Home / บทความ / ไปดูเขาขี่สองล้อ ที่ปักกิ่งกับชานสี

ไปดูเขาขี่สองล้อ ที่ปักกิ่งกับชานสี

           ไปดูเขาขี่สองล้อ ที่ปักกิ่งกับชานสี

ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของจีน และเป็นเขตปกครองตนเองที่มีรัฐบาล(เทศบาล) เป็นของตัวเอง  คล้ายๆกับกทม.ของเรา  แต่ของเขามีอำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่า  จึงจัดการอะไรๆได้เบ็ดเสร็จและรวดเร็วกว่า  ส่วนชานสีเป็นมณฑล ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศไทย ก็คงมีอาณาเขตใหญ่เล็กไม่แพ้กันนัก  ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มากจึงมีมณฑลอยู่หลายมณฑล  แต่ละมณฑลก็มีการปกครองของตัวเองและมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองด้วย

            ที่ต้องจั่วหัวเรื่องว่าไปดูเขาขี่สองล้อที่ปักกิ่งและชานสีก็เพราะเหตุผลข้างต้น  คือจะไปบอกว่าประเทศจีนเป็นแบบนี้หมดคงไม่ได้  เพราะทั้งปักกิ่งและชานสีไม่สามารถเป็นตัวแทนของจีนทั้งประเทศได้เช่น มณฑลกวางตุ้งอาจจะมีวิธีคิดเรื่องจักรยานไปอีกแบบหนึ่งเลยก็ได้

จักรยานกับสภาพจราจร(ชิดขวา) ติดขัดในเมืองปักกิ่ง ความ(ไม่)อันตรายของการขี่จักรยานแทรกไประหว่างรถยนต์ในปักกิ่งก็ไม่ต่างจาก กทม.ของเรานัก

       มีคนชอบพูดว่าขี่จักรยานในกรุงเทพฯไม่ได้ เพราะรถยนต์เยอะและอันตราย  รูปที่ลงมาให้ดูนี้ชี้ให้เห็นได้ชัดว่าการจราจรในปักกิ่งก็มิได้ดีไปกว่า กทม.เลย รถยนต์เยอะมาก แต่คนจีนก็เบียดตัวขี่จักรยานไปบนท้องถนนกันเป็นปกติ โดยไม่พบว่ามีอันตรายมากจนทางการสั่งห้ามขี่จักรยานบนถนน

       ฉะนั้นอย่ามาบอกว่า มีรถยนต์บนถนนเยอะแล้วขี่จักรยานไม่ได้  มันอยู่ที่วิธีคิดของคนว่าจะทำให้ทำได้หรือไม่  และคนขับรถยนต์นั้นขับรถให้เป็นมิตรกับคนขี่จักรยานหรือไม่  ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างระหว่างคนจีนกับคนไทย  คนจีนทุกคนเมื่อไม่ใช้รถยนต์ หรือเมื่อกลับบ้าน ก็จะใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  จึงเข้าใจถึงหัวอกคนขี่จักรยานได้ดี  จึงเอื้ออาทรและรู้จักจังหวะของคนใช้จักรยานดี  การหยุด การปาดหน้า การรอ ฯลฯ จึงสอดคล้องกันและกัน  และอุบัติเหตุแทบไม่มี

  นี่ไม่นับรวมกรณีที่เขามีทางจักรยานแยกออกไปต่างหากจากเลนรถยนต์  ซึ่งนั่นก็จะยิ่งทำให้ปลอดภัยมากขึ้นไปใหญ่  แถมในชั่วโมงเร่งด่วนรถยนต์ติดกันมากๆ  การจราจรแทบเป็นอัมพาต  จะมีก็แต่เลนจักรยานเท่านั้นที่ยังปล่อยให้จักรยานเคลื่อนตัวไปได้อย่างต่อเนื่องและด้วยสปีดที่เร็วกว่าด้วย

ถนนรถติดแต่เลนจักรยานยังโล่งในเมืองไท่หยวน มณฑลชานสี

นอกจากนี้ภาครัฐของเขาก็พยายามอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้จักรยานอย่างมาก(ผิดกับของไทยที่ไม่ทำให้ แล้วยังมาบอกว่าคนใช้จักรยานมีจำนวนน้อย จึงไม่อยากเสียงบประมาณเพื่อคนส่วนน้อย ก็คนส่วนน้อยกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็นคนส่วนใหญ่ได้อย่างไรในเมื่อไม่มีอะไรมาอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้บ้างเสียเลย)  ดูตัวอย่างที่จอดจักรยานแห่งหนึ่งที่มีป้ายบอกทางไปที่จอด  และตัวที่จอดเองก็มีป้อมยามให้คนเฝ้าแถมมีหลังคาคลุมกันแดดกันฝนให้จักรยานอีกด้วย

     ป้ายบอกทางไปโรงจอดรถจักรยาน                ป้ายยามสำหรับคนเฝ้าจักรยาน จักรยานจอดในโรงจอดที่มีหลังคา

ส่วนในชุมชนซึ่งมีการใช้ทั้งจักรยานและจักรยานไฟฟ้า  รวมทั้งมอเตอร์ไซค์  เขาก็จะมีราวกั้นไม่ให้คนยกมอเตอร์ไซค์เข้าไปขับขี่ในชุมชน  แต่จักรยานยกข้ามได้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น  พูดได้ว่าจักรยานเป็นเรื่องของชีวิตของคนจีน เขาให้ความสำคัญกับการเดินและการใช้จักรยานสำหรับคนหมู่มาก ซึ่งสักวันเมืองไทยก็จะเป็นเช่นนี้……เราหวังว่า!

 

ราวกั้นมอเตอร์ไซค์เข้าไปรบกวนชีวิตของชาวชุมชน ตรงกลางมีช่องเปิดให้ยกจักรยานข้ามไปได้

  สำหรับระบบขนส่งมวลชน  ไม่ว่าจะเป็นท่ารถเมล์หรือสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน  เขาก็จะมีที่จอดจักรยานซึ่งจอดได้จำนวนมากไว้ตามสถานีพวกนี้  ชาวบ้านก็จะขี่จักรยานมาจอดและต่อรถได้สะดวก  ที่ผมเห็นที่สถานีใหญ่ๆ จะมีที่จอดจักรยานยาวสุดลูกหูลูกตาทีเดียว  แถมบางแห่งก็มีหลังคาคลุมให้อีกด้วยเช่นกันหรือแม้กระทั่งที่สถานีรถไฟความเร็วสูงเขาก็มีระบบ ‘จอดแล้วจร’และมาต่อรถไฟฯ นั่งไปอีกเมืองหนึ่งได้อย่างสะดวก

 

ที่จอดจักรยานใกล้สถานีรถไฟใต้ดินในปักกิ่ง

ที่จอดจักรยานมีหลังคาใกล้สถานีรถไฟใต้ดินในปักกิ่ง

จอดจักรยานแล้วเดินข้ามถนนมาลงรถไฟใต้ดิน(ทางลงอยู่ทางขวามือของรูป)

  ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เมื่อไปถึงเมืองจีนผมก็เลยได้ถือโอกาสเอาเสื้อ   I Bike I Walk ไปอวดศักดาที่โน่นเสียหลายที่เลยด้วย ดูรูปเอาเองก็แล้วกันครับ

รถไฟความเร็วสูงที่สถานีไท่หยวนห่างจากปักกิ่ง กว่า 500 กิโลเมตรใช้เวลาเพียง 2 ชม. เศษ

‘เสื้อ I Bike I Walk กับรถไฟความเร็วสูง’ ที่ปักกิ่ง

 ถ้ำผาหินแกะสลักเป็นพุทธศิลป์ที่ ‘หยุนกั่งสือคู’ ซึ่งเป็นมรดกโลก
วัดเสมียนคงซึ่งเป็นวิหารแขวนที่เชิงเขาเหิงซาน อายุ 1,400 ปี ถนนด้านข้างของถนนใหญ่ ซึ่งมี 3 เลน เลนขวาสุดเอาไว้จอดรถยนต์
(คนจีนขับรถชิดขวา) เลนกลางเป็นเลนจักรยาน  เลนซ้าย (เป็นเลนที่ติดกับเกาะกลางถนนเพื่อแยกถนนนี้กับถนนใหญ่) มีไว้สำหรับรถยนต์วิ่งก่อนจะไปเลี้ยวขวาเข้าซอยขวามือ

                                                                                                                                                                            ธงชัย  พรรณสวัสดิ์                                                                                                                                                                               พฤษภาคม 2556

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น