3 วิธีที่อาจช่วยให้คุณขี่จักรยานได้ปลอดภัยขึ้น
เทศกาลสงกรานต์มาถึง หลายคนคงออกไปขี่จักรยานท่องเที่ยวกันไกลในชนบท แต่ส่วนหนึ่งก็คงยังอยู่ในเมือง รื่นรมย์กับถนนที่มียานยนต์น้อย แต่ก็อาจอันตรายมากขึ้นได้เหมือนกันเพราะรถส่วนหนึ่งอาจจะขับเร็วขึ้นเมื่อถนนว่าง จะขี่จักรยานอยู่ที่ไหน ก็ขอให้มีความสุขและปลอดภัยนะครับ
ในเมื่อชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเพิ่งจัดการประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 3 ผ่านไปสดๆร้อนๆ สิ่งที่ผมนำมาฝากจึงเป็นวิธีที่อาจช่วยให้คุณขี่จักรยานได้ปลอดภัยขึ้นอีก 3 วิธี โดยเอามาจากคุณแอนดรีส เจ้าของบล็อก ดิ ลอนดอน ซายคลิส ซึ่งเขาก็ไปเอามาจากบทความของครอว์ฟอร์ด ฮอลลิงเวิร์ธ นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรม ในหนังสือพิมพ์ เดอะ อีฟนิ่ง สแตนดาร์ด ในลอนดอนที่ตีพิมพ์ไปเมื่อราวต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอีกต่อหนึ่ง แม้นายฮอลลิงเวิร์ธจะอ้างว่าคำแนะนำของเขามีความรู้ทางจิตวิทยาพฤติกรรมรองรับ ก็มีคนโต้แย้ง ยิ่งเมื่อการขี่จักรยานขึ้นกระแสก็มีคนนำสินค้าต่างๆ ที่อ้างว่าดีกับคนขี่จักรยานมาขายมากขึ้น ทำให้เราต้องระวังเรื่องคุณภาพว่าผลิตภัณฑ์นั้นให้ผลเป็นจริงตามคำแนะนำหรือไม่ แต่ก็น่านำไปพิจารณา
คำแนะนำแรกของเขาคือ เปลี่ยนเส้นทางที่คุณขี่จักรยานเสียบ้าง แน่นอนว่าพวกเราที่ขี่จักรยานจากย่านหนึ่งไปอีกย่านหนึ่งเป็นประจำ เช่น ขี่ไปทำงาน จะมีเส้นทางที่ชอบใช้ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด เส้นทางที่ถนนเรียบ เส้นทางที่ร่มรื่น เส้นทางที่รถน้อย ฯลฯ และมักจะขี่ตามเส้นทางนั้นเสมอ ฮอลลิงเวิร์ธบอกว่านี่แหละอาจก่อให้เกิดอันตราย เพราะหลักจิตวิทยาพฤติกรรมบ่งชี้ว่าความคุ้นเคยจะทำให้คุณมีโอกาสได้มากที่จะขี่เหมือนใช้ “นักบินอัตโนมัติ” คือใจล่องลอย ลดความระมัดระวังลงกว่าการขี่ไปตามเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ฮอลลิงเวิร์ธบอกว่า เมื่อใช้เส้นทางใหม่ จิตสำนึกจะกระตุ้นให้ผู้ขี่จักรยานตื่นตัวมีสมาธิมากขึ้น แต่คุณแอนดรีสก็แย้งว่า ถึงแม้จะฟังเข้าท่า แต่การขี่จักรยานตามเส้นทางเดิมก็มีข้อดีเด่นตรงที่คุณรู้จักสภาพเส้นทางเหมือนลายมือตัวเอง รู้ว่าอาจจะมีอันตรายได้ตรงไหนและจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร ในขณะที่ขี่เส้นทางใหม่ก็อาจทำให้คุณมัวแต่มองหาว่าจะเลี้ยวตรงไหน อย่างไร และลืมสังเกตหาสิ่งที่อาจเป็นอันตรายไป จากประสบการณ์ตัวผมเอง ทั้งสองคนก็มีเหตุผล และสิ่งที่กล่าวก็เป็นจริงทั้งคู่ ความเห็นผมคือเปลี่ยนเส้นทางบ้างเป็นเรื่องดีสำหรับการขี่กลางวัน แต่สำหรับกลางคืนแล้ว ขี่ตามเส้นทางเดิมที่คุ้นเคยย่อมน่าจะปลอดภัยกว่า
คำแนะนำข้อสองคือ เวลาขี่จักรยานกลางคืน ให้ใช้ไฟหน้าและไฟหลังอย่างละ 2 ดวง ดวงหนึ่งเปิดให้แสงนิ่ง อีกดวงหนึ่งเปิดให้กระพริบการใช้ไฟสองตัวนี้มีคนทำอยู่แล้ว รวมทั้งในไทย คุณฮอลลิงเวิร์ธเอาวิทยาศาสตร์มายืนยันว่า แสงกระพริบจะเพิ่มความตื่นตัวให้คนที่เห็น ในขณะที่แสงนิ่งจะช่วยให้คนที่เห็นกะระยะได้ดีและเห็นได้ชัด ดังนั้นใช้ไฟกระพริบกับไฟนิ่งสองดวงพร้อมกันจึงน่าจะปลอดภัยกว่า ฟังดูสมเหตุสมผล ในเรื่องนี้มีผู้อ่านมาให้ความเห็นเสริมจากประสบการณ์ว่า ใช้ไฟสองดวงดีแน่ และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก ไฟสองดวงนั้นควรอยู่ห่างจากกัน เช่น ถ้าไฟดวงหนึ่งอยู่ที่แฮนด์หรือใต้อาน ไฟอีกดวงอาจติดที่หมวก(หากใส่)หรือที่ตะเกียบ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณจะเอาวิธีนี้ไปใช้ก็ขออย่างเดียวว่า อย่าใช้ไฟที่สว่างมากเกินไปและส่องตรงไปเข้าตาคนที่ขับยานพาหนะสวนหรือตามมา ทำแบบนั้นแทนที่จะปลอดภัยมากขึ้นกลับกลายเป็นอันตรายมากขึ้น เพราะแสงที่ทั้งสว่างจ้าทั้งกระพริบจะทำให้เขาตาพร่า มองไม่เห็น และอาจจะขับมาชนคุณ
ส่วนข้อที่สามก็เป็นคำแนะนำสำหรับการขี่จักรยานกลางคืนเช่นกัน นั่นคือให้ใช้ไฟที่เป็นภาพสัญลักษณ์คนขี่จักรยาน ฮอลลิงเวิร์ธบอกว่า สมองของเราแปรข้อมูลที่เป็นภาพหรือสัญลักษณ์ที่คุ้นเคยได้รวดเร็วมาก เร็วมากกว่าภาพหรือสัญลักษณ์ที่เราไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยมาก สัญลักษณ์รูปจักรยานนี้ คนที่ใช้ถนนส่วนใหญ่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเห็นไฟที่เป็นรูปสัญลักษณ์นี้ เขาก็จะเข้าใจทันทีว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร และสั่งการให้ระวังอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าเห็นไฟธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นไฟนิ่งหรือไฟกระพริบ แต่ก็มีคนแย้งว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดจากการใช้จริงในภาคสนาม ยิ่งยี่ห้อหนึ่งที่มีขายในอังกฤษก็เป็นสินค้าของนายฮอลลิงเวิร์ธเองตามภาพ จึงมีประเด็นผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็มียีห้ออื่นอีก ที่เป็นการฉายเลเซอร์รูปจักรยานลงบนพื้นถนนก็มี ผมยังไม่เคยเห็นไฟแบบนี้ที่เมืองไทยนะ ใครเคยเห็นก็ช่วยมาให้ความรู้กันด้วย
เรื่องไฟนี้มีคนที่ขับรถบอกผมว่า แถบสะท้อนแสงที่มีคุณภาพดีเห็นได้จากระยะไกลกว่า และเห็นชัดกว่าไฟทั้งหลาย ยิ่งเมื่อแบตเตอรี่อ่อนลง กว่าจะสังเกตเห็นก็เข้ามาใกล้แล้ว เรื่องประสิทธิผลในการช่วยให้คนขับรถมองเห็นคนขี่จักรยานได้ดีขึ้นในยามค่ำคืนเปรียบเทียบระหว่างไฟและวัสดุสะท้อนแสงชนิดต่างๆ นี้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศกำลังจะทำการวิจัยอยู่ครับ
ทั้งสามวิธีนี้แม้จะมีความรู้ทางจิตวิทยาพฤติกรรมมาสนับสนุน แต่ผู้ขี่จักรยานทุกคนก็ต้องมีความรู้มีทักษะในการขี่จักรยานให้ปลอดภัยขั้นพื้นฐานอยู่ดี ซึ่งสำคัญมากกว่า และทุกคนน่าจะได้เรียนรู้ ดังนั้นการจัดให้มีการสอนเรื่องนี้ให้เด็กรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะในโรงเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยกำลังผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ และคนขับรถก็ควรจะได้เรียนและถูกถามเรื่องการขับรถให้ปลอดภัยกับผู้ขี่จักรยานและคนเดินเท้าในการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ด้วยเช่นกัน เมื่อรวมเข้าไปกับการมีระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างความปลอดภัยมากขึ้น ก็น่าจะทำให้เราขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัยสูง แม้จะไม่ถึงขั้นสิ้นเชิงก็ตาม
กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย