………………………………..
เช้าหนึ่งในฤดูฝน ขณะปั่นจักรยานออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าไปเรียนหนังสือตามปกติ เส้นทางบังคับให้วิ่งผ่านไปทางเดียวกับรถราที่มาจากวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ซึ่งในช่วงเวลานั้นนับเป็นสถาบันการศึกษาสูงสุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังจำได้ว่าย้อนหลังไปตอนผมอยู่สัก ป.1 – ป.2 เดินเท้าเปล่าไปโรงเรียนวัดบ้านตาล ยังเคยไปร่วมกับนักเรียนบ้านนอกแถวนั้นไปช่วยเขาถางป่าเพื่อให้หลวงท่านมาสร้างวิทยาลัยครูขึ้นที่นี่ พูดง่ายๆคือเป็นสถานที่หรูหรามีระดับที่พวกเราชาวบ้านออกจะนบนอบอยู่ในความรู้สึก เพราะบรรดาครูบาอาจารย์หรือคนที่มีระดับในตัวจังหวัดมักจะเข้าๆ ออกๆ ที่นี่กันอยู่เสมอ
เช้าวันนั้นผมปั่นจักรยานควบปุเลงๆ พลางหลบหลุมบ่อเจิ่งน้ำฝนไปมาอยู่บนเส้นทาง มีรถอีกคันวิ่งแซงหน้าผมไป เป็นรถแลนด์โรเวอร์ติดฟิล์มข้างในปรับอากาศเย็นฉ่ำ พาลูกหลานของอาจารย์วิทยาลัยครูไปเรียนที่โรงเรียนเดียวกับผม จังหวะที่กำลังจะแซงขึ้นหน้าผมไปนั้นเอง ล้อรถเกิดแฉลบไปในหล่มน้ำโคลน จนสาดกระเซ็นใส่ผมเปียกมะลอกมะแลก
วินาทีนั้นเองที่ผมเริ่มรู้สึกเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับคนอื่นที่มีความเป็นอยู่ดีกว่า รู้สึกถึงความลำบากที่ต้องเดินทางฝ่าฝนไปบนเส้นทางที่แสนทุรกันดารและรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองและชาวบ้านในชุมชนน่าจะดีกว่านี้ ขณะปาดหยดน้ำออกจากหน้าตาและก้มมองชุดนักเรียนเปื้อนโคลนเลอะเทอะ ไม่รู้ว่าปมด้อยหรือแรงดลใจที่บอกกับตัวเองอย่างมุ่งมั่นว่า “โตขึ้นเราจะต้องเป็นนายอำเภอและกลับมาลาดยางถนนสายนี้ให้ได้”
เรื่องนี้ในภายหลังกลายเป็นเรื่องขบขันในครอบครัวเรา โดยเฉพาะเมื่อเราคุยกันระหว่างผมกับยาย เรื่องของเรื่องคือสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีแล้วไปตรวจสุขภาพ หมอจับชีพจรแล้วทำหน้าแปลกใจ ถามผมว่า
“ท่านคงจะเป็นนักกีฬาหรือไม่คงออกกำลังกายสม่ำเสมอใช่มั้ยครับ”
“เปล่านะ ทำไมหมอคิดอย่างนั้นล่ะ” ผมถามกลับด้วยความแปลกใจเช่นกัน
“ชีพจรท่านเต้นช้ามาก”
“อ้าว…แปลว่าอะไร ผมกำลังจะตายงั้นหรือ” ผมเริ่มตกใจ
“เปล่าๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเรื่องที่ดีครับ ชีพจรเต้นช้าแสดงว่าหัวใจปั๊มแรงการสูบฉีดโลหิตดีมากครับ”
ผมกลับมาเล่าให้ยายฟังด้วยความงุนงง พลอยทำให้ยายต้องมานั่งนึกตรึกตรองไปด้วยว่าหลายชายคนนี้ไปเล่นกีฬาเอาช่วงไหน เพราะผมเป็นเด็กเรียนที่ไม่ค่อยถนัดเรื่องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา นึกอยู่เป็นนาน ยายจึงหัวร่อชอบใจแล้วเฉลยว่า “ฮาลีมปั่นจักรยานไง ปั่นไปเรียนหนังสือไป-กลับเกือบยี่สิบกว่ากิโลอยู่ตั้งแปดปี จนขาแข้งใหญ่” นั่งขำกันสองคนยายหลาน เพราะฟังหมอตอนแรกคิดว่าตัวเองจะเป็นโรคร้ายอะไรเสียแล้ว
———————-
ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น ชีวิตจากปอเนาะ เลาะไปอาเซียนของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 2 2556