Home / บทความ / การใช้จักรยานเพิ่มสิบเท่าในเมืองเซบิลหลังเสร็จระบบทางจักรยานที่ปลอดภัย

การใช้จักรยานเพิ่มสิบเท่าในเมืองเซบิลหลังเสร็จระบบทางจักรยานที่ปลอดภัย

การใช้จักรยานเพิ่มสิบเท่าในเมืองเซบิลหลังสร้างระบบทางจักรยานที่ปลอดภัย

(เนื่องจากภายในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ๒๕๕๖ ที่จะถึงนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการซึ่งจะได้เลือกคณะผู้บริหารของตนเองเข้ามาทำงานในลักษณะเดียวกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นโอกาสที่คณะผู้บริหารชุดใหม่นี้จะได้เสนอนโยบายและมีเวลานำไปปฏิบัติให้เห็นผลเป็นเวลาสี่ปี การทำให้กรุงเทพฯ เป็น “เมือง(ที่เป็นมิตรกับ)จักรยาน” จึงอาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจ และมีหลายเมืองที่กทม.สามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ได้ ครั้งนี้จะยกเอาเมืองเซบิลในประเทศสเปนมาเป็นตัวอย่างกรณีศึกษา – ผู้เรียบเรียง)

           เมืองใดที่คิดจะเอาจริงเอาจังในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันควรจะหันไปมองดูเมืองเซบิลในประเทศสเปนเป็นแบบอย่าง  ในเวลาเพียงหกปี เมืองที่ไม่น่าจะเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการใช้จักรยานได้ทำสำเร็จในสิ่งที่เมืองเพียงไม่กี่แห่งในโลกทำได้ นั่นคือเพิ่มจำนวนคนที่ใช้จักรยานขึ้นสิบเท่า  จำนวนการเดินทางด้วยจักรยานที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันที่มีน้อยกว่า ๕,๐๐๐ ครั้งในปี ๒๕๔๙ หรือเพียงร้อยละ ๐.๕ ของจำนวนครั้งการเดินทางทั้งหมดในเมืองนี้ในแต่ละวัน ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นวันละ ๗๒,๐๐๐ ครั้งหรือประมาณร้อยละ ๗ ในปี ๒๕๕๕

          ความสำเร็จดังกล่าวนี้เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็มาจากเครือข่ายของเส้นทางจักรยานที่เชื่อมต่อกันเป็นอย่างดีแบบที่ทำกันในประเทศเนเธอร์แลนด์ และระบบการให้เช่าจักรยานที่มีจักรยาน ๒,๕๐๐ คัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีขึ้นมาได้ก็จากฝีมือของนักการเมืองที่มุ่งมั่นจะกระตุ้นให้ชาวเมืองเดินทางด้วยจักรยานมากกว่ารถยนต์

          ยาน เกห์ล (jan Gehl) สถาปนิกผู้มีส่วนในการออกแบบระบบเครือข่ายทางจักรยานนี้บอกว่า มันถูกออกแบบให้เข้ากับคนที่นั่น และสภาพของเมืองเซบิลที่มีถนนแคบๆ มีจัตุรัสหลายแห่ง และมีสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาน่าตื่นเต้นของเมืองที่ตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปอาฟริกาแห่งนี้ โดยมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนๆกับนครใหญ่จำนวนมากในยุโรปที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว นั่นคือการที่ถนนโบราณของเมืองเซบิลได้รับการออกแบบไว้ให้ใช้สำหรับการเดินทางด้วยเท้าและด้วยม้า ไม่ใช่ยานยนต์นอกจากนั้นเมืองนี้ยังมี “ชั่วโมงเร่งด่วน” ถึงวันละสี่ครั้งเนื่องจากคนที่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งหลายจะพากันกลับบ้านไปนอนพักตอนกลางวัน จึงไม่น่าแปลกเลยที่ถนนแคบๆของเมืองนี้จะมีจราจรติดขัดไปหมด

           แต่ในปี ๒๕๔๘ โฮเซ่ การ์เซีย เซเบรียน (Jose Garcia Cebrian) หัวหน้าฝ่ายผังเมืองและที่อยู่อาศัยของสภาเมืองเซบิล เชื่อว่าหากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม จักรยานก็จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของเมืองนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เซเบรียนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากจะให้สำเร็จผล ทางจักรยานจะต้องต่อเนื่องกันเป็นเครือข่ายที่คนในเมืองนั้นใช้ได้จริงๆ เซเบรียนจึงไปหามานูเอล คาลโว ผู้เป็นที่ปรึกษาในด้านกิจการเมืองและเคยเป็นนักชีววิทยาด้วย ให้ช่วยออกแบบเครือข่ายนั้นและเอามาดำเนินการอย่างรวดเร็ว และย้ายความรับผิดชอบในเรื่องจักรยานจากสำนักการจราจรไปยังสำนักผังเมือง ทำให้โครงการมีพลังมากขึ้น

           คาลโว ซึ่งทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาเอสทูดิโอ เอ็มซี มองเมืองเป็นดั่งร่างของสิ่งมีชีวิต และเชื่อว่า ทางจักรยานจะต้องอยู่ในที่ที่คนจะใช้มันสำหรับการเดินทางได้ตลอดเส้นทาง เช่น ตามเส้นทางที่มีอยู่แล้ว มากกว่าอยู่ในที่ที่จะสะดวกแก่รถยนต์

           เอ คอนทรามาโนชมรมจักรยานของเมืองเซบิล ได้ผลักดันระเบียบวาระเรื่องจักรยานในเมืองนี้มาตั้งแต่ก่อตั้งในปี ๒๕๓๐ ริคาร์โด มาเควส ซิลเลโร (Ricardo Marques Sillero) ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตประธานของเอคอนทรามาโน กล่าวว่า

“เรารู้สึกว่า กุญแจหนึ่งของความสำเร็จในเซบิย่าคือการสร้างเครือข่ายพื้นฐานยาว ๘๐ กิโลเมตรขึ้นมาในเวลาเพียงปีเดียว และสร้างส่วนต่อขยายจากส่วนแรกนั้นยาวรวม ๑๒๘ กิโลเมตรในอีกสามปีต่อมา”

       นายซิลเลโรซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเซบีย่า และทำงานในโครงการส่งเสริมการใช้จักรยานด้วย กล่าวเสริมว่าความลับเบื้องหลังความสำเร็จของเมืองนี้คือการได้รับแรงหนุนหลังทางการเมือง

“ความมุ่งมั่นทางการเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง บางครั้งนักการเมืองอยากจะตรวจดูก่อนว่าความคิดนั้นให้ได้ไหม เป็นต้นว่าสร้างทางจักรยานที่โดดเดี่ยวหนึ่งหรือสองเส้นก่อนที่จะตัดสินใจให้เด็ดขาดขึ้น แต่ทางจักรยานที่โดดเดี่ยวก็เกือบจะไม่มีประโยชน์อะไรหากว่ามันไม่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายขึ้นมาตั้งแต่ต้น เมื่อไม่เป็นเครือข่าย คนก็ไม่ใช้มันและนักการเมืองก็จะผิดหวัง”

ทำให้คนที่ใช้จักรยานเดินทางรู้สึกปลอดภัย

     เขากล่าวต่อไปว่า ทางจักรยานจะปลอดภัยได้เท่ากับส่วนที่อันตรายที่สุดของมัน และคนจะใช้เส้นทาง(จักรยาน)หนึ่งใดก็ต่อเมื่อมันปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นไปจนสิ้นสุดการเดินทาง  ขณะนี้คนที่ใช้จักรยานแบ่งปันการใช้พื้นที่ถนนร่วมกับการจราจรที่เคลื่อนไปช้าๆ ในย่านเก่าของเมือง ซึ่งถนนแคบกว่า ในขณะที่ในย่านใหม่ๆของเมืองที่มีถนนกว้างกว่าและการจราจรเคลื่อนไปเร็วกว่า ผู้ใช้จักรยานจะมีทางจักรยานที่แยกออกไปต่างหากจากถนนที่รถยนต์ใช้อย่างที่ทำกันในประเทศเนเธอร์แลนด์  เมื่อทางจักรยานตัดข้ามทางเท้า คนเดินเท้าจะได้สิทธิก่อน และผู้ใช้จักรยานจะได้สิทธิก่อนเมื่อทางจักรยานตัดกับถนนที่รถยนต์ใช้

     นักวิจารณ์อาจจะเยาะเย้ยว่าทางจักรยานจำนวนมากเป็นแบบสองช่องทางในเส้นเดียวคือให้จักรยานแล่นสวนกัน ในขณะที่ทางจักรยานที่ดีที่สุดคือแบบหนึ่งช่องทางอยู่คนละข้างถนน บางเส้นทางก็ค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับทางจักรยานที่ดีที่สุดในเนเธอร์แลนด์ กระนั้นก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสำหรับชาวเมืองเซบิลแล้ว เครือข่ายทางจักรยานที่ทำขึ้นใหม่นี้ให้ประโยชน์กับเมืองมากๆ

     จอร์เก้ ซานเชซ ผู้เกิดในเซบิลและเคยใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนกับมาดริดด้วย กล่าวถึงการแปรเปลี่ยนไปของนครแห่งนี้ว่า

“ตอนนี้เซบิลเป็นเมืองที่สะอาดกว่าเขียวกว่าแต่ก่อน รู้กันดีว่าคนขับรถในเซบิลขับรถเร็วเกินไป เดี๋ยวนี้ย่านใจกลางเมืองวุ่นวายน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการค่อยๆ เปลี่ยนถนนมาเป็นทางเท้ามากขึ้นๆ ผมเคยขี่จักรยานในลอนดอนและขี่จักรยานในเซบิลตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ทางจักรยานทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยได้ง่ายขึ้น”

     ไม่เพียงแต่จำนวนจักรยานที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นที่ได้แสดงให้เห็นผลในทางบวก ประเภทของคนที่ใช้จักรยานก็หลากหลายมากด้วย

“คุณสามารถเห็นได้เลยว่ามีคนวัยเยาว์และผู้สูงวัยใช้จักรยานกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำลายมายาคติที่ว่า การขี่จักรยานเป็นสิ่งที่ “อันตราย” ชัดเจนเลยว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จำนวนคนที่ใช้จักรยานค่อยๆเพิ่มขึ้นเนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าปลอดภัยจากการจราจร  น้องสาวของผมเคยคิดว่าการใช้จักรยานไปไหนมาไหนไม่เหมาะกับเธอ ผมก็เลยกระตุ้นให้เธอไปหาจักรยานมาสักคันและใช้โครงสร้างพื้นฐานที่เรามี ทุกวันนี้เธอไม่ใช้รถยนต์ไปทำงานอีกต่อไปแล้ว  คนที่ใกล้ชิดกับผมบอกว่าการใช้จักรยานทำให้รู้สึกผ่อนคลายหลังจากทำงานมาอย่างยาวนานทั้งวัน อีกทั้งถูกกว่า และทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้น วันไหนที่พวกเขาไม่ได้ขี่จักรยาน พวกเขาจะมีอารมณ์บูด”

      ตัวเลขยังยืนยันข้อดีของการสร้างระบบเครือข่ายทางจักรยานด้วยในแง่ผลตอบแทนของการลงทุน เครือข่ายทางจักรยานที่ใช้ค่าก่อสร้าง ๓๒ ล้านยูโรพาผู้ใช้จักรยาน ๗๒,๐๐๐ คนเดินทางไปที่ต่างๆในวันธรรมดาแต่ละวัน ในขณะที่ระบบรถไฟใต้ดินของเมืองซึ่งมีค่าก่อสร้าง ๖๐๐ ล้านยูโร พาคนเดินทางเพียง ๔๐,๐๐๐ คนในแต่ละวัน  

        ขณะเดียวกัน ระบบการให้เช่าจักรยานของเซบิลซึ่งมีชื่อว่า “เซวิชี” (Sevici) มีสถานีมากกว่า ๒๕๐ แห่งกระจายอยู่ทั่วเมือง รวมทั้งในเขตชานเมือง ทำให้มันเป็นระบบการให้เช่าจักรยานที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของยุโรปสำหรับเมืองที่มีประชากรราวหนึ่งล้านคน

        ความสำคัญของการนำทางการเมืองในการเพิ่มการใช้จักรยานถูกเน้นให้เห็นชัดเมื่อเร็วๆนี้จากการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารของเมืองมาเป็นชุดใหม่ที่มีท่าทีเป็นบวกน้อยลงในการส่งเสริมการใช้จักรยาน ซึ่งยังผลให้มีการปิดสำนักงานการใช้จักรยานของเมือง และมีการดำเนินนโยบายที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จักรยานมาก่อนการเพิ่มการใช้จักรยานในหมู่ชาวเมืองเอง นอกจากนั้นค่าเช่าจักรยานของเซบิลสูงขึ้นร้อยละ ๒๑ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าตั๋วสำหรับขนส่งมวลชนชนิดอื่นๆของเมืองที่ขึ้นไปเพียงร้อยละ ๑๐ (ซึ่งคล้ายกับการขึ้นค่าเช่าจักรยานเป็นสองเท่าของระบบให้เช่าจักรยานที่กรุงลอนดอน)

        ถึงแม้ว่าจะมีความสำเร็จอย่างสำคัญนับแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ผู้รณรงค์ให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในเมืองเซบิลก็ยังต้องล็อบบี้อย่างหนักเหมือนในอดีตเพื่อที่จะให้การปฏิวัติจักรยานที่ยอดเยี่ยมนี้ก้าวรุดหน้าต่อไปอย่างมั่นคง

กรณีศึกษาที่ ๑: มอร์เว็น บราวน์

      มอร์เว็น (ผู้หญิงในภาพทางซ้ายกับลูกชายชื่อแจ็ค) เป็นช่างภาพ อาสาสมัครที่ทำงานให้องค์กรการกุศล และคุณแม่ที่อาศัยอยู่ในลอนดอน เธอเช่าจักรยานเซวิชีในเซบิลมาใช้เมื่อปีที่แล้ว

“ฉันคิดว่าการขี่จักรยานในเซบิลนั้นยอดเยี่ยม ไม่ซับซ้อน แล้วก็ปลอดภัยมากๆ เพราะมีบางสิ่งบางอย่างมาแยกคุณออกจากรถยนต์ตลอดเวลา ทางจักรยานก็ยาวและคงเส้นคงวา หมายความว่าฉันสามารถไปถึงจุหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องออกมาขี่จักรยานปะปนกับรถยนต์ในกระแสการจราจรเลย ผู้ใช้จักรยานยังได้รับความเคารพจากคนขับรถเท่าๆกับที่คนขับรถมีให้กัน ถ้าไม่มากกว่า” เมื่อถูกขอให้เปรียบเทียบกับการเดอินทางในย่านตะวันออกของลอนดอน เธอบอกว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้หรอก ฉันพบว่าการขี่จักรยานในลอนดอนนั้นเครียดแล้วก็อันตราย ฉันเพิ่งถูกชนตกจักรยานเมื่อเร็วๆนี้เอง”

กรณีศึกษาที่ ๒: คาร์ลอส อมาริลโล แฟร์นานเดซ

       คาร์ลอส (ผู้ชายในภาพทางขวา) เป็นผู้จัดการของ BiciActiva ซึ่งเป็นร้านจักรยานที่มีจักรยานให้เช่าในเมืองเซบิล ในขณะที่บริษัทลูกพี่ลูกน้อง Rentabikesevilla ซึ่งจัดการท่องเที่ยวด้วยจักรยานเป็นประจำทุกวันและมีจักรยานให้เช่าในเมืองด้วย  บริษัทนี้ยังเป็นผู้จัดการระบบ “รถประจำทาง+บิชี” (Bus+Bici) ซึ่งมีจักรยานให้เช่าแบบไม่คิดมูลค่า ๒๐๐ คันสำหรับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ  BiciActivaทำงานกับบริษัทเดินทางท่องเที่ยวที่จัดการท่องเที่ยวด้วยจักรยานเป็นกลุ่มๆ โดยมีแผนที่จะจัดการขี่จักรยานท่องเที่ยวในวันหยุดรอบๆแคว้นแอนดาลูเชีย

การก่อสร้างทางจักรยานเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเมืองนี้เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันปลอดภัยขึ้นแล้วตอนนี้และคุณสามารถไปไหนมาไหนทุกแห่งได้ด้วยจักรยาน ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้ใช้จักรยานบนท้องถนนมากขึ้นและมีคนอีกมากที่มีแนวโน้มว่าจะออกมาใช้จักรยานด้วย” แต่เขาก็กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทอย่าง BiciActiva ตอนนี้ต้องมาดิ้นรนต่อสู้กับระบบเซวิชี เพื่อให้ส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยว

    บทเรียนจากเมืองเซบิลดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำว่า หากผู้ที่อาสาตนมารับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีความปรารถนาและความตั้งใจจริงๆที่จะให้ชาวเมืองใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น พวกเขาก็ต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายที่จะสร้างระบบทางจักรยานที่ปลอดภัย น่าใช้ และเมื่อได้รับเลือกก็ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและดูแลใช้ได้จริง มิเช่นนั้นคำพูดของพวกเขาก็จะเป็นได้แค่ลมปากและคำสัญญาที่ว่างเปล่า

 

  กวิน ชุติมา

เรียบเรียงจาก Cycling increased tenfold in Seville after construction of miles of bike tracks

เขียนโดยลอรา เลคเกอร์ ในนิตยสาร London Cyclist ฉบับคริสมาสต์ 2012

 

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น