ผู้ที่ใช้จักรยานในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ
1.กลุ่มคนใช้จักรยาน
2.กลุ่มนักจักรยาน (Cyclist)
3.กลุ่มนักแข่งจักรยาน (Racer) และ
4.กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบจักรยาน
ในจำนวนนี้กลุ่มแรกจะมีมากที่สุด และจะมีความชำนาญในการใช้จักรยานบนถนน ซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ ความต่อเนื่อง และสามารถใช้งานได้จริง
อาจารย์ธงชัย (ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์) ย้ำว่า คนที่ปั่นจักรยานในบ้านเราต่างกับในต่างประเทศอย่างมาก ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ จะปั่นจักรยานทางไกลไปกลับถึง 20-40 กิโลเมตร และในประเทศที่ใช้จักรยานกันในชีวิตประจำวัน เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น จะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสวมหมวกกันน็อค เพราะไม่ใช่นักแข่งจักรยาน
การรณรงค์ให้ใช้จักรยานจึงไม่ใช่แค่ผลักดันให้มีทางจักรยานเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างเส้นทางจักรยานที่เหมาะสมกับคนไทย คือ เส้นทางย่านแหล่งชุมชน จากบ้านไปสู่ร้านค้า ตลาดสด ศูนย์การค้า โดยผู้ใช้จักรยานสามารถขี่จักรยานไปจับจ่ายซื้อของ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ และหากจะให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก สถานที่เหล่านั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับจอดจักรยาน ฉะนั้น กรุงเทพมหานครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรออกเป็นกฎกติกาว่า เมื่อมีศูนย์การค้า ตลาดสด หรือแหล่งชุมชน ต้องมีพื้นที่จอดจักรยานอยู่ด้วยเสมอ
“ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของผู้บริหาร ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเรื่องทางกายภาพหรืองบประมาณ แต่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องทำให้เป็นตัวอย่างก่อน และจะต้องทำเป็นนโยบายอย่างจริงจัง แม้วันนี้จะมีเส้นทางจักรยานมากกว่าที่คาด แต่ก็ยังได้ไม่เท่าที่หวัง เพราะไม่มีใครให้ความสำคัญ แต่หากเป็นไปได้ขอเสนอแนะว่า ทางจักรยานที่จะสร้างขึ้นในอนาคต ควรมีการป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ด้วย เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถบีอาร์ที รถประจำทาง แท็กซี่ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด” อาจารย์ธงชัย กล่าว
เขาบอกด้วยว่า การใช้จักรยานจะช่วยอำนวยความสะดวกได้ชนิดที่เรียกว่า “ดอร์ทูดอร์” ซึ่งหมายถึงจากประตูบ้่านถึงประตูที่ทำงาน และจุดหมายปลายทางอื่นๆ ตามที่ต้องการ แต่สำหรับพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่เติบโตไปอย่างไร้ทิศทาง ทั้งในด้านของผังเมืองและระบบการจราจรและขนส่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน กล่าวคือ
- “แผนระยะสั้น” ให้ดัดแปลงทางเท้าหรือบาทวิถีที่มีอยู่เดิมให้เป็นทางจักรยาน โดยปรับพื้นผิวให้เรียบ และปรับให้มีเชิงลาดขึ้นลงตามหัวท้ายของบาทวิถีทุกทางเชื่อมทางแยก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเดินทางด้วยจักรยาน และไม่ต้องกังวลว่าคนเดินเท้าจะใช้ทางร่วมกับจักรยานไม่ได้ เพราะจักรยานใช้ความเร็วต่ำ จึงเกิดอุบัติเหตุได้ยาก นอกจากนี้ควรจัดพื้นที่สำหรับจอดจักรยานให้กระจายทุกมุมเมือง ซึ่งเบื้องต้นเพียงลงทุนทำราวเหล็กสำหรับคล้องโซ่ได้เท่านั้น หรือหากบริเวณใดมีความหนาแน่นของการใช้จักรยานมาก ให้จัดสร้างเป็นลานจอดจักรยาน 2 ชั้น
- สำหรับ “แผนระยะกลาง” การสร้างทางจักรยานเฉพาะ เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยาน สามารถจัดสร้างได้ตามแหล่งที่ว่าง เช่น ทางจักรยานเลียบคลอง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งในอดีตได้ชื่อว่าเป็นเวนิชตะวันออก สามารถสร้างให้เชื่อมต่อกันได้เกือบครอบคลุมพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ว่างใต้ทางด่วน ใต้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง สร้างทางจักรยานเชื่อมต่อสวนสาธารณะ พร้อมทั้งจัดสร้างสถานที่จอดจักรยานตามสถานีขนส่ง เพื่อเป็นการเชื่อมระบบการเดินทาง และสร้างศูนย์บริการซ่อมบำรุงจักรยานไว้ตามแนวเส้นทางจักรยาน
- ส่วน “แผนระยะยาว” คือ พิจารณาสร้างทางจักรยานให้ครบวงจรทั้งระบบ ส่วนรูปแบบให้พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ หรืออาจต้องพิจารณาจากต้นแบบในต่างประเทศ ที่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จด้วยดี ขอเพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่และมีความเชื่อมั่นว่า จักรยานสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
เพราะทางจักรยานไม่ใช่แค่ความฝัน…แต่ต้องร่วมกันพัฒนา
เอกสารอ้างอิง:
ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และพรชัย ลีลานุภาพ. (2536). จักรยานกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม. ใน สิ่งแวดล้อม ’36 การสัมมนา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ครั้งที่ 4 วันที่ 18-19 ธันวาคม พ.ศ. 2536 (หน้า 249-268). กรุงเทพฯ: ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์.
น.รินี เรืองหนู. (2553, พฤศจิกายน). ปั้นฝันทางจักรยาน: บทเรียนจากยุโรป. ใน พิเชษฐ์ ชูรักษ์, เมื่อปลาจะกินดาว 10. (72-97). นนทบุรี: มติชนปากเกร็ด.
น. รินี เรืองหนู