Home / บทความ / บทเรียนรู้เรื่องเมืองจักรยาน จากยุโรป

บทเรียนรู้เรื่องเมืองจักรยาน จากยุโรป

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2555 ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอีซีเอฟ หรือ ECF ซึ่งเป็นคำย่อของ European Cyclists’ Federation หรือ สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานของยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลมากต่อนโยบายและมาตรการว่าด้วยเรื่องจักรยานของทั้งโลก มาเล่าประสบการณ์ 30 ปี เกี่ยวกับการผลักดันให้เกิดเมืองจักรยานขึ้นในยุโรป ว่าเขาทำได้อย่างไรจึงสำเร็จ ซึ่งหลังจากผู้เชี่ยวชาญผู้นั้นซึ่งชื่อ ดร.เบิร์นฮาร์ท เอ็นซิงค์ และเป็นเลขาธิการของ ECF ได้ลงพื้นที่ลองขี่จักรยานบนถนนในกรุงเทพมหานครในสภาพจริง ก็ให้ข้อสรุปอย่างตรงไปตรงมาในระหว่างแลกเปลี่ยนร่วมกันว่ากรุงเทพของเราเป็นเมืองจักรยานไม่ได้ อย่างน้อยก็ยังต้องอีกนาน
เขาบอกว่าเราจะไปเล็งผลเลิศโดยไปลอกสิ่งที่เราเห็นในโทรทัศน์ หรือจากการไปดูงานบ้านเขา แล้วเอามาใช้ตรงๆไม่ได้ เพราะวิธีคิดของคนสองสังคมนี้ต่างกัน และเขาได้ทำเรื่องนี้มาเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว เมืองของเขาหลายเมืองจึงอยู่ในระดับที่เขาเรียกว่า ‘แชมเปี้ยน’ ในเรื่องเมืองจักรยาน แต่ดูตามสภาพของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพหรือสังคม เราเป็นได้แค่เพียงกลุ่มเริ่มต้นหรือกลุ่มสตาร์ทเตอร์เท่านั้น
สำหรับกลุ่มสตาร์ทเตอร์นี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก อีซีเอฟ บอกว่า ระบบจักรยานที่ควรผลักดันคือระบบที่ใช้เดินทางในระยะทางสั้น ๆ ในละแวกบ้าน ไม่ใช่ระบบจักรยานข้ามเมืองอย่างที่หลาย ๆ คนในบ้านเรากำลังผลักดันและเป็นสิ่งที่ผมเองก็เคยผลักดันและได้เรียนรู้มาด้วยตัวเองว่าไปผิดทางและได้หันกลับมาเน้นทำเรื่องชุมชนจักรยานในละแวกบ้านแทน ซึ่งก็รู้สึกดีว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นคราวนี้มาถูกทางโดยได้รับคำยืนยันจากผู้มีประสบการณ์ตรงแบบคนตัวจริงเสียงจริงในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
บทเรียนรู้ที่ได้จากการพูดคุยกับ ดร.เอ็นซิงค์ คือนอกจากเริ่มที่ละแวกบ้านแล้ว ยังต้องเน้นใน 3 เรื่องคือ 1) ปรับสภาพทางกายภาพ เช่น ถนน ซอย ที่จอด ฯลฯ ให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน 2) ปรับทัศนคติของสังคม คือทำให้จักรยานมีที่ยืนในสังคม และ 3) ส่งเสริมโดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่าทางจักรยานหรือทางเดินที่ปรับปรุงหรือทำขึ้นใหม่นั้นอยู่ที่ใด เพื่อให้ประชาชนมาใช้เพื่อสร้างมวลวิกฤตของคนใช้จักรยานขึ้นในสังคม

ทั้งนี้ โครงสร้างทางกายภาพที่จัดทำขึ้น ต้องพิจารณาในห้าประเด็นดังนี้ คือ 1) ความปลอดภัย (สำหรับเมืองกลุ่มเริ่มต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง) 2) ความตรงของเส้นทาง ซึ่งหมายถึงไม่อ้อมไปอ้อมมา อันทำให้เสียเวลา (เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญในอันดับต้น ๆ สำหรับกลุ่มเริ่มต้นแบบบ้านเราเช่นกัน) 3) ความสะดวก คือไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของเมืองก็มีระบบทางจักรยานที่ปลอดภัยใช้งานได้ และชาวบ้านสะดวกที่จะนำจักรยานออกมาใช้ได้จริง 4) ความสบาย หมายถึง ทางนั้นต้องร่มรื่น เรียบ(ไม่สะดุด) ต่อเนื่อง(ไม่ต้องโดดขึ้นโดดลงตามขอบทางเท้า) ไฟสว่าง ฯลฯ และ 5) ความสวยงามน่าใช้
ส่วนพื้นที่ใดหรือชุมชนใดจะนำระบบจักรยานมาใช้ก็ต้องพิจารณา 3 หัวข้อถัดไปนี้เป็นอันดับแรก คือ 1) ดูว่าถนนใด ซอยใด มีโอกาสทำได้สำเร็จก็ให้เลือกเส้นทางนั้นมาดำเนินการก่อน 2) พยายามทำให้การขับรถยนต์เกิดความไม่สะดวก เช่น มีเนินหลังเต่าขวางกลางถนน ทำให้ถนนแคบลง ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องไปเน้นว่าต้องมีทางจักรยาน เพราะหากรถยนต์วิ่งช้าลงความปลอดภัยต่อการใช้จักรยานก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และ 3) สร้างที่จอดจักรยานในจุดที่สำคัญ เช่น ตลาด ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ ท่าเทียบเรือเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โรงเรียน พื้นที่ธุรกิจ ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดความสะดวกต่อการใช้จักรยานให้มากที่สุด

มายาคติ : การทำทางจักรยานไม่ใช่การทาสีตีเส้นบนถนนหรือทางเท้า

จากนั้นก็มาถึงเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีหลักคิดอยู่ 4 ข้อว่า 1) ควรเลือกกลุ่มเป้าหมายที่พร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมจากไม่ใช้มาใช้จักรยานในการเดินทาง และอย่าไปเสียเวลากับกลุ่มที่ทำอย่างไรเขาก็ไม่เปลี่ยนวิธีคิดหรือพฤติกรรม 2) ต้องประชาสัมพันธ์และตีฆ้องร้องป่าวให้ประชาชนได้รู้ถึงผลงานที่ประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะชักจูงคนให้หันมาใช้จักรยานมากขึ้น ๆ ไปอีก 3) มีกิจกรรมรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและสนใจทางเลือกการเดินทางรูปแบบนี้ และ 4) จัดกิจกรรมจักรยานเพื่อชักชวนคนที่ยังลังเลให้มาลองใช้จักรยานบนถนนในชีวิตประจำวันหรือเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจากประสบการณ์พบกันว่าผู้คนเหล่านี้มักชอบใจและติดใจ และมีโอกาสที่จะมาเป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้ใช้จักรยานต่อไป
ด้วยวิธีการที่เราสามารถเรียนรู้จากสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานของยุโรปเหล่านี้ หากเรานำมาใช้อย่างจริงจังก็คาดหวังได้ว่าเราจะได้ผลในเชิงปฏิบัติ ซึ่งแม้จะไม่สามารถผลักดันจนเป็นเมืองจักรยานขึ้นได้ แต่เราก็จะสามารถใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้จริง

ซึ่งนั่นก็เป็นผลงานเล็กที่ยิ่งใหญ่ต่อชุมชนของเราได้แล้ว

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ตุลาคม 255
5

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น