ระบบวงเวียนเป็นระบบการจราจรแบบหนึ่งที่ใช้สำหรับบริเวณที่มีถนนหลายสายมาเจอกันประกอบขึ้นเป็นสี่แยก สามแยก ห้าแยก หรือกี่แยกก็ตามที ถ้าไม่ใช้ระบบไฟจราจรเขาก็มักจะใช้ระบบวงเวียนกัน ระบบวงเวียนนี้ใช้ได้ดีกับการจราจรที่ไม่หนาแน่นมากนัก ในกรุงเทพมหานครก็เคยมีใช้เยอะ เช่นที่ปทุมวัน หรือศาลาแดง หรือราชเทวี แต่ตอนนี้ถูกทุบทิ้ง เอาพื้นที่มาทำเป็นสี่แยกไฟแดงแทน
ที่เหลืออยู่จริงๆ ก็เป็นประเภทวงเวียนประวัติศาสตร์ เช่น วงเวียน 22กรกฎา วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น นอกนั้นก็เป็นวงเวียนตามต่างจังหวัด ซึ่งยังมีอยู่อีกไม่น้อย
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่เกี่ยวกับจักรยาน
ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบแบบประเทศอังกฤษ จะมีวงเวียนอยู่มาก สมัยก่อนตอนรถน้อยๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร รถยนต์กับรถจักรยานต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งกันไปผลัดกันมา เหตุการณ์เรียบร้อยดี จนมาสมัยนี้จำนวนรถยนต์มีมากขึ้น การขี่จักรยานเข้าหรือออกวงเวียนจึงไม่ง่ายและปลอดภัยเหมือนสมัยก่อน
วิศวกรอังกฤษก็เลยคิดวิธีเข้าออกวงเวียนสำหรับคนใช้จักรยานขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยทาสีเขียวบอกเป็นเส้นทางจักรยานให้เห็นอย่างชัดเจนบนขอบรอบนอกของวงเวียน ทางจักรยานเข้าออกวงเวียนนี้อาจต่อเข้ากับทางจักรยานบนถนนที่วิ่งสู่วงเวียนนี้ก็ได้ หรือไม่ต่อก็ได้(กรณีที่ไม่มีทางจักรยานบนถนนที่วิ่งสู่วงเวียนนั้น)
หลักการของการทำวงเวียนจักรยานแบบนี้ คือทำเป็นรูปทรงทางเรขาคณิต ที่ทำให้พื้นที่วงเวียนมีขนาดเล็กลง และมีการทำเกาะกั้นช่อง(เลน)จราจรด้วย ซึ่งวิธีนี้ทำให้สปีดรถยนต์ลดลงแต่ความปลอดภัยสูงขึ้น โดยยังไม่รบกวนการเคลื่อนตัวของการจราจรมากนัก
ทางจักรยานในวงเวียนจะมีอยู่รอบวงเวียน(ด้านนอก) แต่พอถึงทางออกจากวงเวียน ก็จะมีเลนเป็น 2เลน เลนหนึ่งเป็นเลนออกสู่ถนน อีกเลนเป็นเลนตรงต่อไปในวงเวียน แบบนี้รถยนต์ที่วิ่งตามหลังมาก็สามารถรู้ได้ว่าจักรยานจะมุ่งหน้าไปทางไหน ก็จะขับรถเบี่ยงหรือชะลอความเร็วลง
ทำให้อุบัติเหตุไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็น้อยลง
วงเวียนที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เขาเรียกว่าวงเวียนสีเขียว เพราะเขาทาสีเขียวไว้บนทางจักรยานทำขึ้นที่เมืองยอร์คในประเทศอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อความสะดวกของคนใช้จักรยานประมาณ ๘๐๐ คนต่อวัน
น่าสังเกตว่า เพียงแค่สำหรับคนใช้จักรยาน 800 คน เขาก็ทำเรื่องนี้กันแล้ว นี่ก็แสดงถึงวิธีคิดของเขาว่า เขาให้คุณค่ากับวิถีทางเลือกในการเดินทางแบบไม่มีมลพิษ ไม่ใช้พลังงาน และเป็นการเดินทางที่ยั่งยืนแบบจักรยานนี้เพียงใด
ผู้บริหารประเทศไทยเห็นแล้วว่าน่าจะเอาเป็นตัวอย่างบ้างนะ
อ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
จากหนังสือชุด I bike I walk เล่ม 2 ชุมชนไทยหัวใจจักรยาน
ตอนที่ 20 วงเวียนจักรยาน