Home / บทความ / คาร์ฟรีเดย์ กับ คาร์ฟรีแมน

คาร์ฟรีเดย์ กับ คาร์ฟรีแมน

คาร์ฟรีเดย์หรือวันปลอดรถเป็นกิจกรรมที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางยุโรปได้ทำต่อเนื่องกันมาสิบกว่าปีแล้ว  และวันปลอดรถหรือคาร์ฟรีเดย์นี้เป็นวันที่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมใช้เป็นวันเชิงสัญลักษณ์ที่จะพยายามบอกกับโลกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้มันรุนแรงและต้องรีบเร่งแก้ไขรวมทั้งป้องกันอย่างรีบด่วน  โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนมาช่วยกันทำ 

ร่วมกันอย่างไร  ก็ร่วมโดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง  โดยหันมาใช้รถเมล์  รถขนส่งมวลชนแบบบีทีเอส รถแท็กซี่ การเดิน การขี่จักรยาน

คาร์ฟรีเดย์นี้กำหนดให้มีกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 22กันยายนของทุกปี  ซึ่งในเมืองไทยมักทำในวันนี้ไม่ได้ด้วยขีดจำกัดของคนมาร่วมงาน  เพราะบังเอิญไปตีความแบบไม่ถูกต้องนักว่าวันคาร์ฟรีเดย์เป็นวันจักรยาน  จึงมักเลี่ยงไปทำในวันหยุดที่ใกล้เคียงกับวันที่ 22กันยายน  ซึ่งในปีนี้กทม.และหลายจังหวัดก็ได้ทำกันในวันอาทิตย์ที่ 18กันยายน 2554ที่ผ่านมา  ซึ่งก็มีจักรยานมาร่วมเป็นพันคัน  อันนับว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร

คาร์ฟรีเดย์ในเมืองไทยมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543โดยผมในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและได้มีโอกาสไปสัมผัสและร่วมรณรงค์ในงานแบบนี้กับเขาในต่างประเทศมาก่อนเป็นผู้เสนอให้ทำขึ้นในเมืองไทย  ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็เป็นได้ที่หลายคนไปนึกว่าคาร์ฟรีเดย์เป็นไบซิเคิลเดย์หรือวันจักรยาน  ทั้งๆที่จริงๆแล้วจุดประสงค์ของการให้มีคาร์ฟรีเดย์คือการให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่หันมาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้น  และแปลงร่างตัวเองเป็นคาร์ฟรีแมนหรือคนปลอดรถ(ส่วนตัว)และใช้วิธีการเดินทางด้วยวิธีการอื่นๆที่จะช่วยลดมลพิษ  ลดปัญหาจราจร  และลดก๊าซที่ทำให้โลกร้อน

ดังนั้นเมื่อเข้าใจหลักการของคาร์ฟรีเดย์โดยคาร์ฟรีแมนนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าในงานวันนั้นทั่วโลกเขามุ่งเป้าไปที่คนที่มีรถยนต์ส่วนตัวใช้อยู่  และขอให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัว  ให้หันมาเป็นคนปลอดรถหรือคาร์ฟรีแมนอย่างน้อยที่สุดก็ในวันคาร์ฟรีเดย์นั้น  ซึ่งหากมองไปในสังคมตามความเป็นจริง  โดยเฉพาะในประเทศไทยและกทม.ก็จะพบความจริงว่าจริงๆแล้วคนส่วนใหญ่เขาเป็นคาร์ฟรีแมนอยู่แล้ว  เขาไม่มีและไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่แล้ว  ดังนั้นคาร์ฟรีเดย์แทบจะไม่มีผลอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเลย  ไม่ว่าจะเป็นคนหาเช้ากินค่ำ  พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการผู้น้อย ฯลฯ  เป้าใหญ่ๆของการรณรงค์จึงต้องพุ่งไปที่คนค่อนข้างมีฐานะที่สามารถมีและขับรถยนต์ส่วนตัวของตัวเองได้  ซึ่งจากประสบการณ์ทั่วโลกก็พบสัจธรรมว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จ  เพราะคนกลุ่มนี้ยังไงๆก็ยังคงเป็นคนใช้รถยนต์ส่วนตัว  และยังไม่เป็นคาร์ฟรีแมน  ไม่เว้นแม้แต่คนจัดงานวันคาร์ฟรีเดย์  ซึ่งครั้งหนึ่งก็รวมเอาตัวผมเข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

งานวันคาร์ฟรีเดย์ในต่างประเทศจึงค่อยๆลดความนิยมและความสำคัญลง  ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเริ่มจะติดลมและได้รับความสำคัญจากสื่อมากขึ้น  และอาจมีผลกระทบต่อวิธีคิดของสังคมมากขึ้น

เรื่องหลักการของการเป็นคาร์ฟรีแมน  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะในวันคาร์ฟรีเดย์  โดยทำทุกๆวันนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ  เข้าใจได้ไม่ยาก  แต่แปลกที่ผมเองเพิ่งมาเข้าใจแบบทะลุปรุโปร่งเอาในสี่ห้าปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นช่วงที่ผมไม่มีงานประจำหลังจากที่เกษียณจากงาน คงมีแต่งานประชุม  งานบริการสังคม  และงานทางวิชาชีพเล็กๆน้อยๆ  ซึ่งในช่วงนั้นผมไม่ได้ใช้รถส่วนตัวเลย  และเป็นคาร์ฟรีแมนมาโดยตลอดโดยที่ไม่ได้ตระหนักรู้แบบลึกเข้าไปในสมองว่าตัวเองกำลังเป็นคาร์ฟรีแมน  และทุกๆวันในช่วงนั้นเป็นคาร์ฟรีเดย์ทุกวันสำหรับผม

ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายๆคน  ซึ่งน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ  ที่เป็นคาร์ฟรีแมนอยู่ทุกๆวัน  และเป็นคนที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและโลกร้อนน้อยที่สุด  และควรได้รับการยกย่องมากที่สุด

การรณรงค์ด้วยจักรยานในสมัยปี 2541(โปรดสังเกตเครื่องแต่งกายซึ่งแตกต่างจากสมัย 2555)

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น