Home / บทความ / คาร์ฟรีเดย์(CFD) กับ CFED

คาร์ฟรีเดย์(CFD) กับ CFED

การรณรงค์ให้ประชาชนในเมืองหนึ่งๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ งดใช้รถยนต์ส่วนตัว  แล้วหันมาเดินหรือใช้จักรยานหรือใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น แท็กซี รถตุ๊กตุ๊ก หรือขนส่งมวลชน เช่น บีทีเอส เรือเมล์ เรือด่วน
เอ็มอาร์ที รถประจำทาง  รถสองแถว  ในการเดินทาง อย่างน้อยก็หนึ่งวันคือในวันที่ 22 กันยายนของทุกปี  ซึ่งรู้จักกันมากขึ้น(ในไทย)ว่าเป็นวันปลอดรถ(ส่วนตัว)หรือ Car Free Day (CFD) มีหัวใจหรือแนวคิดหลักคือการจูงให้คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางอยู่ทุกวันลองหันมาใช้วิธีการทางเลือกอื่นดังกล่าวข้างต้นดูสักวัน  แล้วเปรียบเทียบชีวิตดูว่า แบบใดจะสะดวกและมีความสุขมากกว่ากัน  โดยดูที่ประเด็นการใช้เวลาในการเดินทาง ค่าใช้จ่าย ความสะดวก ความเครียด  สิ่งแวดล้อม  และการออกกำลังกาย รวมไปถึงความเสี่ยงอันตราย ฯลฯ

ทั้งนี้  มีอุบายแฝงอยู่ว่าคนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่ทุกวันนั้นควรที่จะเห็นแสงสว่างในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ว่าการเดินทางรูปแบบอื่นนั้นสะดวก  ประหยัด  และใช้เวลาได้คุ้มค่ากว่า  จนถึงขั้นเข้าใจรวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการขับรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นการเดิน การใช้จักรยาน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ/หรือระบบขนส่งมวลชน ทุกๆวันในเวลาที่เหลือของชีวิต

นั่นคือ เป้าหมายหลักอยู่ที่คนขับรถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช่นักจักรยานหรือคนที่ใช้จักรยาน อย่างที่หลายคนกำลังทำให้สังคมไทยเข้าใจไปอย่างนั้น

ภาพประกอบ http://www.epl.ee/news/valismaa/linnaratturite-buum-tekitab-hollandis-ja-taanis-suuri-probleeme.d?id=66599061(11092013)

ในต่างประเทศเขาจะรณรงค์กันในวันที่ 22 กันยายน โดยไม่สนใจว่าเป็นวันใดของสัปดาห์  ยิ่งเป็นวันทำงานยิ่งดี เพราะจะได้เห็นผลการเปรียบเทียบได้ชัดเจนกว่าว่าการขับรถยนต์ส่วนตัวเดินทางในเมืองนั้นมีแต่เรื่องอึดอัดใจ  โดยเฉพาะการใช้เวลานานมากอยู่บนถนนโดยที่ทำประโยชน์อื่นใดก็ไม่ได้  ความเครียด การหาที่จอดรถ(ไม่ได้) ไม่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิง  ค่าที่จอดรถ  โอกาสรถยนต์ถูกขโมย(รถจักรยานก็ถูกขโมยได้ แต่หากใช้‘จักรยานใช้งานจริง’คือจักรยานชาวบ้านเก่าๆโอกาสหายจะน้อยมาก หรือหากหายก็เป็นค่าใช้จ่ายที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรถยนต์) แต่ในเมืองไทย เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนมาร่วมงานรณรงค์น้อย หรือไม่ก็กลัวว่าจะไปเดือดร้อนคนขับรถยนต์ จึงจัดกันในวันอาทิตย์ที่ใกล้เคียงกับวันที่ 22 กันยายน  เพียงแต่ในปีนี้ (พ.ศ.2556) วัน CFD บังเอิญตรงกับวันอาทิตย์พอดี

จึงเห็นได้ว่าการรณรงค์ CFD ของไทยยังมีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจอยู่ อย่างน้อยสองประการข้างต้น

สำหรับกทม.งบการรณรงค์ CFD จากกทม.ครั้งนี้มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 7 ล้านบาท หากรวมกับงบประมาณจากหน่วยงานอื่นๆอีกนับ10 องค์กรด้วย คงไม่ต่ำกว่า 10-12 ล้านบาท  ทำให้หลายคนวิเคราะห์และวิจารณ์ถึงความคุ้มค่าคุ้มทุนของ‘กิจกรรมวันเดียว’นี้  แต่นั่นเป็นเรื่องที่คนมากมายได้วิเคราะห์ไว้แล้วในหลายพื้นที่ สำหรับวันนี้ผมอยากจะชวนมอง CFD ในอีกมุมมองหนึ่ง  นั่นคือ มองในรูปแบบ CFED ที่ไม่ใช่  CFD

CFED  ของผม คือ Car Free  Every Day  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวันที่ 22 กันยายนของทุกปี  แต่ให้เป็น CFD ในทุกๆวันตลอดทั้งปี  คือ อยากให้คนขับรถยนต์ส่วนตัวหันมาเป็น Car Free Man (CFM) หรือ Car Free Person (CFP) กันมากขึ้นยิ่งถ้าเป็น CFED ของทุกๆคนหรือคนส่วนใหญ่(เอาแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเมืองก็พอ) เมืองนั้นก็จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ การเดินทางไปไหนมาไหนทำได้เร็วขึ้น การไปพบตามนัดหมายทำได้แม่นยำขึ้น การทำธุรกิจสะดวกขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ลูกหลานไปโรงเรียนได้รวดเร็วและปลอดภัยขึ้น สิ่งแวดล้อมดี อากาศดี ผู้คนเครียดน้อยลง  ฯลฯ

แต่ขอเน้นเตือนความจำอีกครั้งนะครับว่า Car Free นี้ไม่ใช่เฉพาะจักรยานเท่านั้น

ปัญหาหรืออุปสรรคมีอยู่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวยังไม่เคยลองและมองไม่ออกว่า การมีชีวิตแบบ CFED โดยเฉพาะในกทม.นี้มีความสุขและสะดวกมากเพียงไร  แม้แต่รัฐบาลก็มองไม่ออก เพราะหากมองออกจริงโครงการรถคันแรกก็คงไม่คลอดออกมาซ้ำเติมสังคมตั้งแต่แรก จริงๆแล้ว คนที่มีชีวิตแบบ CFED หรือคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวและอาศัยในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกทม. มีอยู่เป็นสัดส่วนมากในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ  เจ้าหน้าที่รัฐ พ่อค้าแม่ขาย เด็กนักเรียน ประชาชนทั่วไป เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนี้เสียงไม่ดัง สื่อไม่สนใจ ไม่เอาข้อคิด ข้อเรียกร้อง ข้อห่วงกังวลของเขามาขยายผล  ให้รัฐและรัฐบาลได้ไปขบคิดหาวิธีการแก้ไข คนกลุ่มCFMนี้หลายคนจึงพยายามที่จะมีรถเป็นของตัวเองอันทำให้การจราจรในเมืองนับวันแต่จะเลวลงๆอย่างที่เห็น

ซึ่งเรื่องนี้ต้องโทษสื่ออย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ผมเองเคยขับรถยนต์ส่วนตัวไปในที่ต่างๆในกทม. และยอมรับว่าเป็นเรื่องจำเป็นของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระต้องพาลูกไปโรงเรียนและยังไม่ไว้ใจในความปลอดภัยของระบบรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั่งรถแท็กซี่และเรือเมล์ของบ้านเรา แต่มาช่วงหลัง หลังจากที่ผมได้ปฏิบัติตนแบบ CFED มาได้สักประมาณ 10ปี ผมก็แทบจะไม่คิดหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบทนทรมานขับรถยนต์บนท้องถนนกทม.อีกเลย

เมื่อรู้ว่า CFED มันดีและสะดวกต่อชีวิตอย่างไรมากับตัวเอง ผมจึงอยากแบ่งปันสิ่งดีๆนั้นให้กับผู้ที่ยังขับรถยนต์ส่วนตัวและนั่งเครียดอยู่หลังพวงมาลัยว่า มาเป็น Car Free Man และมาใช้ชีวิตแบบ CFED กันเถิด โดยขอให้ดูที่ข้อเด่นข้อด้อยของ CFED ในตารางที่ผมสรุปมาสั้นๆดู ก่อนจะตัดสินใจก็ได้

แต่ถ้าจะให้ผมแนะนำ  ผมอยากบอกว่าชีวิตแบบ CFED เครียดน้อยกว่าชีวิตคนขับรถยนต์ส่วนตัวมหาศาลครับ

ข้อดีของการใช้ชีวิตแบบ Car Free Man (CFED)

1.ไม่ต้องจิตตกและเครียดขับรถ (เพื่อนฝรั่งคนหนึ่งบอกว่าคนไทยใจดี แต่พอขับรถยนต์แล้วไม่รู้เป็นอย่างไร จึงใจ‘ไม่ดี’)

2.ระหว่างใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชน และมือไม่ต้องจับพวงมาลัย ไม่ต้องมีสมาธิจดจ่อกับการขับรถ จิตว่างและเวลาจะว่างพอที่จะนำไปให้เป็นประโยชน์อื่นๆได้ เช่น การรับส่งอีเมล์ การอัพเดทสถานการณ์ของบริษัทหรือของประเทศหรือของโลก การแก้ปัญหาธุรกิจ การพูดคุยกับลูกๆและครอบครัว  การสอนการบ้านลูก การทำสมาธิ(นี่เป็นหลายสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดไม่ถึง) การพักผ่อน แม้กระทั่งพักสายตาหรือเอนนอนงีบหลับ  และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน ขึ้นอยู่กับบริบทและจินตนาการของแต่ละคน

3.ชีวิตเป็นอิสระขึ้น หากรถติด(โดยเฉพาะเมื่อฝนตกและจราจรเป็นอัมพาต) เราสามารถเปลี่ยนวิธีการเดินทางได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเอารถยนต์ไปจอดวางไว้ที่ใด  หากนั่งแท็กซี่ก็สามารถจ่ายค่าโดยสารนับถึงเวลานั้น แล้วเดินต่อ(ซึ่งบ่อยครั้งเร็วกว่ารถยนต์) หรือไปขึ้นบีทีเอส หรือเรือเมล์แทน หรือหากกล้าพอหรือมีความชำนาญหน่อยก็อาจพึ่งบริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

4.ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าดาวน์รถ ค่าผ่อน ค่าประกัน ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าซ่อมบำรุง

5.ลดโอกาสเสี่ยงไปทำอันตรายต่อบุคคลอื่น คือ ลดโอกาสขับรถไปชนคน หรือสิ่งกีดขวาง เช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ หัวดับเพลิง ซึ่งหากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาไม่ว่ากับใครจะมีแต่ทุกข์กับทุกข์

6.ไปประชุมหรือไปทำงานหรือไปพบผู้คนเพื่อทำธุรกิจได้ตรงเวลา  การใช้ระบบขนส่ง
สาธารณะสามารถทำให้เราเดินทางแบบ door to door ได้ ทำให้ร่นระยะทางในการเดิน
จากที่จอด(ในกรณีขับรถไป)ไปยังจุดนัดหมาย และไม่เสียเวลาไปกับการขับรถเวียนหาที่
จอดซึ่งเป็นเรื่องปวดหัวมากสำหรับหลายคน

ข้อด้อยของการใช้ชีวิตแบบ Car Free Man (CFED)
     1.ไม่สะดวกหากมีภารกิจต้องส่งลูกไปโรงเรียน

2.ดูไม่มีฐานะทางสังคม (กลัวคนเขาว่าจน)

3.หาแท็กซียาก(ข้อนี้ไม่จริงนัก เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการแท็กซีค่อนข้างมาก)

4.เรียกแท็กซีแล้วไม่ยอมไป (ส่วนนี้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่หากมองด้วยสติแล้วจะพบว่า
เหตุการณ์แบบนี้มีสัดส่วนน้อยมาก)

5.ต้องเบียดเสียดกันบนรถขนส่งมวลชน

6.ยังต้องอาศัยการเดินในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่ง(แต่ในทางกลับกันหรือมองทางบวก
การเดินนี้กลับเป็นข้อดี เพราะสามารถสร้างสุขภาพที่ดีได้)

ธงชัย  พรรณสวัสดิ์

ผู้ก่อตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

(บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2556)

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น