Home / บทความ / ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการใช้จักรยานในประเทศกลุ่มประชาคมยุโรป

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการใช้จักรยานในประเทศกลุ่มประชาคมยุโรป

ในงาน Eurobike ที่นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมันเป็นผู้ไปเปิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ดูข่าว “นายก รัฐมนตรีเยอรมันเปิดงานแสดงจักรยาน” ที่ http://www.thaicyclingclub.org/content/general/news/detail/1870) สมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้ใช้จักรยานที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก โดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เข้าเป็นสมาชิกรายแรกจากทวีปเอเชียเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลจากการใช้จักรยาน(ในการเดินทางแทนรถยนต์)ใน 27 ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union – EU)  โดย ECF คาดว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งพวกนักการเมืองให้ความสำคัญในการตัดสินใจรับหรือดำเนินนโยบายใดๆ อย่างไร จะทำให้พวกเขา โดยเฉพาะพวกนักการเมืองอาวุโสที่มีอำนาจตัดสินใจชี้ขาดในพรรค เริ่มตระหนักว่า การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าเมืองของเราไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น หากยังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย

Photo for ECF econmic benefits of cycling

Manfred Neun at advocacy summit in Eurobike

ECF ประเมินผลประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกที่ได้จากการใช้จักรยาน รวมเข้ากับผลตอบแทนที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับในสหภาพยุโรป ว่ามีมากกว่าปีละ 200,000 ล้านยูโร (กว่า 8 ล้านล้านบาท) หรือกว่า 400 ยูโร (ราว 16,000 บาท) ต่อคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น   ตัวเลขนี้ก้อนใหญ่ที่สุดมาจากผลประโยชน์ในด้านสุขภาพปีละกว่า 110,000 ล้านยูโร (ราว 4.4 ล้านล้านบาท) ซึ่ง ECF คำนวณโดยใช้เครื่องมือที่องค์การอนามัยโลก (WHO) พัฒนาขึ้น นั่นคือ เครื่องมือประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของสุขภาพสำหรับการใช้จักรยาน หรือ Health Economic Assessment Tool (HEAT) for Cycling (ดู www.heatwalkingcycling.org)

ECF ยกย่ององค์การอนามัยโลกว่าทำงานมาแล้วอย่างยอดเยี่ยมที่ให้ความสนใจเรื่องนี้และพัฒนาเครื่องมือขึ้นมา แต่ก็ชี้ด้วยว่า ภาคส่วนสังคมที่ทำงานในด้านสุขภาพยังมีอะไรต้องทำอีกมาก  ECF จึงมีสาส์น 3 ข้อที่สื่อสารตรงไปให้ภาคการเมืองโดยทั่วไป และภาคสุขภาพอนามัยเป็นการเฉพาะ ดังนี้

1.นโยบายด้านการใช้จักรยานต้องการภาวะผู้นำทางการเมืองและการประสานงานที่ต่อเนื่องตั้งแต่ส่วนบนสุดลงมา  การใช้จักรยานมีความเชื่อมโยงมากมายกับหน่วยงานด้านนโยบายต่างๆ จำนวนมาก  จึงจำเป็นต้องก้าวข้ามการแบ่งเป็นส่วนๆ ตามแนวดิ่งตามสายงานเฉพาะหรือกระทรวง หรือแม้กระทั่งในกรมกอง ที่เกิดขึ้นกับระบบงานของรัฐบาลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ไปให้ได้  ดังนั้น ECF จึงขอให้รัฐบาลทุกระดับพัฒนาแผนปฏิบัติการการใช้จักรยานที่ตัดข้ามเชื่อมโยงกระทรวงทบวงกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งปวงขึ้นมาและนำมาดำเนินงานอย่างจริงจัง

2. เนื่องจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมหลักๆ ของการใช้จักรยานอยู่ที่ด้านสุขภาพ ECF จึงเรียกร้องเป็นพิเศษไปที่ภาคส่วนสุขภาพอนามัย ให้แสดงความรับผิดชอบของตนให้ถึงที่สุด กระทรวงทบวงกรมด้านสุขภาพควรจะเข้าไปหากระทรวงทบวงกรมอื่นๆ อย่างแข็งขัน ทำความเข้าใจและชักชวนให้กระทรวงทบวงกรมเหล่านั้นบูรณาการเอาการส่งเสริมการใช้จักรยานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของกระทรวงทบวงกรมนั้นๆ เพื่อให้นโยบายการใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในส่วนงานต่างๆ อย่างทั่วถึงเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “สุขภาพในทุกนโยบาย” (Health in All Policies – HiAP) ที่ได้รับการส่งเสริมและนำไปปฏิบัติกันทั่วโลก  กระทรวงทบวงกรมด้านสุขภาพและโครงการประกันสุขภาพทั้งหลาย ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการจักรยานต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยาน และการรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยาน  เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือการเสนอส่วนลดในค่าทำประกันสุขภาพแก่ผู้ที่เดินทางด้วยวิธีที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน(เดินและขี่จักรยาน)เป็นประจำสม่ำเสมอ

3. ขณะนี้ฝ่ายการเมืองกำลังสนับสนุนหลักการ “ผู้สร้างมลภาวะเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays) มากขึ้นทุกที  ECF ต้อนรับอย่างยินดีต่อนโยบายของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งก็คือรัฐบาลของสหภาพยุโรป ที่ได้กล่าวไว้ในสมุดปกขาวแผนที่เส้นทางการไปสู่พื้นที่การขนส่งที่เป็นหนึ่งเดียวของยุโรป – สู่ระบบการขนส่งที่มีความสามารถในการแข่งขันและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ(White Paper Roadmap to a Single European Transport Area – Towards a competitive and resource efficient transport system) ที่ออกมาในปี 2011 ว่าจะมุ่งมั่น “เดินหน้าไปสู่การนำค่าใช้จ่ายภายนอก ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดการกับผลกระทบของเสียง มลภาวะในท้องถิ่น และการจราจรติดขัดที่เกิดจากการใช้รถยนต์ เข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายภายในที่ผู้ใช้รถยนต์ต้องจ่ายอย่างเต็มที่ และทำให้การจ่ายนี้เป็นภาคบังคับ”   แต่ก็คิดต่ออีกว่า ผลประโยชน์ด้านสุขภาพภายนอกของการใช้จักรยานควรจะนำมารวมไว้ในกรอบนโยบายนี้ด้วย

กลับมาที่มูลค่าผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้จักรยาน ทีนี้เรามารายละเอียดข้อมูลจากการคำนวณกันครับ

ECF คำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จักรยานในสหภาพยุโรป 27 ประเทศในปี 2010 โดยพิจารณาจากผลประโยชน์ภายในและภายนอกของการใช้จักรยาน รวมกับผลตอบแทนที่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับ ได้ออกมาในราว 205,200 – 217,300 ล้านยูโร (8,208,000 – 8,692,000 ล้านบาท) ซึ่งถ้าคิดออกมาเป็นผลประโยชน์ต่อหัวของประชากรก็จะอยู่ในราวปีละ 410 – 434 ยูโร (ประมาณ 16,400 – 17,360 บาท)  เมื่อจำแนกผลประโยชน์โดยตรงทั้งภายในและภายนอกของการใช้จักรยานออกมาก็จะพบว่า ร้อยละ 80 เป็นผลประโยชน์ด้านสุขภาพ ซึ่ง ECF ใช้เครื่องมือ HEAT ของ WHO คำนวณออกมาได้ที่ 114,000 – 121,000 ล้านยูโร (4,480,000 – 4,840,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องถือว่า “อนุรักษ์” คือคิดขั้นต่ำสุดๆแล้ว  เพราะ HEAT คิดเฉพาะผลประโยชน์ที่เกิดจากการลดอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น ยังไม่รวมผลประโยชน์ที่เกิดจากการลดภาวะการเจ็บป่วย ดังนั้นถ้ารวมเข้าไปแล้ว ตัวเลขมูลค่าเศรษฐกิจจากประโยชน์ที่ได้จากการใช้จักรยานในส่วนนี้ก็น่าจะสูงกว่าขึ้นไปอีกมาก

ส่วนผลประโยชน์อีกร้อยละ 20 นั้นมาจากการลดการจราจรที่ติดขัด การประหยัดเชื้อเพลิง การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก การลดมลภาวะทางอากาศ และการลดมลภาวะทางเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการใช้จักรยานแทนรถยนต์  เมื่อนำมาคิดรวมกับผลประโยชน์โยตรงด้านสุขภาพแล้วจะอยู่ที่ 143,200 – 155,300 ล้านยูโร หรือ 5,728,000 – 6,212,000 ล้านบาท   ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับคิดรวมอยู่ 62,000 ล้านยูโร หรือ 2,480,000 ล้านบาท โดยจำแนกได้เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 44,000 ล้านยูโร หรือ 1,760,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมจักรยาน 18,000 ล้านยูโร หรือ 720,000 ล้านบาท

เมื่อมาตัวเลขการลงทุนของรัฐในสหภาพยุโรปในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมสำหรับการใช้จักรยานแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการลงทุนที่ได้กำไรสุดๆ นั่นคือให้ผลตอบแทนสูงกว่าถึง 70 เท่า!!! คือโดยเฉลี่ยของยุโรปแล้ว มีการลงทุนต่อประชากรหนึ่งคนปีละเพียง 5-6 ยูโร (200-240 บาท) ในขณะที่ได้ผลประโยชน์กลับมา 410 – 434 ยูโร  ตัวเลขการลงทุนนี้แตกต่างกันไปได้มากในแต่ละประเทศ อย่างเช่น ที่อังกฤษ CTC องค์การกุศลด้านการใช้จักรยานแห่งชาติในอังกฤษและสมาชิก ECFคำนวณออกมาได้ต่ำเพียง 2.35 ยูโร (ราว 92 บาท) และการใช้จักรยานคิดเป็นร้อยละ 2 ของการเดินทางทั้งหมดในประเทศ  ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ ประเทศผู้ใช้จักรยานที่นำหน้าสุดของยุโรป ลงทุนเรื่องจักรยานปีละ 25 ยูโร (ราว 1,000 บาท) ต่อประชากรหนึ่งคน และการใช้จักรยานคิดเป็นร้อยละ 27 ของการเดินทางทั้งหมดในประเทศ  ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่ายิ่งรัฐลงทุนมากเท่าใดในโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมสำหรับการใช้จักรยาน คนก็จะใช้จักรยานมากขึ้น และได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นสัดส่วนตามตัว

        ECF ชี้ด้วยว่าการคำนวณเหล่านี้สามารถทำได้เป็นส่วนใหญ่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับภาค ไปจนถึงระดับประเทศ และชักชวนให้ผู้ที่ผลักดันการใช้จักรยานทำเช่นนี้ด้วยเมื่อจะไปพูดกับนักการเมือง 

เรียบเรียงจาก Bigger than Denmark: Economic benefits of cycling in the EU-27 ใบแถลงข่าวของสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป ออกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556

โดยกวิน ชุติมา กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น