จุดเริ่มต้นของพันธมิตรการจักรยานโลก
และแล้วองค์กรพันธมิตรการจักรยานโลกก็ได้ปฎิสนธิขึ้นที่ศาลาว่าการของเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อบ่าย 5 โมง วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2013 ส่วนจะคลอดออกมาเป็นตัวเป็นตนหรือไม่ กาลเวลาในระยะไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ น่าจะบอกได้ว่า เมื่อตั้งท้องแล้วจะคลอดหรือจะแท้ง
ที่พูดเช่นนั้น หมายถึงว่า องค์กรด้านจักรยานหลายประเทศทั้งจากยุโรป(ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้เข้าประชุม) อาฟริกา อเมริกาเหนือและใต้ รวมทั้งเอเชีย ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของเอเชียในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้ถกถึงข้อดีข้อเสียของการก่อตั้ง WCA หรือ World Cycling Alliance หรือพันธมิตรการจักรยานโลกเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประชุมได้ตกลงกันว่า ยินดีร่วมเป็นองค์กรก่อตั้งของพันธมิตรนี้
อ.ธงชัย กำลังอภิปรายและถกประเด็นในการประชุมก่อตั้ง WCA |
บรรยากาศการประชุมอภิปรายของตัวแทนประเทศต่างๆ |
โดยในช่วงแรกให้องค์กร ECF สนับสนุน และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานไปก่อน รวมทั้งไปคิดวิเคราะห์ ถึงกิจกรรมและโครงการที่ควรทำ รวมไปถึงรูปแบบขององค์กรว่าจะทำให้เป็นนิติบุคคลหรือไม่ และอย่างไร งบประมาณจะมาจากที่ใด ฯลฯ
นายแมนเฟรด เนิน ประธาน EFC และ ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงค์ เลขาธิการ ECF กำลังบรรยายการก่อตั้ง WCA |
อีกประมาณหนึ่งปีนับจากนี้ เมื่อมีประชุม Velo-City 2014ที่เมือง Adelaideประเทศออสเตรเลีย เราจะประชุมกันอีกครั้ง เพื่อตกลงและประกาศการก่อตั้งองค์กร WCA อย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนในระยะเวลาระหว่างนี้ เราจะถกเถียงกันผ่านอีเมล์ว่าเราจะทำอะไร อย่างไร ใครจะร่วมบ้าง กติกาการเข้าร่วมเป็นอย่างไร ฯลฯ ให้เรียบร้อยก่อนการประชุม
ECF ได้อธิบายว่า ในสังคมระดับโลก องค์ที่เกี่ยวกับจักรยานเป็นองค์กรกีฬาทั้งสิ้น ไม่มีตัวแทนองค์กรของผู้ใช้จักรยานจริงๆ การที่จะประสานหรือนำเสนอข้อคิดใดๆ จะติดปัญหาและมีอุปสรรคมาก การก่อตั้งองค์กรระดับโลกแบบ WCA น่าจะช่วยเปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้นำระดับโลกได้
ในการอภิปราย เราตกลงกันว่าเราจะเน้นกันอยู่ 4 เรื่อง คือ 1) นโยบายระดับโลก 2) การระดมทุน 3) สถานะของ NGO และ 4) การท้าทาย นำเสนอประเด็น (Advocacy) แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในปัจจุบัน มีองค์กรระดับโลกที่ทำงานด้านการเดินทางและเมืองน่าอยู่อยู่แล้ว เช่น Eco Mobility และ ICLEI (องค์กรเทศบาลระดับนานาชาติ)
การที่จะมี WCA เพิ่มขึ้นอีกองค์กร จึงควรต้องศึกษาและประสานงานกับองค์กรเหล่านี้ด้วย
มีข้อสังเกตอีกข้อเกี่ยวกับวิธีทำงาน คือ เมื่อเขา(ECF)คิดการใหญ่ เขาจะไม่เร่งรีบรวบรัด สรุปอย่างเร่งด่วน แต่จะใช้วิธีปรึกษาหารือกันอย่างรอบคอบ และตัดสินใจไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้น ซึ่งเรา(ไทย)น่าจะเรียนรู้สิ่งนั้นจากเขาได้บ้าง
ศ.กิตติคุณธงชัย พรรณสวัสดิ์
14 มิถุนายน 2556