คำแนะนำบางประการเกี่ยวกับการขี่จักรยานยามค่ำคืน (ตอนที่ ๒)
ภรรยากับผู้เขียนเมื่อกลับถึงบ้านจากไปงานศพที่วัดมกุฎกษัตริยาราม (มีนาคม ๒๕๕๖)
โปรดสังเกตความสว่างจากแถบสะท้อนแสงที่คาดตัวกับข้อเท้า
“คืนนี้ไปขี่จักรยานกันไหม?”
เมื่อถูกถามด้วยคำถามนี้ พวกเราแต่ละคนอาจจะคิดในใจและมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป บางคนดีใจจากประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับมาในอดีต อาจจะเป็นความประทับในบรรยากาศที่สวยงาม การได้ขี่สบายผ่อนคลายกว่าในเวลากลางวัน เพราะไม่มีแดดร้อน มีรถยนต์น้อยกว่า หรือความรู้สึกว่าได้ผจญภัยไปอีกแบบหนึ่ง ฯลฯ แต่การขี่จักรยานกลางคืนก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับคนทุกคน มีความเสี่ยงต่ออันตรายบางอย่างเพิ่มมากขึ้นเนื่องความมืดที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง ทั้งคนขี่จักรยานเองและผู้ใช้ยานยนต์อื่นๆ จึงไม่แปลกที่หลายคนรู้สึกว่าการขี่จักรยานกลางคืนน่ากลัวกว่าตอนกลางวัน
แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ๆสำหรับทุกคนที่จะออกไปขี่จักรยานยามค่ำคืนคือ การเตรียมตัวให้พร้อม ซึ่งก็มีคำแนะนำหรือหลักปฏิบัติอยู่บางประการที่ใช้ได้ทั่วไป ที่ควรทำ หรือความจริง หลายข้อนั้นต้องทำเลยล่ะ จึงจะขี่จักรยานได้อย่างสบายใจมีความสุขและปลอดภัย ในตอนที่ ๑ ที่ลงไปแล้ว กล่าวถึงการมี(โคม)ไฟที่ใช้ได้ดีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และเครื่องช่วยการมองเห็น ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒
———————————————————————————————————————————————————-
เลือกเส้นทางที่น่าจะปลอดภัยกว่า
แน่นอนว่า การมี(โคม)ไฟส่องสว่าง(ทางด้านหน้า)ที่เหมาะสมช่วยให้ผู้ใช้จักรยานเห็นทางข้างหน้าและขี่ไปได้ปลอดภัยมากขึ้น แต่คนที่มีประสบการณ์จะรู้ว่า โดยเฉพาะในเมืองไทยที่สภาพถนนหลายแห่งแย่มาก ถ้าไม่ใช่เส้นทางที่เคยขี่จักรยานมาก่อน เราจะไม่รู้หรือไม่อาจคาดเดาแน่นอนได้เลยว่า เราจะพบอุปสรรคอะไรที่ทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น หลุม ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้จักรยานในเวลามืด จะดีกว่า ปลอดภัยกว่า หากเราเลือกใช้เส้นทางที่เราคุ้นเคย ขี่เป็นประจำ หรืออย่างน้อยเคยขี่ผ่านมาแล้วในเวลากลางกัน รู้สภาพถนนดี(พอสมควร) รู้ว่าจุดใดมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ลดความเสี่ยงลง แม้อาจเป็นไปได้เสมอที่สภาพถนนจะเปลี่ยนไป
และในทางกลับกัน ถ้าเรารู้ว่า เส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งที่เราขี่ประจำหรือคุ้นเคยจากการขี่จักรยานในเวลากลางวัน มีสภาพถนนแย่ มีอุปสรรคหลายอย่าง มีจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายสูง หากจำเป็นต้องใช้จักรยานเดินทางระหว่างสองจุดนั้นในเวลากลางคืน ก็เป็นเรื่องดีที่จะหาเส้นทางใหม่ที่ “ปลอดภัยกว่าในเชิงเปรียบเทียบ” เพื่อลดความเสี่ยง อาจจะเป็นถนนใหญ่ที่แม้ว่าอาจจะมีรถมากกว่า แต่ก็มักจะมีไฟส่องสว่างมาก สภาพถนนมักจะเรียบ หรือเป็นเส้นทางที่อ้อมกว่าไกลกว่าก็ตาม
โปรแกรมแผนที่บน Smart Phone ให้รายละเอียดได้มาก ใช้หาเส้นทาง วางแผนการขี่ และบันทึกได้ด้วย
เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่มักใช้ Smart Phone ซึ่งจะมีโปรแกรมแผนที่ให้มาด้วย ถ้าไม่มีก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้อย่างง่ายดาย เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหาและวางแผนเส้นทางที่น่าจะปลอดภัยมากขึ้นเมื่อต้องขี่ยามค่ำคืน
ใช้ความเร็วน้อยลง
แม้จะรู้สภาพเส้นทางดีอย่างไร เราก็ต้องเคารพความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากความมืด และขี่ให้ช้าลงไม่เสียหน้าแต่อย่างใดหรอกครับที่จะขี่ช้าลง ระมัดระวังมากขึ้น และไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย การขี่ให้ช้าลง ระวังให้มากขึ้น เป็นวิธีการเดียวกันกับที่แนะนำให้ผู้ขี่จักรยานใช้เมื่อจำเป็นต้องขี่จักรยานฝ่าฝนหรือหมอก ซึ่งทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงเช่นเดียวกับความมืด
ใช้ยางที่เกาะถนนดีขึ้น
ถ้าต้องขี่จักรยานในเวลากลางคืนหรือในที่มืดเป็นประจำ ก็เป็นความคิดที่ดีที่จะเปลี่ยนไปใช้ยางที่มีหน้ายางกว้าง มีดอก ที่เกาะถนนดีกว่า มีโอกาสล้มน้อยกว่า หากจักรยานตกหลุมหรือร่องบนถนน หรือขี่ผ่านสภาพถนนที่ลื่นกว่าทั่วไปโดยไม่คาดคิด
หลีกเลี่ยงการขี่ในเส้นทางที่เปลี่ยวและหาเพื่อนร่วมทาง
นอกจากอันตรายที่มากับสภาพถนนและผู้ใช้ถนน(ยานยนต์)อื่นๆ แล้ว ยังมีอันตรายจากคนด้วยกันเองที่มากับความมืดด้วย การขี่จักรยานเวลากลางคืนตามลำพังบนเส้นทางที่เปลี่ยวปราศจากผู้คน บ้านเรือนร้านค้า ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกโจรผู้ร้ายจี้ปล้น จึงควรหลีกเลี่ยงเสียหากทำได้ การขี่จักรยานร่วมกันไปหลายคัน ไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืน จะทำให้ผู้ขับรถเห็นได้ง่ายกว่า และมักจะทำให้ผู้ขับรถ ขับห่างออกไปจากจักรยานมากกว่ามีจักรยานแล่นอยู่คันเดียว ไม่ว่าเขาจะขับแซงขึ้นไปหรือขับสวนทางมา และโจรผู้ร้ายก็จะไม่ลงมือทำการ
นอกจากนั้นหากมีเหตุสุดวิสัยต้องหยุดซ่อมจักรยาน เช่น ปะยาง เพื่อนร่วมทางของเราจะได้ช่วยส่องไฟฉายให้เราซ่อมได้ง่าย-สะดวกขึ้น หรือช่วยดูรถที่แล่นผ่านไปมา ส่วนอุปกรณ์ซ่อมจักรยานพื้นฐาน เช่น ชุดปะยาง สูบลม ฯลฯ นั้น เราควรจะมีติดจักรยานไปอยู่แล้วโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
มีโทรศัพท์ติดตัวและแจ้งให้มีคนรู้ว่าเราจะเดินทางกลางคืนเมื่อเราเริ่มออกเดินทาง
คนที่ทราบเรื่องจะได้ดำเนินการหากมีสิ่งผิดปกติหรือผิดสังเกต เช่น ใช้เวลามากกว่าที่ควรเป็นแล้วยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง จะได้โทรศัพท์ตรวจสอบกับเราได้ว่าเป็นอะไรหรือไม่ หากติดต่อเราไม่ได้ เขาก็อาจจะแจ้งให้มีคนมาตรวจสอบว่าเราเป็นอะไรหรือช่วยเราได้ และหากตัวเราเองประสบปัญหาที่เกินกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง เราก็สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ด้วย ทั้งนี้หมายความว่าคุณต้องมีโทรศัพท์ที่คุณแน่ใจว่าแบตเตอรี่มีไฟฟ้าเพียงพอติดตัวไปด้วยเวลาขี่จักรยาน และรู้หมายเลขโทรศัพท์ที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือได้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งคำแนะนำนี้ใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่จะจำเป็นยิ่งขึ้นในเวลากลางคืน
ท้ายสุด การรู้ที่ตั้งของผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ในกรณีต่างๆ เช่น ร้านซ่อมจักรยาน สถานีตำรวจ ฯลฯ ที่อยู่ในแนวเส้นทางที่เราจะขี่จักรยานไป รวมทั้งการมีหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็นในการแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ (เช่น ๑๖๖๙) น่าจะเป็นประโยชน์หากเกิดเหตุฉุกเฉิน
หากท่านผู้ใช้จักรยานมีประสบการณ์และข้อแนะนำใดๆ ที่ท่านคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้จักรยานทั้งหลายสำหรับการใช้จักรยานยามค่ำคืน หรือต้องการแลกเปลี่ยน-สอบถามเรื่องใด กรุณาเขียนให้ความเห็นมาได้เลยครับ
กวิน ชุติมา
(หมายเหตุ:คำแนะนำนี้เขียนขึ้นส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง และอีกส่วนหนึ่งดัดแปลงมาจากข้อเขียนชื่อ 8 tips for riding home in the dark โดย Michelle Arthurs-Brennan ใน Safe cycling in London29 ตุลาคม 2014)