Home / บทความ / ทำไมเราต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก

ทำไมเราต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก

ทำไมเราต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก

โดย ดร. เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป

เราอยู่ในยุคสมัยของพลวัตรการเปลี่ยนแปลง  การที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ประสบผลสำเร็จในการจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อน อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดกิจกรรมทางกาย ทำให้มีการหันเหความพยายามในการแก้ปัญหาไปสู่การดำเนินการในระดับนานาชาติ   ความมุ่งมั่นขององค์การสหประชาชาติ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) และคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะมีปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าวได้สร้างโอกาสที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะให้กับการใช้จักรยาน   ความรับผิดชอบของเราจึงชัดเจน นั่นคือเราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้โดยมีสายตามองไกลไปที่อนาคต  และเราต้องทำในระดับโลก

ที่ผ่านมาแม้ว่าองค์กรที่มีอยู่คือ สหพันธ์โลกของอุตสาหกรรมสินค้ากีฬา (World Federation of Sporting Goods Industry – WFSGI) จะทำงานได้ดีเยี่ยมในการเป็นตัวแทนด้านกีฬา แต่ก็ทำน้อยมากอย่างเปรียบเทียบไม่ได้กับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและในยามว่าง ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่มีในขณะนี้อาจสูญเปล่า  ในขณะที่สมาคมผู้ใช้จักรยานจากคานาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับจากเคนยา กานา และอเมริกาใต้ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยหารือถกเถียงบนเวทีโลกในเรื่องนี้และขอให้สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ออกมาเป็นผู้นำ  ECF จึงเสนอให้สร้าง “พันธมิตร(การใช้)จักรยานโลก” (World Cycling Alliance – WCA) ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการประสานงาน เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นปากเสียงที่เข้มแข็งในการผลักดันนโยบายไปที่องค์การระหว่างประเทศ

ประชามติเป็นแนวทางหลักในการทำงานของ ECF   Velocity ซึ่งเป็นงานนานาชาติประจำปีของเรา ในปัจจุบันเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกของผู้สนใจการใช้จักรยาน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่ามีความหลากหลายอยู่มากมายในมุมมองต่ออนาคต  ดังนั้นจึงต้องมีการประดิษฐ์คิดค้นคำอธิบายใหม่ขึ้นมาตอบคำถามว่า “ทำไมเราจำเป็นต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก”

คำตอบที่พบได้ธรรมดาสามัญที่สุดต่อคำถามนี้อาจจะเป็นว่า การใช้จักรยานมีประโยชน์ต่อสุขภาพ  สิ่งที่ยังไม่ได้เน้นกันเพียงพอคือการใช้จักรยานยังดีต่อเศรษฐกิจด้วย  เครื่องมือประเมินสุขภาพทางเศรษฐกิจ (Health Economic Assessment Tool – HEAT) ที่องค์การอนามัยโลกพัฒนาขึ้นมา ได้แปรเปลี่ยนประโยชน์ที่การใช้จักรยานสร้างขึ้นทางด้านสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอไปเป็นมูลค่าที่เป็นตัวเงิน  ตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรียได้แสดงให้เห็นว่ามีรายได้ 405 ล้านยูโรจากการใช้จักรยานในแต่ละปี คิดจากฐานที่มีประชาชนเดินทางด้วยจักรยานราวร้อยละ 5 ของการเดินทางทั้งหมด   และเมื่อมองดูยุโรปทั้งหมด ถ้าเป้าหมายของ ECF ที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2020 ปรากฏเป็นจริง นั่นคือมีผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางขนส่งในชีวิตประจำวันเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 14 หรือจาก 35 ล้านคนเป็น 70 ล้านคน  ผลประโยชน์เป็นตัวเงินที่มีแนวโน้มว่าทั้งยุโรปจะได้รับอาจสูงถึง 200,000 ล้านยูโร   เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณที่หดตัวลงและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้านสุขภาพในเวลานี้ ข้อถกเถียงหารือในเรื่องนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีก

คำตอบที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งในเรื่องประโยชน์ของการใช้จักรยานคือมันดีต่อสิ่งแวดล้อม  ตรงนี้อีกเช่นกันที่มีหลายอย่างที่ตาของเราอาจมองไม่เห็นในทันที  แต่ถ้าเรามาดู “ห่วงโซ่ของผลกระทบ” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญเรียก เราก็จะสามารถตามรอยไปพบผลที่เกิดขึ้นตามมาในเชิงบวกของการใช้จักรยานอย่างหลากหลาย  เป็นต้นว่า การทำที่จอดจักรยานถูกกว่าการทำที่จอดรถได้มากถึง 300 เท่า โดยที่จอดรถยนต์หนึ่งคันสามารถใช้จอดจักรยานได้ 10-20 คัน  การใช้จักรยานในฐานะรูปแบบหนึ่งของขนส่งมวลชนก็กำลังเป็นประเด็นที่เห็นกันขึ้นมา  ค่าใช้จ่ายในการสร้างฟรีเวย์ (ถนนที่รถยนต์สามารถแล่นได้อย่างไหลลื่น ไม่มีอุปสรรค เช่น ไฟสัญญาณจราจร) ในเมือง 1 กิโลเมตร สามารถสร้างทางจักรยานได้ถึง 150 กิโลเมตร

นอกจากการผลักดันนโยบายในระดับสูงสุดแล้ว พันธมิตรจักรยานโลกจะเน้นไปที่จะสร้างภาพใหม่ให้การใช้จักรยานว่าเป็นสิ่งที่เป็นทั้งรากฐานและจุดสูงสุดของการดำรงชีวิตสมัยใหม่   สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเป็นเรื่องของความยั่งยืนและการดำรงชีวิตอย่างแข็งขันกระฉับกระเฉง  สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา มันเป็นข้อพิสูจน์ว่าเราสร้างความเสมอภาคทางสังคมและความปลอดภัยทางถนนได้   ในประเทศอย่างเช่นไนจีเรียและไทย ทางหลวงสำหรับรถยนต์ได้ผลักดันให้คนเดินเท้ากลายเป็นคนชายขอบด้วยการจำกัดศักยภาพของพวกเขาที่จะแข่งขันกับคนที่สามารถจ่ายเงินซื้อพาหนะจักรกลได้  ชัดเจนว่าสิ่งที่ได้มาจากการใช้จักรยานสามารถมีผลกระทบอย่างแท้จริงทั้งในเศรษฐกิจและในชีวิตของผู้คน  การสร้างพันธมิตรจักรยานโลกขึ้นมาด้วยคำแนะนำจาก ECF เป็นสิ่งที่จำเป็นในการให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมาจากหน้าต่างของโอกาสที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น และในการสื่อสารประโยชน์หลายด้านของการใช้จักรยานนี้ไปยังคนหลายล้านคนทั่วโลก

กราฟแสดงการผลิตจักรยานและรถยนต์ทั่วโลก ในช่วงห้าสิบปีระหว่าง 1950 – 2000 (แหล่งข้อมูล: Worldwatch Institute)

อุตสาหกรรมจักรยานโลก: ตลาดจักรยานทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ในปี 2011

การศึกษาตลาดจักรยานทั่วโลก ซึ่งทำประจำปีเป็นครั้งที่ 7 โดย NPD Group, Inc. บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำ พบว่ามีการขายจักรยานออกไปทั้งหมด 191 ล้านคันในปี 2011  ยอดขายทั่วโลกรวมแล้วคิดเป็นเกือบ 36,000 ล้านยูโร หรือ 50,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว  เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2010 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเดียวกับตลาดอุปกรณ์กีฬาทั่วโลก   จักรยาน 191 ล้านคันที่ขายในปี 2011 มีราคาโดยเฉลี่ยคันละ 136 ยูโร (190 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6,000 บาท) ทำให้ยอดขายรวม 36,000 ล้านยูโร  รายได้จากการขายสินค้าสำหรับการใช้จักรยานคิดเป็นร้อยละ 15 ของรายได้จากสินค้าการกีฬาทั้งหมด   นับแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ร้อยละ 50 ของการเติบโตของการใช้จักรยานทั่วโลกเกิดขึ้นในห้าประเทศ คือ จีน เยอรมนี อินเดีย เกาหลีใต้ และบราซิล

ทวีป

ผลผลิตมวลรวมประชาชาติต่อคน

ประชากร (ล้าน) / ร้อยละของทั้งโลก

จักรยานที่ขายไป (ล้านคัน)

ราคาเฉลี่ย

ยอดขายจักรยาน (พันล้าน)

เอเชีย

2,539

4,100 / 60

122.7

272

22.9

อาฟริกา

1,560

1,000 / 15

10.0

50

0.5

ยุโรป

25,467

738.2 / 11

26.6

399

10.6

อเมริกาเหนือ

32,296

542.1 / 8

18.7

205

3.8

อเมริกาใต้

9,254

392.6 / 6

10.0

150

1.5

โอเชียนเนีย

29,909

29.1 / 0.4

3.0

205

0.615

รวม

(เฉลี่ย) 16,387

6,800

191.0

190

40.0 ไม่รวม VAT

 แหล่งที่มา: VCP ตัวเลขโดยประมาณใช้จากหลายแหล่ง            หมายเหตุ:  หน่วยของเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ

เกี่ยวกับผู้เขียน:ดร. เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์เป็นเลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปและผู้อำนวยการชุดการประชุม Velocity มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2006    ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นผู้อำนวยการของ Fietsersbond องค์กรผู้ใช้จักรยานระดับชาติในเนเธอร์แลนด์, เป็นรักษาการผู้อำนวยการของ Milieufederatie Groningen (องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมของเนเธอร์แลนด์ในจังหวัดโกรนิงเกน)  นอกจากนั้นเขายังเป็นรองนายกเทศมนตรีเมือง Coevorden ในเนเธอร์แลนด์ด้วยมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับผิดชอบด้านกิจการสาธารณะ การวางแผนใช้พื้นที่ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และการเงิน

บทความต้นฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ใน WFSGI Magazine 2014

เรียบเรียงโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกวิสามัญ(Associate Member) ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปตั้งแต่มิถุนายน 2013 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชีย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น