ไม่ต้องมาทำให้คนขับรถเห็นผู้ใช้จักรยานดีขึ้นหรอก มาทำให้คนขับรถหยุดชนพวกเขาดีกว่า
กฎหมายบังคับให้ผู้ขี่จักรยานใส่หมวกนิรภัยกับสีสเปรย์ที่เรืองแสงในความมืดแสดงให้เห็นว่าใครเป็นเจ้าของถนนกันแน่
ทางจักรยานที่ ถ้าคุณโชคดี รถก็จะไม่ชนคุณ บางทีนะ (ภาพโดยแม็ต แม็คเคลน วอชิงตันโพสต์)
(หมายเหตุ: ในฐานะคนหนึ่งที่ใช้ถนนเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ ผมพบว่าบทความชิ้นนี้อ่านแล้วสะใจเป็นอย่างยิ่ง เปิดหูเปิดตาทั้งให้ความรู้ ความคิด และทั้งสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง แม้จะเขียนขึ้นในบริบทสังคมอเมริกันให้คนอเมริกันอ่าน จึงขอนำมาแบ่งปัน พยายามแปลเก็บ “ความรู้สึก” มาให้มากที่สุด บอกไว้ก่อนว่าท่านอ่านแล้วอาจรู้สึกแปลกๆ คือทั้งอยากหัวเราะและรู้สึกเศร้าใจไปพร้อมๆกัน – ผู้แปล)
ร้อยปีมาแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์เล่นกลสะเด็ด
พวกเขาขโมยถนนอันเป็นพื้นที่สาธารณะไปจากเรา !!!
ฟังนี่นะ เมื่อครั้งที่เรามีรถยนต์ใช้ใหม่ๆ เคยมีคิดประหลาดๆ น่าเอ็นดูอยู่ว่า คนที่ใช้เจ้าเครื่องจักรกลยักษ์ใหญ่นี้ควรต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสวัสดิภาพของคนอื่นๆ บนถนน แต่แล้วก็มีการผลิตรถยนต์ได้เป็นจำนวนมาก และเจ้าฟอร์ด โมเดลที ก็ออกมาขาย ทันใดนั้นก็มีรถยนต์ไปทั่วทุกหัวระแหง และมาถึงช่วงปลายทศวรรษ 1920 รถยนต์ หรือจะพูดให้ถูกต้อง คนที่ขับรถยนต์ ก็ฆ่าคนไปมากแล้วกว่า 200,000 คน
แต่เราก็ยังเอาเพื่อนมนุษย์ของเราเป็นใหญ่อยู่ เมืองต่างๆพากันเรียกร้องให้มีกฎจราจรที่เข้มงวดมากขึ้นและมีการบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์ตอบโต้ด้วยการทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อที่สวมหน้ากากปกปิดหน้าว่าเป็นการรณรงค์เพื่อความปลอดภัย ห่ากระสุนชุดที่ได้ผลมากที่สุดชุดหนึ่งของพวกเขาคือการคิดประดิษฐ์แนวคิดเรื่องการเดินข้ามถนนอย่างสะเปะสะปะ (jaywalking)ขึ้นมา และแนวคิดนี้ก็ปล้นเอาสิทธิในการใช้ทาง (right of way) ของเราไป
ถึงทุกวันนี้พวกเราคนเดินถนนก็ยังตายกันเกลื่อนกลาดอยู่ แต่เราได้แปรความโกรธเคืองต่อการที่รถยนต์ทำให้คนตายกลายเป็นการโทษคนที่เป็นเหยื่อไปนานแล้ว การข้ามถนนเป็นอาชญากรรมมานานแล้ว นอกจากจะข้ามตรงช่องแคบๆ ที่ขีดให้คุณข้ามในเวลาสั้นๆ ไม่กี่วินาทีที่มีไฟสัญญาณอนุญาตให้คุณข้ามได้ ในทางปฏิบัตินั้น เราสูญเสียสิทธิในการได้ใช้ทางสาธารณะอย่างเสมอภาคกันไปนานแล้ว นอกเสียจากว่าเราจะยินดีพร้อมใจและสามารถที่จะจ่ายเงินก้อนโตซื้อรถมาได้สักคัน แทนที่จะมีทางสาธารณะที่ทุกคนได้ใช้ เรากลับได้โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เหมาะกับการใช้รถส่วนตัวมากที่สุด และได้ชาติที่เอาเงินไปอุดหนุนคนขับรถที่คัดค้านความคิดที่จะเอาเงินแผ่นดินไปอุดหนุนการขนส่งในรูปแบบอื่นและที่มีปฏิกิริยากับการเก็บเงินค่าจอดรถเหมือนกับตัวเองถูกตรึงกางเขน แน่นอนว่า คนขับรถ คนขี่จักรยาน และคนเดินเท้า ทุกคนควร “แบ่งปันใช้ถนนร่วมกัน” แต่คุณก็เห็นอยู่แล้วว่าคุณรู้สึกเสมอภาคกับคนขับรถแค่ไหน ในเมื่อคุณต้องไปขี่จักรยานบนท่อระบายน้ำและแก้วแตกๆ ริมถนนในขณะที่รถยนต์แล่นวื้ดผ่านคุณไป มันเป็นแนวคิดเรื่อง “ความเสมอภาค” แบบอเมริกัน ซึ่งเป็นรูปแบบอันมากไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมร้ายกาจของความไม่เสมอภาคกันที่เราแสร้งทำเป็นว่าคนที่ทรงพลังกับคนที่อ่อนแอนั้นเหมือนกันเปี๊ยบ
(ไม่นะ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ควรจะมีรถ ผมเองก็มีรถ เพียงแต่ว่ารถก็เหมือนกับคนขาวและวอลล์สตรีทคือไม่จำเป็นต้องให้ใครมาคอยปกป้องอีกแล้ว)
แต่นั่นก็กำลังเปลี่ยนอยู่แล้ว มิใช่หรือ? คนนับล้านกำลังกลับไปอยู่ในเมืองและพวกเขาก็เรียกร้องให้ถนนเป็นสถานที่ที่พวกเขาอยู่ได้ เมืองต่างๆ กำลังสร้างทางจักรยานและติดตั้งระบบจักรยานสาธารณะ ทุกวันอาทิตย์มีการปิดถนนในย่านของคุณเป็นตลาดให้เกษตรกร และให้พวกคนทำงานอาชีพเดินและขี่จักรยานกลับบ้านทาวน์เฮาส์ไปปรุงอาหารที่ทำจากผักอินทรีย์ที่ปลูกในท้องถิ่นให้มีกำลังวังชาที่จะออกไปทำงานอีกสัปดาห์ให้คุ้มค่า
พวกผู้ผลิตรถยนต์ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยมิใช่หรือ อ๋อ แน่นอนพวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว เดี๋ยวนี้ทุกเจ้าล้วนเป็นมิตรและน่ารักทั้งนั้น ไม่มีเฮนรี ฟอร์ด ผู้ต่อต้านยิวอีก มีแต่บิล ฟอร์ด ที่เป็นผู้สนับสนุนจักรยานสาธารณะ พวกเขากำลังจะผลิตรถไฟฟ้าและ “ทางข้าม” ที่เป็นมิตรกับทุกคนในครอบครัว มีระบบตรวจจับและกล้องถ่ายภาพที่มาชดเชยเวลากว่าศตวรรษที่คนขับรถไม่คำนึงถึงคนข้ามเลยโดยมีวัฒนธรรมตอกย้ำ โอ้ แล้วเราก็ต้องไม่ลืมบริษัทเทคโนทั้งหลาย ใช่ไหม กูเกิ้ลกับแอปเปิ้ลกำลังจะทำให้รถชนเป็นเรื่องในอดีต และในไม่ช้าเราก็จะไปไหนมาไหนในสังคมพระศรีอาริย์ด้วยรถสนามกอล์ฟที่แล่นเองโดยไม่ต้องมีคนขับ
อย่าทำเป็นโง่ไปหน่อยเลยน่า สิ่งที่บริษัทรถวางแผนนั้นคิดคด ชั่วช้า ร้ายกาจ น่ากลัวดังนิยายวิทยาศาสตร์ เสียจนทำให้ “การเดินข้ามถนนแบบสะเปะสะปะ” กลายเป็นเรื่องใจดีไปเลยเมื่อเอามาเปรียบเทียบ
พวกเขากำลังเปลี่ยนเราเป็นรถยนต์!!!
ใช่แล้ว จริงๆ นะ แต่พวกเขาไม่ได้เริ่มจากคนเดินเท้า พวกเขาเริ่มกับคนขี่จักรยาน ขั้นแรกคือผ่านกฎหมายบังคับให้คนขี่จักรยานใส่หมวกนิรภัย หรืออย่างกฎหมายที่ถูกเสนอในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกำหนดให้คนขี่จักรยานต้องใส่เสื้อผ้าสะท้อนแสงด้วยในยามค่ำคืน เราเกือบไปถึงจุดที่ “อุบัติเหตุ” รถชนจักรยานทุกครั้ง (ตำรวจจะทึกทักไปก่อนเสมอว่าเป็นอุบัติเหตุ คนขับรถอนุญาตให้ “อุ๊ย เผลอไป” ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด) เป็นความผิดของคนขี่จักรยานเสมอ และการไม่ใส่หมวกนิรภัยเป็นความผิดโดยอัตโนมัติ นี่เป็นเหตุผลที่เมื่อใดคุณได้อ่านข่าวว่าคนขี่จักรยานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ข่าวจะเอ่ยถึงหมวกนิรภัย ไม่ว่ารายละเอียดเกี่ยวกับการใส่หมวกนิรภัยจะไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดเหตุนั้นแต่ประการใด เช่น นี่เป็น “รถบรรทุกขยี้ขาคนขี่จักรยานเละ คนขับหนีไป ไม่มีข้อสงสัยว่าจะเป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญาใดๆ ผู้เคราะห์ร้ายไม่ได้สวมหมวกนิรภัย”
ถ้างั้น ทำไมจึงต้องบังคับให้ใส่หมวกนิรภัยด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองหรือ? อย่าพูดเช่นนั้นเลย ขอร้องเถอะ สถิติการบาดเจ็บที่ศีรษะที่เกี่ยวกับการขี่จักรยานกำกวมคลุมเครือเสียจนแม้แต่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังถูกบังคับตามรัฐบัญญัติคุณภาพข้อมูล(Data Quality Act)ให้หยุดกล่าวถึงความมีประสิทธิผลในการป้องกันของหมวกนิรภัยอย่างเกินเลย บางทีคุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการไม่ใส่หมวกนิรภัยขี่จักรยานนั้นเทียบเท่ากับการฆ่าตัวตายทีเดียว บางทีคุณอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ใส่หมวกนิรภัยไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดเพราะมันทำให้ผมของคุณยุ่ง หรือบางทีคุณอาจจะเป็นแบบผมที่ไม่ใส่ใจกับผมบนศีรษะสักเท่าใดนักเพราะมันกำลังร่วงไปอยู่ดี คุณจะใส่หมวกนิรภัยเมื่อคุณไปขี่จักรยานเร็วๆ ในชุดจิ้งเหลน แต่คุณจะไม่สนใจมันสักนิด หากขี่ไปเรื่อยๆ ในเมืองด้วยเสื้อผ้าธรรมดาที่คุณใส่เวลาไปไหนมาไหนโดยไม่ใช้จักรยาน ประเด็นคือคุณมีทางเลือก
นี่ล่ะคือเหตุผลที่ทำไมอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมประกันภัย และพวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่พวกเขาไปล็อบบี้ต่างต้องการกฎหมายหมวกนิรภัยกันนักหนา ประการแรก การบังคับให้คนใส่หมวกนิรภัยเป็นการผลักความรับผิดชอบไปอยู่ที่คนขี่จักรยานและทำให้รัฐสามารถปลดเปลื้องตัวเองออกจากภาระความรับผิดชอบที่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขี่จักรยานให้ดีขึ้น คือปลอดภัยมากขึ้น และคนขับรถไม่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร “อยากจะปลอดภัยมากขึ้นหรือ? เราจะไม่สร้างช่องทางจักรยานใดๆอีก มันยึดครองเอาพื้นที่ที่ควรจะใช้จอดรถได้ฟรีๆไป เอาหมวกแก๊ปยัดไส้โฟมนี่ไปสวมหัวเสีย คุณจะไม่เป็นไร” นั่นๆ เสร็จแล้ว
ประการที่สอง กฎหมายหมวกนิรภัยทำให้คนหมดกำลังใจที่จะใช้จักรยานในการเดินทางไปไหนมาไหนทุกวัน เพราะมันทำให้ไม่สะดวก และทำให้การขี่จักรยานเป็นเรื่องอันตราย ทั้งที่จริงๆแล้ว มันไม่เป็นเช่นนั้น ในออสเตรเลีย มีหลักฐานมากมายบ่งบอกว่ากฎหมายหมวกนิรภัยยังผลทำให้คนขี่จักรยานไม่เพิ่มขึ้นมากกว่าทำให้คนขี่จักรยานปลอดภัย ดูจักรยานสาธารณะในนครเมลเบิร์นสิ แทบไม่มีใครใช้มันเลยเพราะว่าคุณต้องซื้อหมวกนิรภัยไปใส่ก่อนจึงจะใช้ได้ ขณะเดียวกันในประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กที่คนจำนวนมากมายขี่จักรยาน คนขี่จักรยานที่ใส่หมวกนิรภัยหายากพอๆกับคนขับรถที่ใส่หมวกนิรภัยในประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ กระนั้นก็ดูเหมือนว่าพวกเขาไปได้ดี บางทีอาจจะเป็นเพราะพวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ และเพราะพวกเขายังยึดมั่นกับความคิดที่ว่า คนที่ใช้เจ้าเครื่องจักรยักษ์ใหญ่บนถนนสาธารณะจำเป็นต้องรับผิดชอบที่จะไม่ใช้มันไปฆ่าคนอื่น
แต่เอาเป็นว่าคุณพร้อมที่จะคาดเจ้ากันชนโฟมนี้ไว้บนศีรษะทุกครั้งที่ขี่จักรยาน แม้กระทั่งเมื่อคุณเพียงแต่ขี่ออกไปซื้อผักข้างบ้าน นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้ วอลโว่ พวกคนสวีเดนที่ช่างใส่ใจต่อความปลอดภัยอย่างน่ารัก ต้องการให้คนขี่จักรยานเพิ่ม “ความปลอดภัย” ไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการพ่นตัวเองด้วยสิ่งที่เรียกว่า “สีชีวิต” ให้เรืองแสงในที่มืด
นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนขับรถจะโยนความรับผิดชอบใดๆ ต่อสิ่งที่พวกเขากระทำด้วยรถของเขาออกไปยังผู้ใช้ถนนคนอื่น วิดีโอโฆษณาสีที่ว่าเต็มไปด้วยข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น “การใส่อะไรสักอย่างไปบนตัวคุณแล้วทำให้เหมือนกับว่าคุณกรีดร้องออกมาให้คนขับรถอย่างผมได้ยินนี่มันยอดเยี่ยมจริงๆ”
อะไรกันนี่ คุณหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า ไม่มีใครควรจะต้องมา “ตะโกนบอก” คุณเพื่อดึงดูดความสนใจในขณะที่คุณขับรถ คุณควรจะต้องให้ความสนใจกับทุกสิ่งที่อยู่บนถนนอยู่แล้ว และให้ความสนใจอย่างเท่าๆกันด้วย
แต่ เฮ้ เจ้าสีชีวิตนี้จะดูเยี่ยมจริงๆ หากพ่นมันบน “หมวกอัจฉริยะของวอลโว่”
เอ้อ นักการเมืองต้องการกฎหมายบังคับให้ใส่หมวกนิรภัย และบริษัทรถยนต์แนะให้คุณพ่นตัวเองจากหัวจนเท้าด้วยสีที่เรืองแสงในที่มืดก่อนที่คุณจะขี่จักรยาน ด้วยการเสนอออกมาในอัตรานี้ ในไม่ช้าคุณก็จะต้องมีใบขับขี่และต้องจดทะเบียนรถจักรยานจึงจะขี่ได้ และคุณจะต้องใส่ชุดยาวคลุมทั้งตัวที่เรืองแสงแม้ในเวลากลางวันพร้อมวงจรไฟฟ้าที่สร้างการเรืองแสงนี้ ต้องใส่ “หมวกอัจฉริยะ” ของออสเตรเลีย และต้องติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณจีพีเอสไว้ด้านท้ายเพื่อไม่ให้รถแอปเปิ้ล ไอคาร์ แล่นมาชนคุณ
ว้าว คุณกลายเป็นรถเอสยูวีไปแล้ว
เมื่อได้อย่างนั้นแล้ว ต่อไปพวกเขาก็จะขยับไปที่คนเดินเท้า คุณอาจจะพบว่าคนขี่จักรยานนั้นน่ารำคาญ นั่นมันเป็นวิถีแบบอเมริกัน แต่อย่าหัวเราะไปนานนัก อีกไม่ช้าไม่นานคุณก็จะต้องเดินไปรอบๆ เมืองเหมือนกับไดนาโมในหนังเรื่อง “The Running Man” บอกลาการไปไหนมาไหนแบบอนาล็อคโดยไม่มีอุปกรณ์เสริมเต็มตัวไปได้เลย
อย่ามาพูดก็แล้วกันว่าผมไม่เตือนคุณ
———————————————————————————————————————————————————
กวิน ชุติมา แปลจาก Don’t make bicyclists more visible. Make cars stop running them over. เขียนโดยนายเอเบ็น ไวส (Eben Weiss) ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2558 การเน้นข้อความต่างๆ เป็นของผู้แปลเอง ท่านที่สนใจต้นฉบับในภาษาอั