คำแนะนำบางประการเกี่ยวกับการขี่จักรยานยามค่ำคืน (ตอนที่ ๑)
“คืนนี้ไปขี่จักรยานกันไหม?”
เมื่อถูกถามด้วยคำถามนี้ พวกเราแต่ละคนอาจจะคิดในใจและมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป บางคนดีใจจากประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับมาในอดีต อาจจะเป็นความประทับในบรรยากาศที่สวยงาม การได้ขี่สบายผ่อนคลายกว่าในเวลากลางวัน เพราะไม่มีแดดร้อน มีรถยนต์น้อยกว่า หรือความรู้สึกว่าได้ผจญภัยไปอีกแบบหนึ่ง ฯลฯ แต่การขี่จักรยานกลางคืนก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับคนทุกคน มีความเสี่ยงต่ออันตรายบางอย่างเพิ่มมากขึ้นเนื่องความมืดที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง ทั้งคนขี่จักรยานเองและผู้ใช้ยานยนต์อื่นๆ จึงไม่แปลกที่หลายคนรู้สึกว่าการขี่จักรยานกลางคืนน่ากลัวกว่าตอนกลางวัน
แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ๆสำหรับทุกคนที่จะออกไปขี่จักรยานยามค่ำคืนคือ การเตรียมตัวให้พร้อม ซึ่งก็มีคำแนะนำหรือหลักปฏิบัติอยู่บางประการที่ใช้ได้ทั่วไป ที่ควรทำ หรือความจริง หลายข้อนั้นต้องทำเลยล่ะ จึงจะขี่จักรยานได้อย่างสบายใจมีความสุขและปลอดภัย
มี(โคม)ไฟที่ใช้ได้ดีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
การมี(โคม)ไฟติดจักรยานทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นข้อบังคับในไทยตาม พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ลักษณะ ๑๐ รถจักรยาน โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐ ว่า “…. ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องจัดให้มี….
(๓) โคมไฟติดหน้ารถจักรยานแสงขาวไม่น้อยกว่าหนึ่งดวงที่ให้แสงไฟส่องตรงไปข้างหน้าเห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่าสิบห้าเมตร และอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาของผู้ขับขี่ซึ่งขับรถสวนมา
(๔) โคมไฟติดท้ายรถจักรยานแสงแดงไม่น้อยกว่าหนึ่งดวงที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลังหรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน ซึ่งเมื่อถูกไฟส่องให้มีแสงสะท้อน
และในมาตรา ๘๑ ว่า “ในเวลาต้องเปิดไฟตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๖๑ ผู้ขับขี่รถจักรยานอยู่ในทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดทำไว้สำหรับรถจักรยานต้องจุดโคมไฟแสงขาวหน้ารถเพื่อให้ผู้ขับขี่หรือคนเดินเท้า ซึ่งขับรถหรือเดินสวนมาสามารถมองเห็นรถ”
ตัวอย่างโคมไฟหน้าแบบต่างๆ ตัวอย่างโคมไฟหลัง
ถึงจะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ การมีไฟส่องสว่างก็น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับการขี่จักรยานในเวลากลางคืน ไฟหน้าช่วยให้เราเห็นทางว่าไปทางใด มีอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ และคนที่อยู่ข้างหน้าเราเห็นว่าเรากำลังขี่จักรยานเข้าไปหา ส่วนไฟหรือวัตถุสะท้อนแสงทางด้านหลังจะทำให้คนที่ขับขี่ตามมาเห็นว่ามีเราขี่จักรยานอยู่ข้างหน้า ความสว่างที่เราต้องให้โคมไฟของเราส่องออกมานั้นแปรไปตามสภาพของถนน หากขี่บนถนนที่มีไฟส่องสว่างดีมากอยู่แล้ว เช่น ถนนในเมืองบางสาย โคมไฟของเราก็อาจจะไม่ต้องให้แสงออกมาสว่างมากนัก แต่หากขี่ในที่มืดมากๆ เช่น ถนนในชนบทที่ไม่มีโคมไฟส่องถนนเลย เราก็ย่อมต้องการโคมไฟที่มีพลังสูงเป็นธรรมดาจึงจะเห็นถนนได้ชัดเจน ถ้าจะเอาตามกฎหมายก็ในระยะไม่น้อยกว่าสิบห้าเมตร ดังนั้นถ้าเรามีโอกาสขี่กลางคืนบนถนนที่มีสภาพต่างๆ ก็อาจต้องมีโคมไฟพลังสูงไว้ก่อน
ตัวอย่างโคมไฟพลังสูง
อย่างไรก็ตาม มีข้อระวังในการใช้โคมไฟพลังสูง(สว่างมาก)แบบที่เดี๋ยวนี้นักจักรยานบางคนนิยมใช้ ดังที่กฎหมายระบุคือ ให้ไฟส่องไป “อยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาของผู้ขับขี่ซึ่งขับรถสวนมา” นั่นคืออย่าให้ไฟส่องใส่ตาผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะสวนมา ซึ่งจะทำให้เขามองไม่เห็น (แบบเดียวกับที่เราประสบเมื่อรถที่แล่นสวนมาเปิดไฟสูงใส่) และก่อให้เกิดอันตรายได้ และถ้าเราตั้งไฟให้กระพริบ หากไฟสว่างมากและกระพริบถี่มากก็ย่อมระเคืองตาคนที่ต้องมองเป็นเวลานานได้ แบบเดียวกับเมื่อเรามองไฟกระพริบของรถตำรวจหรือรถฉุกเฉินทั้งหลาย ทางที่ดีในเขตเมืองที่ถนนมีไฟส่องสว่างอยู่แล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย ท่านที่ใช้โคมไฟพลังสูงควรจะลดความสว่างของไฟหน้าลงหากทำได้ หากเป็นไฟกระพริบก็ตั้งให้กระพริบช้าลง
ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟแบบใดชนิดใดก็ต้องตรวจก่อนเดินทางว่าใช้ได้ดี ถ้าเป็นแบบที่ใช้แบตเตอรี่ (ที่เรามักเรียกกันติดปากว่า “ถ่าน” หรือ “ถ่านไฟฉาย” นั้นที่ถูกคือแบตเตอรี่ชนิดหนึ่ง) แบตเตอรี่นั้นยังมีไฟฟ้าอยู่มากพอที่จะให้โคมไฟของเราส่องสว่างได้ตามความต้องการตลอดทางที่เราจะขี่ไป หากไม่แน่ใจก็ต้องเปลี่ยนใหม่ หรือถ้าเป็นแบตเตอรี่ชนิดที่ชาร์จไฟได้ ก็ชาร์จไฟเสียก่อนเดินทาง เพื่อความรอบคอบ เราก็น่าจะเอาสายชาร์จไฟติดตัวไปด้วยเสมอเวลาใช้จักรยานเช่นเดียวกับโคมไฟ เพราะเราอาจจะจำเป็นต้องเดินทางกลางคืนโดยไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน
ถ้าเป็นแบบที่ใช้ไดนาโมปั่นไฟ ก็ต้องตรวจว่าชุดระบบไดนาโมใช้การได้ดี รถจักรยานประเภท Utility Bike หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “จักรยานแม่บ้าน” โดยเฉพาะที่มาจากญี่ปุ่น มักจะมีโคมไฟติดมาด้วย โดยได้พลังงานไฟฟ้าจากไดนาโม ไดนาโมนี้จะมีสองแบบคือ แบบที่ซ่อนอยู่ในดุมล้อและมีกลไกให้จ่ายไฟฟ้าให้โคมไฟในเวลามืดเท่านั้น ซึ่งสะดวกมาก แต่จะตรวจสอบว่าใช้ได้ดีหรือไม่ก็ในยามมืดเท่านั้น อีกแบบหนึ่งตัวไดนาโมติดอยู่กับโครงข้างล้อและมีกระเดื่องที่จะดีดให้ก้านหมุนไปแตะกับล้อให้ไดนาโมปั่นไฟฟ้าได้เมื่อต้องการ แบบนี้เราสามารถตรวจสอบว่าโคมไฟใช้ได้หรือไม่โดยให้คนหนึ่งขี่จักรยานให้เคลื่อนไปเร็วพอสมควรและอีกคนหนึ่งดูว่าโคมไฟสว่างไหม แม้จะดูลำบากสักนิดในเวลากลางวัน แต่ก็สังเกตได้
โคมไฟหรือดวงไฟสำรอง (สีขาวข้างหน้า สีแดงข้างหลัง)
นอกจากนั้น คุณควรจะมีโคมไฟสำรองติดตัวไว้ด้วยอีกชุดหนึ่ง อย่างน้อยก็ไฟท้าย เพราะถึงอย่างไรก็อาจเกิดปัญหากับโคมไฟหลักของเราได้ เดี๋ยวนี้เราสามารถหาโคมไฟเล็กๆ ที่เอามาใช้เป็นของสำรองที่ดีพอได้แล้วในราคาถูกมากเพียงยี่สิบบาทเท่านั้น และก็เช่นเดียวกับโคมไฟหลัก คุณต้องตรวจพลังไฟฟ้าของโคมไฟสำรองอยู่เสมอให้แน่ใจว่าหากต้องนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน มันก็จะใช้ได้ดี ผู้ที่มีประสบการณ์บางคนถึงกับแนะว่า ให้เปิดไฟท้ายสองดวงพร้อมกันแต่แรกเลย เผื่อว่าดวงหนึ่งดับไปโดยคุณไม่รู้ตัว นอกจากนั้นเราก็ยังอาจแบ่งปันยกโคมไฟสำรองให้ผู้ใช้จักรยานคนอื่นที่เราพบระหว่างทางว่าเขาไม่มีไฟ แต่จำเป็นต้องใช้จักรยานยามค่ำคืน ได้อีกด้วย
ตัวอย่างเสื้อกั๊กติดแถบสะท้อนแสง และสายคาดตัวสะท้อนแสง
เครื่องช่วยการมองเห็น
ทีนี้นอกจากโคมไฟแล้ว ผู้ใช้จักรยานยังควรจะต้องใช้อะไรอีกหรือไม่เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายจากการชน และกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ นี่ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ บางคนเห็นว่า การมีโคมไฟส่องสว่าง (หรือทางด้านหลังอาจจะเป็นวัตถุสะท้อนแสง) ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้ใช้ถนนอื่นๆ มองเห็นผู้ใช้จักรยานได้ชัดเจนในที่มืด อีกทั้งจักรยานทั่วไปที่ได้มาตรฐานจะติดวัตถุสะท้อนแสงที่ขอบบันไดอยู่แล้ว และจักรยานที่มีบังโคลนก็มักจะมีวัตถุสะท้อนแสงที่บังโคลนหลังด้วย จึงไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอื่นอีก แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่เสนอแนะว่า ไม่เสียหายอะไรที่จะเพิ่ม “เครื่องช่วยการมองเห็น” อื่นๆ เข้าอีก เช่น ใส่เสื้อผ้าที่มองเห็นได้ง่าย สีสดใส อย่าใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีเข้มทึบอื่นๆ , ใส่วัตถุสะท้อนแสงเพิ่มเติม เช่น เสื้อกั๊กติดแถบสะท้อนแสง, เข็มขัดแถบสะท้อนแสง หรือสายรัดข้อเท้า-รัดแขนที่เป็นแถบสะท้อนแสง ซึ่งแถบสะท้อนแสงที่มีคุณภาพดีจะสะท้อนแสงให้เห็นจากระยะเกิน ๑๐๐ เมตร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
กวิน ชุติมา