จะให้อากาศดีขึ้นหรือ ใช้รถยนต์ให้น้อยลง ใช้จักรยานให้มากขึ้นสิ
การศึกษาที่สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF)มอบให้ RICARDO-AEA ทำขึ้นล่าสุดได้คำนวณการลดมลพิษที่เกิดขึ้นทั่วๆไปจากการขนส่งอันได้แก่ NOx NO2 และ PM10 ในนครใหญ่ห้าแห่งของทวีปยุโรปคือแอนทะเวิปในเนเธอร์แลนด์, ลอนดอนในอังกฤษ, น็องต์ในฝรั่งเศส, เซบิลในสเปน และเธสซาโลนิกิในกรีซ หากคนในเมืองเหล่านี้เปลี่ยนจากใช้รถมาใช้จักรยานในการเดินทาง การศึกษานี้ทำให้ ECF สามารถสรุปได้ว่า ยิ่งผู้บริหารเมืองกล้าใช้มาตรการเด็ดขาดมากขึ้นเท่าใด คุณภาพอากาศก็จะดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้บริหารเมืองที่ต้องการปกป้องประชาชนของตนจากปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศไม่ดีก็ต้องลงมือทำอย่างทั่วถ้วนและจริงจัง
ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ของ ECF อธิบายว่า จะต้องมีการแปรเปลี่ยนระบบขนส่งในเมืองใหญ่ของยุโรปไปอย่างมาก โดยลดการจราจรที่มีการใช้เครื่องยนต์ลง ECF แนะนำให้ลงทุนอย่างขนานใหญ่กับเครือข่ายทางจักรยานที่มีคุณภาพสูงและจัดให้มีเขตปลอดรถอย่างกว้างขวาง ทำให้เมืองมีชีวิตชีวาด้วยการเปลี่ยนจากการขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์มาเป็นการใช้จักรยาน ผลดีต่อสุขภาพของพลเมืองในเมืองนั้นจะเกิดขึ้นอย่างทันตาเห็น เพราะแม้คุณภาพอากาศจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย จำนวนปีของอายุที่สั้นลงเนื่องจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและจำนวนปีที่มีสุขภาพไม่ดีหรือมีความพิการใดๆ จะลดลง[1] นอกจากนั้นเมื่อผู้บริหารเมืองคิดถึงการลงทุนเกี่ยวกับการใช้จักรยาน ก็ยังสามารถเอาผลดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสียง การเข้าถึงระบบที่ทำให้เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก และผลดีทางด้านเศรษฐศาสตร์ มาพิจารณาด้วยได้
มาตรการทางเทคนิคต่างๆ [2] เช่น มาตรฐานการปล่อยก๊าซไอเสียสำหรับยานพาหนะของยุโรปที่นำมาใช้กว่า ๒๐ ปีแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จในการลดมลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่งได้เพียงพอ รัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปและเมืองจำนวนมากไม่ได้ปฏิบัติตามขอบขีดที่ตั้งไว้[3]ยานยนต์ต่างๆ ยังสร้างมลพิษมากกว่าที่คาดคิด[4]การจราจรของยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์เพิ่มขึ้นและสัดส่วนของรถที่ใช้น้ำมันดีเซลก็เพิ่มขึ้นด้วย การศึกษาที่ ECF ให้ทำขึ้นนั้นได้วัดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการที่ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิค เช่น การเพิ่มการใช้จักรยานและพื้นที่ปลอดรถ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ปฏิบัติได้จริง ทำให้เกิดผลสำเร็จได้จริงในระยะเวลาอันสั้นมาแล้วในหลายเมือง และยิ่งมาตรการเหล่านี้เข้มแข็งเท่าใด ผลลัพธ์ที่มีต่อคุณภาพอากาศก็ยิ่งออกมาดีเท่านั้น
เมืองเซบิลในสเปนเป็นตัวอย่างที่ดีว่าจะทำอะไรได้บ้าง สัดส่วนการใช้จักรยานในเซบิลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๐.๕ เป็นร้อยละ ๗ ในเวลาเพียงสองสามปีจากการที่ผู้บริหารเมืองลงทุนอย่างจริงจังและใช้มาตรการที่มีผลอย่างสำคัญในการลดการใช้ยานยนต์ มีผลทำให้นครแห่งนี้มีมลพิษทางอากาศไม่เกินมาตรฐานของยุโรป กรณีของเซบิลและมาตรการคล้ายคลึงกันที่หลายเมืองอย่างมิลาน ปารีส บาเซิล มิวนิค ฮัมบวก เฮลซิงกิ และเกนต์ นำไปใช้ เป็นตัวอย่างนำหน้าให้นครอื่นๆ ในยุโรปปฏิบัติตาม
นายเบเนดิค สเว็นเน็น เจ้าหน้าที่นโยบายการเดินทางในเมืองของ ECF กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “เรา(ECF)ต้องการชี้ว่า ต้องไม่ปล่อยให้เมืองต่างๆ ต่อสู้กับมลพิษทางอากาศตามลำพัง เพราะมลพิษทางอากาศสามารถเดินทางอย่างเสรีจากเมืองหนึ่งหรือรัฐหนึ่งข้ามพรมแดนไปได้ เมืองต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสมาชิกแต่ละรัฐและสหภาพยุโรปโดยรวม” จริงๆแล้ว เมืองต่างๆกำลังเรียกร้องให้แต่ละประเทศและสหภาพยุโรปกระตือรือร้นมากขึ้นในการมีนโยบายสนับสนุนปฏิบัติการในท้องถิ่นที่จะนำไปสู่การมีอากาศที่สะอาดขึ้น
ECF ร่วมกับสมาชิกและหุ้นส่วนอื่นๆ ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้ Clean Air Package ต่อไปและทำให้มาตรฐานยูโรมีประสิทธิผลมากขึ้น สหภาพยุโรปจำเป็นต้องกระตุ้นให้เมืองต่างๆ ปรับปรุงคุณภาพอากาศด้วยการลดจราจรของยานยนต์และเพิ่มการใช้จักรยาน
เชิงอรรถ
[1] ใช้อัตรา DALY ดู http://www.who.int/healthinfo/global_burden_disease/metrics_daly/en/
[2] มาตรการทางเทคนิคที่เกี่ยวกับคุณภาพอากาศมักจะเป็นการปรับปรุงยานพาหนะในด้านเทคโนโลยี มาตรการที่ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยาน, จักรยานสาธารณะ, การเก็บค่ารถติด, เขตปลอดรถ ฯลฯ)
[3] ในปี ๒๐๑๒ รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป ๑๗ รัฐยังละเมิดเกณฑ์จำกัดสำหรับ PM10 ในขณะที่ ๒๒ รัฐละเมิดเกณฑ์จำกัดสำหรับ NO2 http://www.clientearth.org/reports/20140515-clientearth-air-pollution-clean-air-handbook.pdf
[4] http://www.irceline.be/~celinair/documents/documents/no2_emissies_concentraties_final.pdf
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.ecf.com/wp-content/uploads/150119-Cycling-and-Urban-Air-Quality-A-study-of-European-Experiences_web.pdf
————————————————————————————————————————————————————
กวิน ชุติมา เรียบเรียงจากใบแถลงข่าวของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป New study shows the need for less cars more bicycles to improve EU air quality วันที่ 28กุมภาพันธ์ 25