มติชน 19 สิงหาคม 2555
ปัจจุบัน ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง และในการพูดถึงนั้นใครๆ ที่ว่านั่นก็มักบอกว่าต้องเร่งแก้ไขอย่างรีบด่วน มิฉะนั้นแล้วโลกจะถึงแก่หายนะ โดยยกตัวอย่างพิบัติภัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสึนามิที่อินโดนีเซีย แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มหาอุทกภัยที่เมืองไทย มาเป็นเครื่องเตือนใจว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือในชื่อ “โลกร้อน” ที่คนไทยนิยมเรียกขานกัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ามาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลกมากเกินไป และก๊าซเรือนกระจกที่ว่านี้มาจากกิจกรรมของมนุษย์เกือบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของมนุษย์ที่จะต้องเป็นคนแก้
ผมจึงรู้สึกดีใจและภูมิใจในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เห็นองค์กรไทยองค์กรหนึ่งลุกขึ้นมาพยายามลดสาเหตุของปัญหานี้ องค์กรที่ว่านั้น คือ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สทท.) โดย สทท.ได้จัดทำโครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำ (หมายถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ไปขอทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปมาดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้มีเทศบาลกว่า 100 แห่งแล้ว ทั้งในระดับตำบล เมือง และนคร ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการ 4 รูปแบบ อันได้แก่ เมืองต้นไม้ ไร้มลพิษ พิชิตพลังงาน และการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อลดปัญหาโลกร้อนที่ว่า
อย่างไรก็ตาม อันตัวตนเทศบาลนี้จะดำรงความเป็นเทศบาลอยู่ต่อไปไม่ได้หากไม่มีชุมชนอยู่ในเขตเทศบาล ผมจึงคิดว่านอกจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลแล้วกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นตัวชุมชนเอง นักธุรกิจในชุมชน พ่อค้าแม่ขาย นักอุตสาหกรรมในเทศบาล โรงเรียน ฯลฯ ก็ควรมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ เพราะการทำงาน 4 รูปแบบที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ การเดินและการใช้จักรยานเพื่อประหยัดพลังงานและลดมลพิษ การไม่เผาขยะ การทำและใช้ปุ๋ยชีวภาพ การไม่บริโภคเกินควร การไม่ซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกันทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเดินและการขี่จักรยานในระยะทางใกล้ๆ ไม่เกิน 1-3 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรองบประมาณ ไม่ต้องรอการก่อสร้าง ไม่ต้องรอกฎหมาย สิ่งที่ต้องทำตอนนี้มีอยู่อย่างเดียว ง่ายๆ คือการยกระดับจากทัศนคติไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือต้องออกไปเดินและใช้จักรยานแทนการใช้ยานพาหนะอื่นที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
อยากถือโอกาสนี้ เชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนมาร่วมสร้างเมืองของตนเองให้น่าอยู่ โดยติดต่อขอเข้าร่วมโครงการดีๆ นี้ได้ที่ สทท.ที่ 0-2577-1018-9 หรือที่อีเมล์ lowcarboncity.eu@gmail.com และ www.lcm.in.th ส่วนกลุ่มคนใดที่สนใจเรื่องการใช้การเดินและจักรยานมาแก้ปัญหาในระดับจุลภาคของชุมชนของตนเองก็ติดต่อตรงได้ที่ 0-2618-4430 และ 4434 หรือ www.thaicyclingclub.org
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
บทความฉบับนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2555