Home / บทความ / แชมป์จักรยานหุ่นยนต์ประเทศไทย

แชมป์จักรยานหุ่นยนต์ประเทศไทย

เมื่อบ่ายวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์  2555 ณ ลาน Bangkok Racing Circuit ศรีนครินทร์ กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางท้องฟ้าอากาศโปร่งใสเหมาะแก่การทำกิจกรรมกลางแจ้ง บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้จัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย  (BicyRobo Thailand Championship) ขึ้น ซึ่งถือเป็นการจัดครั้งที่สองในประเทศไทยหลังจากที่ได้จัดมาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นได้ถือเป็นครั้งแรกในโลกด้วย โดยได้ใช้งบประมาณโครงการฯครั้งนี้ไปทั้งสิ้น จำนวน  1.7 ล้านบาท
สำหรับวัตถุประสงค์ของการแข่งจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับพอจะสรุปอย่างเป็นทางการได้ดังนี้
      1. สนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนาความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาหุ่นยนต์ของนิสิตนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทย
2. เสริมสร้างศักยภาพในการทำโครงงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ
3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนิสิตนักศึกษาจากต่างสถาบัน ผ่านทางการเข้าร่วมการแข่งขัน
4. สร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตนักศึกษาไทยนำความรู้ภาคทฤษฏีมาปรับใช้ในการทำงานจริง
หลักเกณฑ์ในการตัดสินการแข่งขันครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 รอบคือ รอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งในการแข่งขันรอบคัดเลือกที่มี จำนวน 25 ทีม ผู้เข้าแข่งขันต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดไว้ในเวลาไม่เกิน 10 นาที  โดยเส้นทางการแข่งขันจะไม่มีเส้นชัยแต่จะเป็นการวิ่งวนในสนามแข่ง (ทั้งนี้ รายละเอียดของกติกามีอยู่ว่า ซึ่งผู้เข้าแข่งขันสามารถขอยุติการแข่งขันของทีมตัวเองก่อนเวลาการแข่งขันสูงสุดก็ได้ และในช่วง 5 นาทีแรกผู้เข้าแข่งขันสามารถขอเริ่มต้นใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) ผลของการแข่งขันรอบคัดเลือกจะได้พิจารณาจากการวิ่งครั้งที่ได้คะแนนสูงสุด ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด 15 ทีมแรกได้รับเงินสนับสนุน ทีมละ 20,000 บาท  โดยคะแนนรวมคำนวณจากระยะทางที่วิ่งได้ (เมตร) บวกด้วย 0.2 x เวลาที่จักรยานหุ่นยนต์สามารถทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้ม (วินาที)
ส่วนในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งครั้งนี้เหลือจำนวน 13 ทีม  ผู้เข้าแข่งขันต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับให้วิ่งได้โดยไม่ล้มไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ตามลำดับ และวิ่งวนไปจนหมดเวลา หรือจนได้ผู้ชนะจากการวัดระยะทางหรือจากการได้แซง  ทั้งนี้ในรอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการสนามได้ทำการปล่อยจักรยานหุ่นยนต์ครั้งละ 2 คันพร้อมกัน โดยจุดที่ปล่อยห่างกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของระยะทางเส้นทางการแข่งขัน ทีมที่ถูกไล่หลังจนจักรยานไล่มาอยู่ในระยะห่างน้อยกว่า 20 เมตรจะถือว่าถูกแซงและถูกปรับแพ้ ในกรณีที่ไม่มีการแซงกันเกิดขึ้น การตัดสินได้พิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด 

จุดเด่น ของการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์

นี้คือการทำให้จักรยานสองล้อสามารถทรงตัวได้ด้วยตัวเองโดยไร้คนบังคับและให้วิ่งไปถึงจุดหมายได้ด้วยตัวเอง การทำงานโดยปกติแล้วจะใช้คอมพิวเตอร์สั่งการ และใช้ GPS เป็นตัวควบคุมทิศทางให้รถจักรยานวิ่งไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งความรู้ดังกล่าวนี้มีอยู่แล้วในห้องปฏิบัติการ แต่ในทางปฏิบัติการทรงตัวเองของจักรยานไม่ให้ล้มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีคนจับแฮนด์หรือคันบังคับล้อมาบังคับทิศทาง ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการแข่งขันครั้งนี้จึงถือเป็นการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี ซึ่งแต่ละทีมได้ใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไปตามความคิดและความถนัดของตนเอง

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งก็คือเป็นการพัฒนาศักยภาพสมองของเด็กไทย ให้ฝึกการคิดวิเคราะห์และฝึกความสามารถในการแก้ไขปัญหา  ซึ่งเงื่อนไขหรือปัจจัยที่สำคัญในการคิดค้นและพัฒนาทางเทคโนโลยีในครั้งนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้  1) รถจักรยานต้องวิ่งได้เองโดยไม่มีคนบังคับ  2) ต้องไม่ล้ม  3) ต้องเลี้ยวได้  4) ต้องบังคับทิศทางไม่ให้ตกไหล่ทาง  5) รถจักรยานต้องสามารถวิ่งเลี้ยวไปมาเพื่อไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้  6) ต้องวิ่งด้วยความเร็วที่เหมาะสม และ 7) ต้องสามารถสู้กับแรงลมด้านข้างได้

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ในครั้งนี้  แม้ว่าอาจยังไปไม่ถึงจุดที่สามารถใช้งานได้จริงอย่างสมบูรณ์ แต่ในอนาคตเมื่อเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้แล้ว เราสามารถนำความรู้นี้ไปใช้กับพาหนะของคนพิการ (แขน ขา หูหนวก ตาบอด)ได้  ใช้สำหรับการขนของจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งได้โดยไร้คนบังคับได้ ใช้ขนของที่มีน้ำหนักมากผ่านช่องทางจราจรที่แคบได้ (เนื่องจากจักรยานสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าหุ่นยนต์แบบอื่น) หรือสามารถใช้จักรยานหุ่นยนต์ให้เข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย เช่น บริเวณสนามรบหรือบริเวณที่ต้องสงสัยว่ามีการลอบวางระเบิดเป็นต้น

สำหรับผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศครั้งนั้น  ทีมจักรยานหุ่นยนต์ชนะเลิศที่สามารถคว้าเงินรางวัลเงินสด 150,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ ได้แก่ ทีมเมคา ไบค์  (MECHA BIKE) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลที่สอง ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 100,000 บาท ได้แก่ ทีมไอราป อินดี้ (iRAP_Indy) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ   และทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 50,000 บาทได้แก่ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเช่นกัน ส่วนรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเงินสดจำนวน 50,000 บาท ได้แก่ทีมไมโครโรบ็อต  (Micro Robot) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

จากโครงการนี้ เราจะเห็นได้ว่าจักรยานนอกจากเป็นพาหนะเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาและนักปฏิบัติได้อีกด้วย กิจกรรมเช่นนี้จึงเป็นอีกแรงหนุนหนึ่งที่มีส่วนส่งเสริมให้การใช้จักรยานในวิถีชีวิตจริงในสังคมไทยเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่งที่ไม่นานไปจากนี้

พย์มล  ไตรยุทธ

ตุลาคม 2555

ที่มาของข้อมูล : รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันและ
อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์  ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์  บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด 

 

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น