เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ผมได้ไปเยี่ยมเมืองจีนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ไปมาแล้ว 3-4 ครั้งครั้งแรกก็เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ในสมัยที่ประชาชนชาวจีนยังใส่ชุดเหมา(เสื้อคอปิดแขนยาว) สีน้ำเงินกรมท่าหรือสีเทาเข้มกันเป็นปกติแทบทุกคน
เคยไปยืมจักรยาน(โกดัง)ขนของของชาวบ้านมาขี่เสียด้วย จำได้ว่าได้เอาลูกสาวซึ่งขณะนั้นยังเล็กมากอายุราว 10 ขวบ นั่งซ้อนท้ายไปด้วย และจำได้ด้วยว่าขี่จักรยานยากมาก เหตุผลประการหนึ่งคือรถคันมันใหญ่และสูง เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ รถจักรยานเยอะมาก ขี่กันแบบไหล่ชนไหล่ ซึ่งพอจะหยุดผมก็จะมีปัญหามาก เพราะหย่อนตัวลงจากอานมายืนคร่อม ‘ท่อบน’ แบบที่ทำกับเสือภูเขาไม่ได้ เพราะท่อบนของจักรยานโกดังมันสูงมาก มันตีเอาที่อวัยวะสำคัญได้
จักรยานเช่าย่อมหนักกว่าจักรยานเสือภูเขาทั่วไป อาจด้วยเพราะราคาที่ต่ำกว่า |
ช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ไม่มีจักรยานเหลือในช่องจักรยานแม้แต่คันเดียว |
เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ประเทศจีนพัฒนาไปไกลและเร็วมาก ผู้คนร่ำรวยและแต่งตัวทันสมัยมาก และจากการที่มีพื้นฐานเป็นสังคมจักรยานอยู่เดิม เมื่อชีวิตมีความเร่งรีบเหมือนคนเมืองอื่นๆ ทั่วโลกการที่จะมานั่งซ่อมนั่งดูแลจักรยานก็นับวันจะไม่มีเวลา หรือไม่คุ้มกับเวลาที่ต้องเสียไป โครงการจักรยานให้เช่า หรือโครงการปันจักรยานกันใช้ แบบที่แปลมาจากภาษาฝรั่งว่า Bike Sharing ซึ่งความจริงแล้วสำหรับผมมันก็คือ โครงการจักรยานเช่าดีๆนี่เอง ก็ได้รับความนิยมและแพร่หลายในหลายเมืองในประเทศจีน
เมืองไท่หยวน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองหลวงของมณฑลซานสี ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเมืองใหญ่อื่นๆ คือ เริ่มมีโครงการรถจักรยานให้เช่าแล้ว หลังจากเช็คอินเข้าโรงแรมที่พัก ผมได้ออกมาสำรวจระบบจักรยานเช่าที่สี่แยกชานเมือง ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ไม่รู้ว่าเป็นชั่วโมงเร่งด่วนหรือคนกำลังกลับบ้านหรืออย่างไร เพราะเมื่อผมเดินหาจนเจอสถานีจอดจักรยานให้เช่า ซึ่งได้ลองนับดูพบว่าสถานีนี้ จอดได้ 60 คัน มีตู้เติมเงินอยู่ตรงกลาง มีที่จอดออกไปข้างละ 30 คัน
แต่ไม่มีจักรยานจอดอยู่เลย ก็ให้สงสัยเป็นกำลังว่า แล้วจะบริการคนเมืองนั้นได้อย่างไร ถ้าไม่มีหรือมีจักรยานไม่พอ
ตู้สำหรับเติมเงินใช้บริการเช่าจักรยานสาธารณะ |
ยืนอยู่ไม่นานนัก ก็ได้คำตอบ
มีคนเอาจักรยานมาคืน โดยเอาด้านหน้าจักรยานเสียบเข้าไปในตู้หรือช่องรับจักรยาน ซึ่งพอเสียบไปจนสุดก็จะมีเสียงดังคลิก แล้วจักรยานก็ถูกล็อก จากนั้นคนที่เช่าจักรยานไปก็เอาบัตร(สงสัยจะเป็นบัตรสมาชิก ไม่ใช่บัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มปกติ…ที่ไม่รู้แน่ เพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง) มาแตะที่แป้นที่ช่องหรือตู้รับจักรยานนั้น เครื่องก็จะบันทึกว่าเอารถมาคืนตอนเวลาเท่าใด และคำนวณออกมาว่าใช้เวลาจากที่เอารถจักรยานออกไปใช้ (จะเอาจากสถานีไหนก็ได้ ซึ่งมีอยู่กระจายไปตามจุดต่างๆในเมือง) นานเท่าใด แล้วก็คำนวณตัดเงินออกไปจากบัตร
วิธีการล็อกจักรยานที่ตู้สถานีฯ และกุญแจและสายกุญแจกันขโมยสำหรับกรณีไปจอดที่อื่นที่ไม่ใช่ช่องเสียบ จักรยานของสถานีจอด |
ที่ว่าได้คำตอบก็คือ คนที่เอารถมาจอดยังไม่ทันจะเอาของออกจากตะกร้าที่ติดอยู่ด้านหน้าจักรยานได้เรียบร้อย ก็มีคนมา‘แย่ง’ต่อคิวเอาจักรยานคันนั้นไปใช้ต่อเลย นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงไม่เห็นจักรยานจอดรอให้บริการที่จุดจอดที่สถานี เพราะโครงการจักรยานเช่านี้ฮิตมากในชั่วโมงเร่งด่วน ขนาดต้องยืนรอแย่งกันเอารถไปใช้ทีเดียว
สิ่งที่ผมเคยสังเกตมาทั้งจากยุโรปและจีนคือ ถ้าจะให้ระบบจักรยานเช่านี้ใช้งานได้จริง ระบบนี้จะต้องไม่ไปรบกวนชีวิตของคนอื่นในสังคม นั่นคือ ไม่ทำให้เขาต้องเดือดร้อนไปกับเรา ซึ่งจะทำได้ก็โดยต้องมีทางเท้าที่กว้างมากพอ อาจจะ 5 – 6 เมตร เพื่อจะได้มีที่ติดตั้งช่องจอด และบริเวณพื้นที่สำหรับหมุนจักรยานออกจากช่องโดยไม่ไปชนคนเดินเท้าและต้องมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งสำหรับส่งตัวพุ่งไปข้างหน้าก่อนที่จะเริ่มถีบจักรยานออกสู่ถนนหรือทางจักรยานในละแวกนั้นต่อไป
คนต่อแถวยืนรอใช้รถจักรยาน |
เห็น กทม. ได้เริ่มโครงการจักรยานปัน – ปั่นแล้ว และก็เห็นมีคนวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อด้อยของโครงการนี้แล้ว จึงอยากเอาเรื่องนี้มา ‘ปัน’ กันอ่าน เผื่อบางคนจะได้ไอเดียไปแก้ไขจุดบกพร่องของระบบที่มีอยู่นี้ของเรา ซึ่งเมื่อแก้ได้ (ภาวนาให้แก้ได้) อีกหน่อยเราก็จะมีระบบเช่าจักรยานหรือปั่นจักรยานกันใช้ดีๆแบบเมืองนอกเขาบ้าง
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
พฤษภาคม 2556