มีคนเขียนเรื่องเทคนิค-ทักษะการขี่จักรยานบนท้องถนนร่วมกับผู้ใช้ถนนอื่นๆ ให้เกิดความปลอดภัยออกมาเรื่อย ซ้ำกันบ้าง ต่างกันบ้าง ตามแต่ความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียน แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องดีที่ควรเรียนรู้ ตอกย้ำ และนำไปใช้ให้เป็นประจำจนเกิดเป็นนิสัย หรือสัญชาตญาณ คือทำไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมานึกหรือคิดในสถานการณ์ที่เป็นจริงบนถนน ครั้งนี้ก็มี “กฎ 12 ข้อในการขี่จักรยานเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน” มาฝากอีก
กฎ 12 ข้อดังกล่าวมีดังนี้ครับ
1. เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร คนที่ได้เคยสอบเพื่อขออนุญาตมีใบขับขี่รถยนต์ควรจะได้รับรู้กฎจราจรมาแล้ว หากยังไม่ได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบจริงจังก็ไปหามาอ่านได้ง่ายๆ จากอินเตอร์เน็ต จักรยานอยู่ใต้กฎหมายที่กำกับการใช้ถนนให้เป็นระเบียบฉบับเดียวกับยานพาหนะอื่น มีทั้งกฎทั่วไป เช่น การปฏิบัติตามป้ายและไฟสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ดังนั้นคนที่ใช้จักรยานก็ต้องหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดงเช่นเดียวกับพาหนะอื่นๆ และจอดหยุดอยู่หลังเส้นขาวหนาที่ทาไว้บนพื้นด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ข้ามถนน และให้ปลอดภัยจากรถที่แล่นในทิศทางที่ตัดกัน และกฎเฉพาะสำหรับจักรยาน ซึ่งส่วนหนึ่งจะกล่าวในข้อต่อๆ ไป
2. ขี่ตามทิศทางจราจรร่วมไปกับพาหนะอื่นๆยกเว้นแต่เป็นถนนที่มีการอนุญาตให้ขี่จักรยานย้อนทิศทางจราจร หรือที่เรียกกันว่า “ย้อนศร” ได้ เช่น ถนนที่ให้เดินรถทางเดียวบางสายอนุญาตให้ขี่จักรยาน(หรืออาจจะจักรยานยนต์ด้วย)ย้อนทิศทางได้ ในกรณีนี้ก็ควรขี่สวนไปชิดขอบถนนทางด้านคนขับรถ (ในไทยจะเป็นด้านซ้ายเพราะคนขับรถจะนั่งอยู่ด้านขวา) เพื่อให้คนขับรถเห็นชัดๆ กะระยะผ่านเมื่อสวนกันได้ดี
3. มีไฟส่องสว่างด้านหน้าและหลังเมื่อขี่ยามค่ำคืนคนขับรถจะมองเห็นจักรยานและคนขี่ได้ยากในเวลากลางคืน จึงต้องมีไฟหรือแถบสะท้อนแสง พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่ารถจักรยานต้องติดไฟส่องสว่างสีขาวด้านหน้า และไฟสีแดงหรือกระจกสะท้อนแสงสีแดงด้านหลัง นอกจากนั้นการสวมใส่สายคาดหรือเสื้อกั๊กที่มีแถบสะท้อนแสงเพิ่มเติมเข้าไปก็ช่วยได้มากในการทำให้คนขับรถเห็นผู้ขี่จักรยานได้ชัดจากระยะไกลในยามค่ำคืน
4. มีอุปกรณ์ให้สัญญาณที่เหมาะสม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ยังระบุด้วยว่า รถจักรยานต้องมีกระดิ่งเพื่อให้สัญญาณบอกว่าจักรยานกำลังเคลื่อนเข้าไปในทิศทางนั้น อาจใช้แตรก็ได้ แต่ควรเลือกแตรที่เหมาะสม ไม่ส่งเสียงดังเกินไป (อย่าใช้แตรรถยนต์หรือรถบรรทุก) จนทำให้คนตกใจหรือก่อความรำคาญ เป็น “มลพิษทางเสียง” บางครั้งการร้องบอกเสริมการใช้กระดิ่ง เช่น “ขอทางด้วยครับ” “จะแซงไปทางขวานะครับ” ก็ช่วยได้มาก เมื่อมีเสียงดังมากจากถนน และเมื่อได้ทางหรือผ่านแล้วก็ควรแสดงการขอบคุณ อาจจะด้วยวาจาหรือการก้มหัวให้ จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ที่ให้ทาง โอกาสหลังเขาก็จะยินดีให้ทางอีก
5. ให้สิทธิในการใช้ทางเท้าแก่คนเดินเท้า กฎจราจรไทยห้ามขี่จักรยานบนทางเท้า แต่ตำรวจมักอนุโลมให้ เนื่องจากรถจักรยานเป็นพาหนะขนาดเล็กและมีความเร็วไม่มาก อย่างไรก็ตาม ปกติเราควรขี่บนถนน หลีกเลี่ยงการขี่บนทางเท้า นอกจากมีการทาสีตีเส้นหรือแบ่งพื้นที่ให้จักรยานใช้บนทางเท้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในกรณีใด เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและใช้ความเร็วต่ำเมื่อขึ้นไปขี่บนทางเท้า หากตกอยู่ในสภาพที่หลีกกันไม่ได้ก็ต้องให้คนเดินเท้าได้สิทธิใช้เดินไปก่อนเสมอ ในการข้ามถนนตรงทางข้ามเช่นกัน และในกรณีที่มีคนเดินเท้าหนาแน่น หากเอาจักรยานขึ้นมาบนทางเท้าหรือทางข้ามก็ควรลงจากจักรยานและจูงจักรยานเดินไป
6. ระวังรถที่จอดอยู่ สังเกตและระมัดระวังรถที่จอดอยู่ให้ดี คนที่นั่งอยู่ในรถอาจเปิดประตูออกมาหรือคนขับอาจจะขับรถพุ่งออกมาอย่างฉับพลัน ถ้าเป็นไปได้ ควรขี่แซงหรือขนานไปกับแถวรถที่จอดอยู่ห่างออกมาอย่างน้อย 1 เมตร
7. อย่าเกาะรถที่กำลังแล่นอยู่ข้างหน้า การใช้มือเกาะรถที่แล่นอย่างหน้าให้ช่วยลากเรากับจักรยานไปด้วยเพื่อผ่อนแรง เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ทั้งผิดกฎจราจร อย่าทำเด็ดขาด
8. อย่าบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป เราต้องตระหนักว่า การใช้จักรยานบรรทุกของหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นการขี่คนเดียวขนของ หรือการที่พ่อแม่หรือพี่ให้ลูกหรือน้องซ้อนท้ายหรือซ้อนหน้า เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย หากจะทำก็ต้องแน่ใจว่ามีทักษะในการขี่จักรยานเพียงพอและใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นสองเท่าสามเท่าของการขี่คนเดียว ความจริง พ.ร.บ.การจราจรทางบกได้ห้ามการขี่เกินหนึ่งคนไว้ด้วย
9. ตรวจเบรกเสมอ สิ่งที่ควรทำทุกครั้งก่อนขี่จักรยานออกมาตามถนนคือ การตรวจลมยางว่ามีเพียงพอ และการตรวจเบรกว่าจะใช้การได้ดีทั้งเบรกหน้าและเบรกหลัง โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางที่ขี่ไม่ราบเรียบ มีหลุมบ่อ เนินหรือสะพาน และใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษเมื่อถนนเปียก เพราะถนนจะลื่นมากขึ้น เบรกได้ยากขึ้น รถจักรยานอาจปัดหรือลื่นไถลได้ ควรใช้เบรกทั้งสองควบคู่กันไปเสมอ
10. ระมัดระวังเมื่อมาถึงทางแยก ไม่ว่าจะเป็นจุดที่ซอยหรือถนนรองมาพบถนนใหญ่ สามแยก สี่แยก หรือห้าแยก (ไม่เคยเห็นมากกว่าห้าแยก) ให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะมีรถมาก การจราจรจะสับสนวุ่นวายหากจัดช่องจราจรไม่ดีหรือคนขับไร้วินัย เห็นแก่ตัว ไม่เอื้ออาทร ไม่เคารพระบบจราจร ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการชนกันสูงขึ้นมาก ขี่จักรยานให้อยู่ในช่องทางจราจรที่ถูกต้องสำหรับการแล่นตรงไปหรือการเลี้ยว ใช้สัญญาณมือช่วยบอกทิศทางของเราให้ชัดเจนขึ้น มองรอบด้านให้ดีก่อนเปลี่ยนทิศทางหรือย้ายช่องจราจร หากไม่มั่นใจและพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูง ลงจากจักรยานและเข็นข้ามในแบบเดียวกับคนเดินเท้าปลอดภัยดีกว่า
11. ใช้สัญญาณมือ เรียนรู้สัญญาณมือในการบอกให้ผู้ใช้ถนนอื่นรู้ว่าเราจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร และฝึกทักษะให้สามารถขี่จักรยานโดยใช้มือเดียวจับแฮนด์และอีกมือ-แขนให้สัญญาณได้ถูกต้องอย่างคล่องแคล่ว โดยที่รถจักรยานทรงตัวได้ดี จากนั้นก็ใช้สัญญาณมือให้เป็นนิสัย ไม่ว่าการจราจรจะเป็นเช่นไร รวมทั้งเมื่อเราขี่จักรยานอยู่คันเดียว ไม่มีรถอื่นก็ตาม
12. อย่าขี่ฉวัดเฉวียน การขี่ออกซ้ายออกขวาอย่างฉับพลันหรือเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหันเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการชนเป็นอันตราย ตามธรรมดา เราควรขี่ใกล้ขอบถนน (แต่อย่าชิดมากเกินไป ถ้าทำได้ หากมาสักหนึ่งเมตรกำลังเหมาะ) แต่ถ้ามีรถจอดเป็นระยะ ไม่ห่างกันนัก ก็ควรขี่เป็นเส้นตรงในอีกช่องทางเดินรถนอกแนวรถที่จอดออกมาจนหมดรถที่จอดจึงจะขี่เข้าไปอยู่ใกล้ขอบถนนอีก การขี่วกเข้าหาขอบถนนและขี่วกออกไปอีกช่องทางเดินรถเมื่อไปถึงรถที่จอดขวางครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งมีคำที่ผมใช้เรียกว่า “ทำตัวเป็นนินจา” ผลุบๆโผล่ๆ นั้นอันตรายมาก คนที่ขับรถตามมาอาจไม่เห็นหรือเห็นไม่ทันที่จะหักหลีก การแซงรถที่จอดควรให้สัญญาณมือและเริ่มเปลี่ยนทิศทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป(จนเกือบใกล้จะเป็นการขี่แนวตรงเบนๆ มากที่สุด) ให้รถที่ตามมาเห็นแต่ไกล
และขอเพิ่มเติมอีกข้อว่าขี่จักรยานในเมืองควรใช้ความเร็วพอสมควรอย่าขี่เร็วมาก ยิ่งขี่เร็วก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอันตราย ในขณะที่เราพยายามผลักดันให้มีการจำกัดความเร็วรถยนต์ในเมือง โดยเฉพาะในย่านชุมชน ลงมาอยู่ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในยุโรป เราก็ไม่ควรขี่จักรยานเร็วกว่านั้นเช่นกัน ความเร็ว 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว
ทำตามกฎทั้ง 12 ข้อนี้ บวกกับเรื่องความเร็ว เราก็จะขี่จักรยานบนท้องถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น เสี่ยงน้อยลงอีกมากมาย ขอให้มีความสุขเพลิดเพลินในการขี่จักรยานในเมืองนะครับ
เรียบเรียงโดย กวิน ชุติมา