Home / บทความ / ความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศบนอานจักรยาน

ความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศบนอานจักรยาน

เรื่อง :   วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพประกอบ : k-9

เย็นดีเล็งเห็นแล้วว่า ด้วยวัย 12 ขวบ เธอสามารถออกแบบการดำเนินชีวิตโดยเบียดเบียนโลกให้น้อยที่สุดได้อย่างไร

แต่ฝันต้องสลายเหมือนฟองสบู่แตกกลางอากาศเมื่อพ่อไม่อนุมัติ

         “ในความเห็นของพ่อ สิ่งที่หนูต้องเรียนรู้ในวัยนี้และควรเอาตัวออกห่างที่สุด หนึ่งคือเคเอฟซีซึ่งหนูโปรดปราน สองคือถนนกรุงเทพฯ อย่างแรกมันจะทำให้หนูเป็นโรคอ้วน ส่วนอย่างหลังพ่อไม่เห็นด้วยหากหนูจะขี่จักรยานไปโรงเรียนหรือขี่ไปเรียนเปียโนและบัลเล่ต์”

         เย็นดีคำนวณในใจพบว่า การไม่ทานเคเอฟซี ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนย่อมเป็นเธอเพียงผู้เดียว แต่หากเธอใช้จักรยาน โลกทั้งใบจะได้รับประโยชน์

        “เพื่อนหนูที่ชื่ออดิศร เขายังขี่จักรยานมาเรียนเลยค่ะคุณพ่อขา” เย็นดีใช้ความเร็วเท่าการเดินทางของแสงในการกุเรื่องเพื่อนที่ชื่ออดิศรขึ้นมา

        “แต่หนูเป็นผู้หญิงนะเย็นดี อนุสรณ์เป็นผู้ชาย”

        “อดิศรค่ะ ไม่ใช่อนุสรณ์”

        “นั่นแหละ” พ่อพูดพลางพลิกหนังสือพิมพ์ ก้มมองหน้ากระดาษ “หนูรู้มั้ย ผู้ใช้จักรยานในอเมริกาส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 25-64”

         พ่อเล่าอีกว่า ผู้หญิงอเมริกันใช้จักรยานเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด ขณะที่ในเยอรมนี ผู้หญิงใช้จักรยานเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใช้จักรยานทั้งหมด ที่เนเธอร์แลนด์ สัดส่วนการใช้จักรยานของผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย

        “ทำไมคะคุณพ่อ ทำไมผู้หญิงอเมริกันจึงใช้จักรยานน้อยกว่าผู้หญิงเยอรมันหรือฮอลแลนด์”

        “ถ้าลูกบอกพ่อได้ พ่อจะซื้อจักรยานให้ แต่มีข้อแม้ว่า ไว้สำหรับออกกำลังกายในหมู่บ้านเท่านั้นนะ”

        เย็นดีตาวาวดั่งแสงอาทิตย์สาดกระทบเฟรมจักรยานชุปโครเมียมสะท้อนในดวงตา ความต้องการอยากได้จักรยานนำทางเธอไปพบกับ เอลลี่ บลู (Elly Blue)

เอลลี่ บลู เป็นนักเขียน เป็นนักกิจกรรมชาวพอร์ทแลนด์ และเป็นผู้หญิงที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน บลูเขียนบทความเกี่ยวกับการใช้จักรยาน โดยจะพิมพ์รวมเล่มในชื่อ Bikenomics ในปี 2013 เธอบอกว่าเหตุผลสำคัญ 2 ประการที่ทำให้ผู้หญิงอเมริกันขี่จักรยานกันน้อย

หนึ่ง…ความกลัว และสอง…แฟชั่น

      บลู บอกโดยอิงผลการศึกษาชิ้นหนึ่งว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเลือกขี่จักรยานบนถนนย่านที่พักอันเงียบสงบ ขณะที่ผู้ชายบ่ยั่นความชุลมุนของเส้นทางหลักที่การจราจรหนาแน่น การศึกษานี้สรุปว่า หากเมืองไหนสามารถหว่านล้อมให้ผู้หญิงขี่จักรยานได้ นั่นคือเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทางจักรยานที่ปลอดภัยต่อความรู้ขณะเดียวกันผู้หญิงมักกังวลกับการขี่จักรยานไปทำงาน เพราะแสงแดดและสายลมระหว่างขี่จักรยานจะทำลายความเป็นมืออาชีพของผู้หญิงเมื่อไปถึงที่ทำงาน นั่นคือการหลอมละลายของเครื่องสำอางบนใบหน้า และทรงผมที่เซ็ตไว้ตอนเช้า

นอกจากนี้ บลูยังบอกว่า การจ้างงานที่กีดกันเรื่องเพศยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานของผู้หญิง ผู้หญิงมีแนวโน้มยากจนกว่าผู้ชาย “เรายังไม่ได้รับค่าแรงที่เท่ากัน ในการทำงานลักษณะเดียวกัน ผู้ชายได้ค่าตอบแทน 1 ดอลล่าร์ ผู้หญิงจะได้เพียง 77 เซนต์เท่านั้น ยังไม่รวมอคติด้านการจ้างงานที่มีต่อสตรีมีครรภ์ และมีบทบาทเป็นมารดา” บลู บอก

       ในอนาคตหากเย็นดีมีโอกาสได้เป็นแม่ แต่ละวันเธอต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงในการทำงานบ้าน ไหนจะต้องใช้เวลาดูแลลูก ทั้งที่ผู้หญิงยังต้องทำงานเช่นเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย

       บลูพยายามโยงเหตุเหล่านี้เข้าสู่ผลของการไม่สามารถมีเวลาในการใช้จักรยานบนถนนที่มีข้อจำกัด เพราะหัวใจของระบบขนส่งมวลชนอยู่ที่รถยนต์ ไม่ใช่จักรยาน

       เย็นดีบอกพ่อว่า หากรถยนต์เป็นผู้ชาย จักรยานก็เป็นเหมือนผู้หญิง

       เมื่อฟังจนจบ พ่อพูดกับเย็นดีว่า “พ่อรู้แล้วว่าหนูอยากได้จักรยานจริงๆ”

       “แต่บลูทำหนูหดหู่ในการเป็นผู้หญิง”

       พ่อคว้าเย็นดีมากอด “ไม่ใช่บลูเป็นคนทำหรอกลูก แต่ใครน่ะหรือ พ่อก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน อาจเป็นคนแบบพ่อนี่ก็ได้”

       เย็นดีอยากให้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยรู้จักและพูดคุยกับบลู เพราะหลายเดือนก่อนตอนที่รัฐบาลออกนโยบายลดภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก เย็นดีรู้ด้วยหลักเหตุผลง่ายๆ ว่ารถยนต์ย่อมจะเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่ามันสวนทางกับแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก

       เย็นดีบอกกับพ่อว่า “ไม่ว่าพ่อจะเลือกรัฐบาลนี้เข้ามาหรือไม่ แต่หนูก็หวังว่าพ่อจะไม่เห็นดีเห็นงามกับนโยบายนี้นะคะ”

       “อืม…การที่พ่อเป็นพ่อของลูกสาวนักสิ่งแวดล้อมนี่ก็ลำบากเหมือนกันนะ…เอาอย่างนี้ ทุกเช้าตอนส่งหนูไปโรงเรียน พ่อสัญญาว่าจะไปรับอดิศรเพื่อนหนูติดรถไปโรงเรียนด้วย เขาจะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน คาร์พูลพอไหวมั้ยแม่นักสิ่งแวดล้อม”

        เย็นดีพยายามใช้ความคิดอย่างยิ่งในการบอกพ่อว่าบ้านอดิศรอยู่แถวไหน

Portland model

·   จำนวนบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจักรยานเพิ่มขึ้นจาก 95 แห่งในปี 2006 เป็น 143 แห่งในปี 2008 ในช่วง 2 ปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมจักรยานเติบโตถึง 50 เปอร์เซ็นต์

·   เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับจักรยานในพอร์ตแลนด์ทำให้เกิดการจ้างงาน 850-1150 ตำแหน่ง

·   ผู้ผลิตจักรยานแฮนด์เมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 17 หรืออัตราการเติบโต 340 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่เติบโตเร็ว และกำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มสื่อเป็นอย่างมาก

·   ในพอร์ตแลนด์มีกิจกรรมจักรยาน ทั้งแข่งขัน ทัวร์ รวมกันกว่า 4,000 รายการต่อปี หรือ ทุกๆ 27 นาทีจะต้องมีรายการปั่นจักรยานเกิดขึ้น 1 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2006 ที่มีกิจกรรมการปั่นจักรยาน 2100 รายการต่อปี

·   New Seasons Market ตลาดท้องถิ่นในเมืองพอร์ทแลนด์มีพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์น้อยกว่าพื้นที่สำหรับจอดจักรยาน

·   ติดตามความเคลื่อนไหวของ Elly Blue ทาง twitter ได้ที่ @ellyblue

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โลกร้อน เย็นดี  / มกราคม 2555)   http://waymagazine.org/environment/ความไม่เท่าเทียมเรื่อง

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น