Home / บทความ / ขอโทษทีคร้าบ…ผมผิดไปแล้ว

ขอโทษทีคร้าบ…ผมผิดไปแล้ว

ขอโทษทีคร้าบ…ผมผิดไปแล้ว

       ผมได้รณรงค์เรื่องเดินและจักรยานมายี่สิบปีเศษแล้ว และได้เสนออะไรต่ออะไรไปหลายอย่าง มีทั้งเรื่องแผนที่เส้นทางจักรยาน การลบขอบทางเท้า การใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ฯลฯ และได้เสนอไปทั้งหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งต่อสังคมโดยรวม ทำไปแบบเรียนรู้ไปเพราะไม่มีครู ไม่มีที่ปรึกษา แต่พอได้เรียนรู้มากขึ้นโดยเฉพาะกับประเทศที่เขาเอาจริงเอาจังและประสบความสำเร็จกับเรื่องเดินและจักรยานอย่างที่ยุโรปและญี่ปุ่น ถึงได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเสนอไปก่อนหน้านั้นบางเรื่องก็ผิดหรือไม่เหมาะสมกับสภาพของบ้านเรา สิ่งที่ผิดๆ เหล่านั้นมีอะไรบ้าง ผมขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

  1. จักรยานต้องราคาถูกๆ: – ข้อนี้เป็นข้อแรกที่ผมอยากพูดถึง สมัยก่อนผมคิดว่าหากต้องการให้คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งรวมถึงชาวบ้านธรรมดาหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ต้องรณรงค์โดยใช้จักรยานราคาไม่แพง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด แต่เรื่องมีอยู่ว่า บางคนเลยไปใช้จักรยานที่ราคาถูกสุดๆ ราคา 700-800 บาท ซึ่งทำให้คุณภาพจักรยานไม่ดี เสียหรือพังง่าย ซึ่งเมื่อพังแล้วก็หาช่างซ่อมลำบาก จักรยานหลายคันจึงกลายเป็นซากหมกทิ้งอยู่หลังบ้านและการรณรงค์จักรยานจึงพาลจะไม่สำเร็จเอาเพราะภาพลักษณ์มันไม่ดี                             

 

       บทเรียนสำหรับข้อนี้ คือ อย่าซื้อจักรยานโดยมุ่งราคาถูกสุดอย่างเดียว มันจะไม่จีรัง จักรยานแม่บ้านญี่ปุ่นมือสองราคาประมาณ 2,500-3,500 บาท (อาจมีได้ถึง 3-5
เกียร์) น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสม ใช้งานได้นานและคุ้มกว่า

   2. ทำแผนใหญ่ ทำทางจักรยานผ่าเมือง:- นี่เป็นเรื่องที่สองที่ผมทำผิดพลาดไป เพราะอ่านจากหนังสือ ศึกษาจากไปดูงานต่างประเทศ ก็เห็นทางจักรยานกว้างๆ ดีๆ วิ่งได้ทั่วเมือง แบบ
จากพระโขนงไปพระนคร บางกระเจ้าไปบางกะปิ ราชวงศ์ไปราชพฤกษ์ วิ่งจากชนบทหนึ่งไปอีกชนบทหนึ่ง ก็อยากได้อย่างเขาบ้าง โดยหารู้ไม่ว่า มันทำไม่ได้ อย่างน้อยในช่วงแรกๆ
ก็ทำไม่ได้ (มิน่าล่ะถึงได้มีแรงต้านจากทุกองค์กร) จึงเสียแรงอยู่กับเรื่องนี้ไปเป็นสิบปี

        รูปแผนที่เส้นทางจักรยานผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ผมเคยเสนอให้กทม. ทำเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว (แต่สำเร็จไม่ได้)

บทเรียนรู้:- ทำง่ายๆ ทำในละแวกบ้าน ไม่ไกล ทำแล้วคนท้องถิ่นใช้ได้จริง อย่าไปทำทางจักรยานข้ามเมืองเพราะนั่นมีไว้สำหรับนักจักรยานเก่งๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่
มากเมื่อเทียบกับคน กทม. 8-10 ล้านคน

3. ต้องใส่หมวกกันน็อก:- ตอนผมเริ่มรณรงค์เรื่องจักรยานใหม่ๆ ผมบอกว่าทุกคนต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขี่จักรยาน มิฉะนั้นจะไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และที่คิดอย่างนี้เพราะผมเอาไป
ผูกโยงอยู่กับข้อ 2 คือขี่จักรยานไกลๆ แบบข้ามเมือง และขี่ฝ่าจราจรที่อันตรายบนถนนในเมือง แต่พอเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นแบบใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านธรรมดาในระยะ
ใกล้ๆ ซึ่งอาจเพียงไปต่อรถเมล์ ต่อเรือ ต่อบีทีเอส ความคิดเรื่องหมวกกันน็อกของผมก็เปลี่ยนไป

บทเรียนรู้:- หมวกกันน็อกช่วยป้องกันอันตรายได้จริง แต่ไม่ได้บอกว่าใช้หมวกนี้แล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุและไม่อันตราย อันตรายไม่ได้เกิดขึ้นที่หัวอย่างเดียว เกิดที่
หัวใจ ท้อง หลัง ขา ฯลฯ ได้หมด ทางที่ดี(โดยเฉพาะสำหรับชาวบ้านใช้จักรยานในละแวกบ้าน) คือ ใช้อย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ หากต้องเสียเงินเป็นค่าหมวกกันน็อกอีกในราคาเป็นพันบาท การชักจูงคนธรรมดาให้หันมาใช้จักรยานก็จะยากขึ้นไปอีก ปัจจุบันแค่นี้ก็ยากพออยู่แล้ว

4. การแต่งกาย:- นี่ก็เหมือนกันที่ผมเอาไปผูกโยงกับเรื่องจักรยานข้ามเมือง และขี่จักรยานท่องเที่ยวทางไกลๆ แบบกทม.ไปเที่ยวเชียงใหม่อะไรแบบนั้น ซึ่งคนที่สามารถทำได้ คือ นัก
จักรยานเท่านั้น หาใช่ชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดาไม่ ในสมัยก่อนบางครั้งผมจึงติดจะแต่งตัวค่อนข้างไปทาง’เว่อร์’ คือ แต่งแบบเป็นนักจักรยานเต็มตัว ซึ่งจะว่าไปจริงๆ แล้วผมก็เป็นนัก
จักรยานตัวยงแบบตัวจริงเสียงจริง ขี่แข่งได้ถ้วยมาแล้วก็เคย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผมจะแต่งตัวแบบนั้น

บทเรียนรู้:- ถ้าจะผลักดันให้เกิดชุมชนจักรยาน หรือหมู่บ้านจักรยาน เราต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านและชุมชน การแต่งกายจึงต้องทำให้สอดคล้องกลมกลืน
กับวิถีชีวิตของเขา ลองคิดดูว่าหากชาวบ้านต้องแต่งตัวแบบนักจักรยาน เมื่อขี่จักรยานไปจอดและต่อรถเมล์ ใครเขาจะทำ แม้แต่นักจักรยานเองก็เถิดก็คงไม่มีใครทำ
(แต่งตัวแบบนักจักรยานไปต่อรถเมล์)

5. ทำเรื่องท่องเที่ยวมากไป:-  สมัยนั้นกระแสจักรยานในประเทศไทยยังไม่เกิด ผมมีความคิดว่า การจะสร้างกระแสได้ก็ต้องสร้างความสนใจให้เกิดขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวด้วยจักรยานก็
สามารถสร้างความสนใจที่ว่านี้ได้อย่างมีสีสัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ผิดนิดเดียวตรงที่ว่า ผมลืมย้อนกลับมาดูวิธีคิดตั้งต้นของตัวเองที่ต้องการสร้างชุมชนจักรยานในชุมชน กระแสจึง
เหวี่ยงไปในการท่องเที่ยวจนเลยเถิดไปบ้าง

บทเรียนรู้:- การท่องเที่ยวด้วยจักรยานเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ไม่ดี ยังต้องทำกันต่อไป แต่ต้องหันมาเน้นที่จักรยานในชุมชนและสำหรับชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะกระแส
ส่วนนี้ยังปลุกไม่ขึ้น

6. ทำเรื่องจักรยานมากกว่าเดิน:- เรื่องจักรยานนี้อย่างไรเสียก็ต้องเกี่ยวกับการเดิน เพราะมักต้องไปใช้ทางเท้าร่วมกับคนเดิน และทางเท้าที่เดินได้ดีก็ใช้จักรยานได้ดีตามไปด้วย ซึ่งผมก็
ได้เน้นทำทางเท้าที่ดีมาตั้งแต่แรก แต่กระแสเรื่องเดินมันสร้างสีสันได้ยาก ผู้คนมักไม่สนใจ ผมเองก็เผลอไผลไปกับความมันและเสน่ห์ของจักรยาน จนทำกิจกรรมเรื่องเดินน้อยไปกว่า
ที่ควรได้ทำ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางเท้าไทยยังไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้คนใช้จักรยานยังมีขีดจำกัดของการใช้งานของมันอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็ในช่วงนี้

บทเรียนรู้:- ใส่ความสนใจทั้งด้านการหาข้อมูล การจัดการความรู้ การจัดกิจกรรมด้านการเดินให้มากขึ้น ง่ายๆเพียงเท่านี้ แต่รู้เลยว่าทำยาก

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์

พฤศจิกายน 2555

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น