‘อาคารยั่งยืน’ ไม่ใช่อาคารที่สร้างมาแล้วไม่พัง หรือมีอายุใช้งานได้นานเท่านาน นั่นมันคืออาคารอยู่ยาว แต่อาคารยั่งยืนนี้ทั่วโลกเขาหมายถึงอาคารที่ตั้งใจออกแบบและก่อสร้าง รวมไปถึงการใช้งานอย่างเข้าใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งถ้าทำได้ อาคารนั้นก็ถือว่าเป็นอาคารที่สร้างความยั่งยืนให้แก่โลกของเรา
และความยั่งยืนนี้แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นต่อๆไป สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือที่หลายคนชอบเรียกว่าอาการ ‘โลกร้อน’) การใช้พลังงานให้หมดไปจากโลก ความสกปรกของอากาศที่เราต้องหายใจ การร่อยหรอของทรัพยากร การแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ ว่ากันไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม
จึงถือเป็นความน่าภูมิใจของคนไทย ที่มีองค์กรใหญ่ระดับชาติองค์กรหนึ่งของไทยได้รับรางวัลอาคารยั่งยืนระดับโลก อาคารที่ว่านี้คืออาคาร SCG 100 ปี
อาคารนี้ได้รับรางวัลระดับพลาตินัม(ทองคำขาวซึ่งถือว่ามีค่าสูงสุด) จากสภาอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา หรือ Leadership in Energy and Environmental Design, LEED, Council of Green Building เมื่อเดือนมกราคม 2557
โดยอาคารนี้ต้องใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมาตั้งแต่แรก คือเริ่มตั้งแต่วิธีคิดและนโยบายของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ซึ่งจะมีผลต่อไปยังแนวคิดและวิธีการออกแบบของสถาปนิกและวิศวกร ให้ประหยัดพลังงานให้มาก ปล่อยของเสียให้น้อย เป็นมิตรกับชุมชนรอบข้าง และมีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ
อาคารนี้ออกแบบก่อสร้างโดยตั้งใจใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุรีไซเคิล ใช้ระบบสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำ ไม่ใช้ไม้จากการตัดป่า ใช้กระจกที่กรองแสง/กันความร้อนเข้าอาคาร มีระบบควบคุมอาคารแบบอัตโนมัติ ทำให้ประหยัดการใช้พลังงานและทรัพยากร และอื่นๆ อีกมากมาย
เรื่องพวกนี้สำหรับบางคนอาจฟังดูเป็นเรื่องพื้นที่ใครๆก็รู้ และเห็นว่าใครๆก็น่าจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสังคมโลก แต่ในฐานะที่ผมเคยมีอาชีพทางวิศวกรรมและเคยสอนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ต้องขอบอกว่าไม่ง่ายเลย เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและความยุ่งยากขึ้นมาก หากใจไม่แข็งพอผู้บริหารก็มักยกเลิกนโยบายแรงๆแบบนี้ และหันไปออกแบบการสร้างอาคารแบบธรรมดาๆแทน
จึงต้องขอเป็นตัวแทนคนไทยอีกหลายคน แสดงความยินดีต่อองค์กรที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และแสดงความชื่นชมที่มีความตั้งใจจริงในการสร้างความยั่งยืนให้กับอาคาร เป็นต้นแบบของสังคมไทยต่อไป
มีตัวชี้วัดหนึ่งที่ใกล้ตัวผม และผมเห็นว่าแม้เป็นตัวชี้วัดเล็กๆ(แต่ยิ่งใหญ่ในตัวของมัน) ที่ยากที่ผู้บริหารระดับสูงซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสมาสัมผัสกับมันจริง จะเข้าใจในความสำคัญของตัวชี้วัดนี้ คือตัวชี้วัดที่กำหนดให้มี ‘ที่จอดพิเศษสำหรับจักรยาน’ ซึ่งเตรียมไว้ตั้งแต่แนวคิดและการออกแบบ มิใช่มาดัดแปลงเพิ่มเติมในภายหลัง
ขอขอบคุณและชื่นชมครับ
อ้อ…ขอตบท้ายหน่อยว่า Green Building นี่เขาเรียกว่า ‘อาคารเขียว’ นะครับ ไม่ใช่ ‘อาคารสีเขียว’ เพราะอาคารนั้นไม่ได้ทาสีเขียว จึงมองยังไงก็ไม่เห็นเป็นอาคารสีเขียว แต่ที่เขาเรียกว่า Green นั้น เขาหมายถึง ‘ความเขียว’ ของมันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรัชญาหรือความคิดในแนวนั้น ซึ่งไม่ใช่สีที่ตามองเห็น
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
เมษายน 2557
——————————-
* การรับรองมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นมาตรฐาน Green Building ที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกในลักษณะโครงการนำร่องในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2541 โดยองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร (Non-profit Organization) ของสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อว่า สภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Green Building Council (USGBC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดทั่วโลก