Home / บทความ / จักรยานสาธารณะ-เติบใหญ่ไปทั่วโลก

จักรยานสาธารณะ-เติบใหญ่ไปทั่วโลก

จักรยานสาธารณะ – เติบใหญ่ไปทั่วโลก
“จักรยานสาธารณะ” หรือจักรยานที่จัดไว้ให้ใครๆก็ไปใช้ได้นี้ ไม่ใช่ “ของเล่นบ้าๆของชาวยุโรป” อีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็นวิธีส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในเมืองที่แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก แต่ใครจะรู้บ้างว่ามันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาแล้วเกือบ ๕๐ ปี
หลายคนคงเดาถูกว่าคุณงามความดีในเรื่องนี้เป็นของชาวดัตช์ซึ่งเป็นแรงดลใจให้เราหลายด้านในการใช้จักรยาน โดยพวกเขากลุ่มหนึ่งได้เกิดความคิดอันวิเศษขึ้นว่า น่าจะมีจักรยานมาให้สาธารณชนได้ใช้โดยไม่ต้องจ่ายอะไรเลย จึงตัดสินใจเอาจักรยานสีขาว ๕๐ คันไปวางไว้ตามจุดต่างๆในนครอัมสเตอร์ดัม แต่จะพูดไป กิจกรรมดีๆเช่นนี้อยู่ได้ไม่นานอย่างที่หลายๆคนก็คงเดาได้  ในไม่ช้าจักรยานประวัติศาสตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ลงไปนอนแอ้งแม้งอยู่ก้นคลองหรือเหลือเพียงบางส่วน ประสบชะตากรรมเดียวกับจักรยานที่มีเจ้าของจำนวนมากในเมืองเอกของประเทศเนเธอร์แลนด์นี้ กระนั้นแนวคิดก็ติดตลาด

Amsterdam’s White Bikes. Credit: The Big Feed คุณเชื่อหรือไม่ว่าขณะนี้มี “จักรยานสาธารณะ” ให้เราใช้ในสี่ทวีปทั่วโลกมากกว่า ๒๓๖,๐๐๐ คัน ครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอก สองแสนสามหมื่นหกพันคัน จากห้าสิบคันเมื่อห้าสิบปีก่อน น่าทึ่งไหมล่ะ
คุณซูซาน ชาฮีน (Susan Shaheen) ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยความยั่งยืนในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสภาพแวดล้อม และวิศวกรผู้ช่วยวิจัย ที่สถาบันศึกษาการคมนาคมขนส่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลี่ย์ ด้วย เป็นคนหนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องระบบจักรยานสาธารณะหรือการมีจักรยานให้แบ่งปันกันใช้ ได้เล่าให้เราฟังว่า การเติบใหญ่จริงๆของจักรยานสาธารณะต้องยกให้ระบบ Velib ซึ่งเริ่มใช้เมื่อปี ๒๕๕๐ โดยเป็นจักรยานสาธารณะรุ่นที่ ๓ หลังจากรุ่นแรกที่มีจักรยานให้ใช้แบบไม่คิดเงินไม่ได้ผลแล้ว ผู้เก็บเอาแนวคิดมาทำต่อก็พัฒนาให้เป็นระบบหยอดเหรียญ คือใครจะเอาไปใช้ก็ต้องหยอดเหรียญเป็น “ค่าเช่า” คล้ายกับเครื่องหยอดเหรียญจอดรถ ระบบหยอดเหรียญนี้ถือว่าเป็นจักรยานสาธารณะรุ่นที่ ๒ จักรยานสาธารณะรุ่นใหม่หรือรุ่นที่ ๓ ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันใช้เทคโนโลยี สารสนเทศที่ซับซ้อนกว่า คือใช้บัตรอิเล็คโทรนิคแบบเดียวกับที่ใช้กับขนส่งสาธารณะหลักคือรถไฟฟ้าและรถประจำทาง Velib ซึ่งเกิดขึ้นในกรุงปารีส เป็นครั้งแรกที่มีการเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นระบบขนาดใหญ่ทั่วเมือง โดยมีจำนวนจักรยานให้ใช้มากกว่า ๒๐,๐๐๐ คัน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ระบบนี้เป็นที่ต้องการไปทั่วโลก อย่างเช่นในทวีปอเมริกาเหนือ ต้องพูดว่าระบบนี้ “ติดลม” ไปแล้ว เพียงสามปี เมืองที่มีระบบจักรยานสาธารณะได้เพิ่มจาก ๕ เป็น ๑๒ เมือง ในปีนี้จะมีอีก ๒๐ เมือง และอีก ๓๔ เมืองน่าจะมีระบบนี้ใช้งานในปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗  ชาวลาตินอเมริกันในประเทศกำลังพัฒนาที่ “จนกว่า” สหรัฐอเมริกากับคานาดา ก็มีระบบจักรยานสาธารณะให้ใช้ไม่ช้าไปกว่ากัน บราซิลเป็นประเทศแรกที่ตามฝรั่งเศสมาติดๆ โดยในปี ๒๕๕๑ นครเซาเปาโลมี UseBike ส่วนนครริโอเดอจาเนโร (ถ้าจะเรียกชื่อเมืองนี้ใช้ถูกต้องตามที่คนที่นั่นเรียกเมืองของเขาในภาษาโปรตุเกสก็ต้องเป็น “ริอูเดอจาเนรู” ซึ่งคงแปลกหูทำให้หลายคนหัวเราะในใจ) ก็มี Samba (คุ้นหูไหมครับ ก็จังหวะเพลงอันเลื่องลือนั่นไง)  ประเทศชิลีตามบราซิลมาติดๆโดยมีระบบจักรยานสาธารณะแรกที่มีจักรยาน ๑๘๐ คันกับสถานี ๒๐ แห่ง และในปี ๒๕๕๓ นครเม็กซิโกซิตี้ก็เริ่มใช้ระบบ EcoBici ที่มีจักรยาน ๑,๒๐๐ คันและสถานีบริการ ๙๐ แห่ง  ส่วนทวีปที่ตามมาล่าสุดคือทวีปเอเชีย ซึ่งแม้จะมาล่า แต่ก็มาเร็วและมาแรง แซงหน้ายุโรปไปจนกลายเป็น “ตลาด” ของระบบจักรยานสาธารณะที่ใหญ่ที่สุด  เชื่อไหมครับว่า นครหางโจวของจีนเป็นเมืองที่มีระบบจักรยานสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลก (และคุณซูซานบอกว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดด้วย แต่คนไทยเรารู้หรือเปล่าเนี่ย?) โดยมีจักรยานให้ใช้กว่า ๖๐,๐๐๐ คันและสถานีบริการ ๒,๔๐๐ สถานี เชิญไปดูกันได้นะครับที่ The Biggest, Baddest Bike-Share in the World: Hangzhou China from Streetfilms on Vimeo.


ทีนี้ก็มาถึงคำถาม “คลาสสิค” (ขออนุญาตใช้ภาษาฝรั่งเล็กน้อยนะครับ) เราควรจะปรับปรุงให้มีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สภาพทาง ไฟสัญญาณ ฯลฯ ก่อน หรือสร้างระบบจักรยานสาธารณะในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าใดเลยโดยไม่คอยให้มีโครงสร้างพื้นฐานดีเยี่ยมก่อน  เรื่องนี้คุณซูซานในฐานะผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยานกับการมีระบบจักรยานสาธารณะนั้นแยกจากกันไม่ออก ตัวคุณซูซานเองคิดว่าควรจะทำไปพร้อมๆกัน หรือมีโครงสร้างพื้นฐานมารองรับก่อน
Photo: The Velib system. Credit: Coyau
แต่จะว่าไปนะครับ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานในกรุงปารีสมันแย่แค่ไหนก่อนจะมี Velib ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าระบบจักรยานสาธารณะสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแค่ในปีแรกที่มีการเอาระบบ Velib มาใช้ จำนวนคนใช้จักรยานในเมืองหลวงของฝรั่งเศสก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๐ ส่วนในเมืองลีอ็อง จำนวนครั้งของการใช้จักรยานก็เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๔ เมื่อมีระบบจักรยานสาธารณะ และที่น่าประทับใจก็คือ ร้อยละ ๙๖ ของคนในเมืองลีอ็องที่หันมาใช้จักรยานสาธารณะนี้เป็นคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยขี่จักรยานในใจกลางเมืองมาก่อน!!!
คุณซูซานชี้ว่า ด้วยการเติบโตอย่างน่าอัศจรรย์นี้ ดูเหมือนว่ามีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะหยุดยั้งมิให้ระบบจักรยานสาธารณะใหญ่ขึ้นๆต่อไปก็คือ การออกกฎหมายบังคับให้ผู้ขี่จักรยานต้องสวมหมวกนิรภัย!!!
มาถึงตรงนี้ คงมีคำถามกันแล้วว่า เมื่อใดกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆในประเทศของเราจะมีจักรยานสาธารณะให้เราใช้ และ “นักจักรยาน” ยังจะเรียกร้องให้ผู้ใช้จักรยานทุกคนต้องสวมหมวกนิรภัยตลอดเวลากันต่อไปหรือไม่


————————————————————————————————————————————

กวิน ชุติมา เรียบเรียงจาก Bike Sharing: Not Just For Europeans ใน ECF Newsletter 05.09.2012

เขียนโดย Julian Ferguson เจ้าหน้าที่สื่อสารของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF)

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น