่จะทำให้เมืองร้อนๆของเราเย็นลงได้อีกด้วยการวางแผนเมืองให้ดีขึ้นและการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”
ประโยชน์ที่ได้นั้นความจริงมากไปกว่าการลดความเสี่ยงที่เกิดจากสภาวะโลก ร้อน เมืองที่ได้รับการออกแบบมาให้ “คน” มากกว่า “รถยนต์” เป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยโดยมีระดับมลพิษต่ำ การจราจรติดขัดน้อย มีสวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะอื่นๆมากขึ้น มีโอกาสดีขึ้นที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีพลเมืองที่มีสุขภาพดีกว่า
การจะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ต้องทำหลายอย่าง เช่น การผลิตอาหารเองเพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศมากๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของอาคาร เพิ่มความหนาแน่นของประชากร ลงทุนในขนส่งมวลชน และลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว
วันนี้ที่กลางวันยาวขึ้นและต้นไม้ผลิดอกบานสะพรั่งทำให้นครแวนคูเวอร์ที่ ผมอาศัยอยู่สว่างไสวขึ้น ใจผมหวนคิดถึงความสุขจากการขี่จักรยาน ถึงแม้ว่าการเอาคนออกจากรถยนต์มาปั่นจักรยานจะไม่ได้แก้ปัญหาภูมิอากาศและ ปัญหามลพิษไปเสียทั้งหมด และการขี่จักรยานไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้ แต่ยิ่งคนปั่นจักรยานกันมากเท่าใด เราทุกคนก็จะดีขึ้นเท่านั้น การปั่นจักรยานยังเป็นวิธียอดยี่ยมในการรักษาหุ่นและทำให้การเดินทางรื่นรมย์ และมักจะเร็วกว่าการใช้พาหนะอื่นด้วย
ผมตื่นเต้นเป็นพิเศษที่การประชุมจักรยานนานาชาติ Velo-city Global จะมาจัดที่เมืองแวนคูเวอร์ในระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน คาดกันว่าจะมีผู้วางแผนจราจร ผู้ผลักดันการใช้จักรยาน สถาปนิก นักการศึกษา นักการเมือง ฯลฯ ราว 1,000 คนจากทั่วโลก “มาแบ่งปันวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างและดูแลรักษาเมืองที่เป็นมิตรกับ จักรยาน ที่ซึ่งมีการให้คุณค่าจักรยานว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางประจำวันและสัน ทนาการ”
กิล เพนาโลซ่า ซึ่งจะเป็นผู้เปิดและปิดการประชุม กล่าวว่าแวนคูเวอร์ทำอะไรมากมายให้การขี่จักรยาน แต่ก็ “ยังไม่ยิ่งใหญ่” เพนาโลซ่า ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ 8-80 Cities องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งหนึ่งในประเทศคานาดา และอดีตกรรมาธิการสวนสาธารณะ กีฬา และสันทนาการ ของนครโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย เชื่อว่าชาวเมืองในทวีปอเมริกาเหนือสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากชาวยุโรปใน เรื่องการกระตุ้นคนให้ขี่จักรยาน
“แม้ในยุโรป โครงสร้างพื้นฐานสำหรับจักรยานก็เพิ่งมาทำกันเอาในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมานี่ เอง และมันมิได้เกิดมาจากอุบัติเหตุด้วย” นายเพนาโลซ่ากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสมาพันธ์นักจักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation) โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในนครอัมสเตอร์ดัม โครงสร้างพื้นฐานสำหรับจักรยานและอัตราการใช้จักรยานมาเพิ่มขึ้นก็หลังจากที่ชาวเมืองออกมารณรงค์อย่างแข็งขัน เขายังกล่าวด้วยว่าการวางแผนที่เป็นมิตรกับจักรยานสามารถจะเสริมระบบระบบขนส่งมวลชนที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี
ขั้นตอนหนึ่งที่ควรทำแต่แรกๆคือการลดความเร็วของการจราจรในท้องถิ่น “มันขัดกันจริงๆ” เพนาโลซ่ากล่าว “คนอยากจำกัดความเร็วของยานพาหนะต่างๆในย่านที่ตนอยู่อาศัยไว้ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอไม่ใช่ย่านที่พวกเขาอยู่อาศัย พวกเขากลับอยากไปเร็วๆ”
การลดความเร็วจะช่วยชีวิตคนไว้ได้ด้วย จากข้อมูลของสภาความปลอดภัยการขนส่งยุโรป (European Transport Safety Council) ถ้าคุณถูกรถชนด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณมีโอกาสตายร้อยละ 5 แต่ที่ความเร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณมีโอกาสรอดเพียงร้อยละ 5
ขั้นตอนต่อไปในการกระตุ้นให้คนออกมาขี่จักรยานกันคือสิ่งที่นครแวนคูเวอร์กำลังจะทำ “คุณต้องมีทางจักรยานที่แยกออกมาต่างหากจากถนน และคุณต้องการมากกว่าทางจักรยานที่แยกจากถนนสักเส้นหนึ่ง คุณต้องการทางจักรยานเช่นนั้นเป็นเครือข่ายเลยทีเดียว” เพนาโลซ่ากล่าว
สมาพันธ์นักจักรยานยุโรปกล่าวว่า การจัดให้มีทางจักรยานที่แยกต่างหากบนถนนสายหลักและถนนที่มีจราจรคับคั่ง อื่นๆ ในเขตเมืองไม่ใช่งานใหญ่อย่างที่หลายคนคาด เนื่องจากทั่วๆไปแล้วถนนเหล่านี้มักจะเป็นเพียงราวร้อยละ 5-10 ของภูมิประเทศเมืองเท่านั้น
ผมหวังว่าการประชุมเวโลซิตี้โลกจะทำให้คนจำนวนมากขึ้นในแวนคูเวอร์และที่ อื่นๆตื่นเต้นกับจักรยาน คนที่ขี่อยู่แล้วรู้ว่าเหตุผลที่ดีที่สุดประการหนึ่งในการที่พวกเขาเลือกขี่ จักรยานคือมันสนุก มันดีกับคุณด้วย การขี่จักรยานเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพได้หลายด้าน จากโรคอ้วนไปจนถึงโรคหัวใจและโรคเครียด ดังนั้นมันจึงช่วยเศรษฐกิจของชาติด้วยจากการที่รัฐลดค่าใช้จ่ายในการดูแล สุขภาพให้ประชาชนโดยรวม การที่การขี่จักรยานมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ และการที่จักรยานสามารถทำให้เมืองเป็นสถานที่ที่น่าอยู่มากขึ้นเป็นเหตุผล อีกสองข้อที่คุณควรจะขี่จักรยานทุกโอกาสที่คุณทำได้
กวิน ชุติมา เรียบเรียงแปลจาก “Bicycling helps make cities cool”
เขียนโดย David Suzuki (with contributions from David Suzuki Foundation Editorial and Communications Specialist Ian Hanington)
ในเว็บไซต์ของ David Suzuki Foundation, March 15, 2012