นีลส์ เอ็กลุนด์ แห่งมหาวิทยาลัย Aarhus ในประเทศเดนมาร์ค ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร การออกกำลังกาย และการมีสมาธิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีชื่อว่า “การทดลองมวลชน ๒๐๑๒” (Mass Experiment 2012) ที่ศึกษาเด็กชาวเดนมาร์คอายุ ๕ ถึง ๑๙ ปี เกือบ ๒๐,๐๐๐คน และพบว่าผลออกมาผิดจากความคาดหมายของเขา นั่นคือการออกกำลังกายมีผลต่อการมีสมาธิมากกว่าอาหาร แม้ว่าการกินอาหารเช้าและอาหารกลางวันมีผลแน่นอน แต่ก็ไม่มากเท่าการออกกำลังกาย เด็กที่ขี่จักรยานหรือเดินไปโรงเรียนจะมีสมาธิเพิ่มขึ้นจากปกติต่อไปนานอาจมากถึงสี่ชั่วโมง
“ถ้าคุณเป็นเด็กประถม ๓ ออกกำลังกาย ขี่จักรยานไปโรงเรียน ความสามารถที่จะมีสมาธิของคุณจะเพิ่มขึ้นเท่ากับคนที่เรียนไปก่อนหน้าถึงครึ่งปี… ผมเชื่อว่าลึกๆลงไปแล้ว โดยธรรมชาติและการกำเนิด มนุษย์เราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งอยู่เฉยๆ เราเรียนผ่านหัวของเราและด้วยการเคลื่อนไหว มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นภายในร่างกายเมื่อเราเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้เราพร้อมมากขึ้นในการทำงานที่จะต้องใช้หัวสมอง” คุณนีลส์ผู้ทำการวิจัยกล่าว
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนรายงานด้วยว่า ในอังกฤษ เด็กประถมและเด็กมัธยมขี่จักรยานไปโรงเรียนเพียงร้อยละ ๑ และร้อยละ ๒ เท่านั้น และโรงเรียนยังไม่สนับสนุนอีกต่างหาก โดยยกตัวอย่างกรณีของเด็กชายแซม โอเช อายุ ๑๑ ปีที่โรงเรียนประถมเซ็นต์พอลในเมืองพอร์ธสมัธสั่งห้ามไม่ให้ขี่จักรยานไปโรงเรียน โดยอ้างว่าไม่มีที่เก็บจักรยานและถนนรอบๆโรงเรียนนั้นอันตราย ถึงแม้ว่าแอนเจล่า คุณแม่ของแซมจะพยายามโต้แย้งอยู่หลายเดือนว่ามันปลอดภัยเพราะระยะทางที่แซมขี่ไปโรงเรียนก็เพียงหนึ่งไมล์หรือราว ๑,๖๐๐ เมตรเท่านั้นและส่วนใหญ่แซมก็ขี่อยู่ในทางจักรยาน โดยที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มาประเมินความเสี่ยงก็สนับสนุนแอนเจล่าว่าปลอดภัยพอที่แซมจะขี่ไปเองได้ เดอะการ์เดี้ยนเปิดเผยว่า โรงเรียนออกมาคัดค้านการขี่จักรยานไปโรงเรียนของเด็กเช่นนี้ในขณะที่ตนเองกลับจัดการออกกำลังกายให้เด็กน้อยลงไปเรื่อยและเด็กอังกฤษกำลังประสบปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
หันมาที่เมืองไทยบ้าง จากในอดีตที่เด็กส่วนใหญ่เดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนเองมาเป็นการเดินทางด้วยยานยนต์ ขณะนี้ที่สำคัญเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ เราเริ่มเห็นเด็กขี่จักรยานไปโรงเรียนเองหรือผู้ปกครองขี่จักรยานไปส่งมากขึ้น แม้จะยังเป็นส่วนน้อยมากๆ ถึงเวลาหรือยังที่กระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนต่างๆ ควรส่งเสริมให้เด็กขี่จักรยานและเดินไปโรงเรียนกันอย่างจริงจัง เปลี่ยนทัศนคติทั้งของครูอาจารย์และผู้ปกครองที่ว่าการขี่จักรยานเสี่ยงต่ออันตราย ซึ่งเป็นการคิดแบบยอมแพ้โดยไม่แก้ปัญหาอะไร มาเป็นการหาทางทำให้ขี่จักรยานได้ปลอดภัยมากขึ้น อาจารย์ดวงใจ สุภาพึ่ง แห่งวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เด็ก(ความจริงก็เป็นเยาวชนวัยรุ่นกันแล้ว ไม่ใช่เด็กเล็ก)ที่วิทยาลัยอยากขี่จักรยานมาเรียนกันมาก แต่ผู้ปกครองไม่ยอม ในขณะที่ยอมให้ลูกใช้จักรยานยนต์ซึ่งอันตรายกว่าจักรยานมาก และในอยุธยาขณะนี้การใช้จักรยานแพร่หลายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมใช้จักรยานอย่างมาก ในเกาะเมืองจะเห็นอยู่ทั่วไป ก็ในเมื่อชาวต่างประเทศยังขี่ได้ปลอดภัย ทำไมเยาวชนไทยจะขี่ไม่ได้ และจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการเรียนของเด็กดังที่การวิจัยข้างต้นได้ชี้ไว้ด้วย
ที่จังหวัดพิษณุโลก : ครอบครัวจักรยาน คุณพ่อกับ 3 ลูกสาว (ขอบคุณภาพข่าวจาก FNews)
กวิน ชุติมา เรียบเรียงจากข่าวชื่อ Children who cycle to school have measurably better concentration than those who don’t
เขียนโดย Sarah Barthในหนังสือพิมพ์ The Guardianในอังกฤษฉบับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2013ส่วนบนของฟอส่วนล่างของฟอร์ม