Home / บทความ / คริส บอร์ดแมน กับหมวกนิรภัย

คริส บอร์ดแมน กับหมวกนิรภัย

คริส บอร์ดแมน กับหมวกนิรภัย

คริส บอร์ดแมน ครั้งเป็นเจ้าของเหรียญทองกีฬาโอลิมปิก 

หลายคนคงรู้จัก คริส บอร์ดแมน หรือชื่อเต็มว่า คริสโตเฟอร์ ไมล์ส บอร์ดแมน (Christopher Miles Boardman) อดีตนักแข่งจักรยานชาวอังกฤษ เขาเป็นคนดัง เป็นฮีโร่คนหนึ่งของชาวอังกฤษ บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จักรยานยี่ห้อดัง Boardman Bikes  (เขาผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับการใช้จักรยานอีกหลายอย่างด้วยนอกเหนือจากตัวจักรยาน เช่น หมวกนิรภัย)  บางคนอาจจำเขาได้ในฐานะเจ้าของเหรียญทองประเภท Individual Pursuit ในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1992  หรือจากการที่เขาเคยแข่ง Tour de France ชนะมา 3 สเตจและได้ใส่เสื้อเหลือง(คือทำเวลารวมดีที่สุด) 3 ครั้ง ถึงขนาดที่คนอังกฤษสมัยนั้นแอบฝันว่าเขาอาจเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ชนะการแข่งจักรยานรายการสุดโหดนี้ แต่เขาทำไม่สำเร็จเนื่องจากปัญหาสุขภาพร่างกาย จนกระทั่ง เซอร์แบรดลีย์ วิกกิ้นส์ มาทำสำเร็จได้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ชนะการแข่งขันตูร์เดอฟรองซ์ในปี 2012และได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีอังกฤษเป็นอัศวินหรือท่านเซอร์ไป ต่อมาอีกคริสหนึ่งคือ คริสโตเฟอร์ ฟรูม มาทำสำเร็จต่อในปี 2013 และอีกครั้งในปีนี้(2015)ทำให้ชาวอังกฤษเมื่อได้แชมป์แล้วก็ได้ถึงสามในสี่ปีหลังนี้ทีเดียว  อย่างไรก็ตาม สถิติที่สำคัญที่สุดของคริส บอร์ดแมน น่าจะเป็นการเป็นเจ้าของสถิติโลกขี่จักรยานจากหยุดนิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดในเวลาหนึ่งชั่วโมง (Hour Record) ซึ่งถือกันว่าเป็นเกียรติสูงสุดของการปั่นจักรยาน เขาคนเดียวทำลายสถิตินี้ถึง 3 ครั้ง

ที่หยิบเรื่องคริส บอร์ดแมนมาเขียนก็เนื่องจากเขาเป็นข่าว มีคนร้องเรียนว่าเห็นเขาขี่จักรยานไปรอบเมืองแมนเชสเตอร์โดยใส่กางเกงยีนและเสื้อสีเข้ม ทั้งไม่ใส่หมวกนิรภัยอีกด้วย เมื่อเขาเป็นนายแบบให้โทรทัศน์บีบีซีถ่ายทำวิดิทัศน์เรื่องความปลอดภัยทางถนนกับการขี่จักรยานในหัวข้อว่าจะขับรถยนต์ผ่านหรือแซงจักรยานที่ปั่นอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย การตอบโต้หรือคำอธิบายของเขาคือสิ่งที่ผู้เขียนขอหยิบมาเป็นประเด็นของบทความชิ้นนี้ เขากล่าวว่า

ผมกล้าที่จะขี่จักรยานในชุดธรรมดาๆ แล้วยังจะมาประจานผมอีก  ผมก็แต่งตัวเหมือนอย่างที่ผมจะแต่งหากขี่จักรยานจากบ้านไปจับจ่ายซื้อของ  ความจริงแล้วผมไม่ได้ต่อต้านหมวกนิรภัยเลยแม้แต่น้อย ถ้าผมขี่จักรยานไปไหนไกลๆ ผมมักจะใช้จักรยานเสือภูเขา ผมก็จะใส่หมวกนิรภัย ซึ่งบางครั้งก็ใส่ไปเพราะความเคยชิน แต่ผมก็ไม่เคยมีมายาภาพถึงผลของการใส่หมวกนิรภัยต่อความปลอดภัยของคนขี่จักรยาน อย่าลืมนะว่าผมผลิตมันขายเองด้วย ในกรณีที่รถยนต์ชนจักรยานแล้ว หมวกนิรภัยแทบจะไม่มีผลอะไรเลย  ขณะนี้ประเด็นหมวกนิรภัยถูก(ผู้บริหารบ้านเมือง)นำมาใช้เบี่ยงเบนประเด็นให้คนหันเหความสนใจไปจากสิ่งที่จริงๆแล้วพวกเขาต้องตัดสินใจทำ ผมจึงจะไม่ยอมเสียเวลาที่ได้ออกอากาศมาพูดเรื่องนี้  สำหรับผมแล้ว อันตรายที่แท้จริงมาจากการที่คนขับทำในสิ่งที่พวกเขาไม่ควรทำแล้วมาชนคนขี่จักรยาน  เราจึงควรเน้นไปที่การหยุดยั้งการชน ไม่ใช่เน้นไปที่คนที่ถูกชน

  

(ซ้าย) คริส บอร์ดแมนในปัจจุบัน   (ขวา) คริสขี่จักรยานกับบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีนครลอนดอน

บอร์ดแมนบอกว่าการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในเมืองเป็นผลดีอย่างชัดเจนต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม “จริงๆแล้ว เรามีข้อมูลมายืนยันเรื่องนี้เต็มไปหมดจนแทบจะจมข้อมูลตายอยู่แล้ว คุณยกมาเรื่องไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลทางเศรษฐกิจ ทางด้านสุขภาพ ทางด้านมลภาวะ เลือกมาเรื่องไหนก็ได้ที่คุณต้องการ การใช้จักรยานเป็นวิธีเดินทางขนส่งที่ในระยะสั้นแล้วชนะการเดินทางรูปแบบอื่นทั้งหมด

วิธีเดียวที่จะทำให้คนออกกำลังกายมากขึ้นคือทำให้พวกเขาเอาการออกกำลังกายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของนักจักรยาน แต่เป็นเรื่องของชุมชน  เราต้องการโครงสร้างพื้นฐานและจำเป็นต้องมีกฎหมายมาคุ้มครองคน ในขณะนี้วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะฆ่าใครสักคนหนึ่งคือการทำด้วยรถยนต์แล้วคุณจะได้รับโทษเบาที่สุด  ในฐานะคนที่มีเหตุมีผล ผมอึดอัดคับข้องใจอย่างมาก รู้สึกหมดท่าที่เราต้องมาพูดกันเรื่องนี้  การที่เราต้องมาผลักดันเรื่องนี้(คือให้มีโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย)เป็นเรื่องน่าหัวเราะสิ้นดี” เขากล่าว

“ผู้ขับรถยนต์บางคนเวลาแซงคนขี่จักรยานขึ้นไปไม่ได้ทิ้งระยะห่างให้เพียงพอ ไม่ได้คิดเลยว่าผู้ขี่จักรยานต้องการพื้นที่ให้สามารถส่ายไปมาได้บ้าง ผู้ขี่จักรยานไม่ได้ขี่เป็นเส้นตรงเสมอไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาสามารถมองเห็นหลุมบ่อหรือความไม่ราบเรียบอื่นๆ ของถนนได้ในขณะที่ผู้ขับรถยนต์มองไม่เห็น และพวกเขาจะส่ายจักรยานหลบอุปสรรคเหล่านี้ ดังนั้นคนขับรถยนต์จะต้องรู้ว่า พวกเขาต้องจัดให้มีที่ว่างที่ผู้ขี่จักรยานสามารถทำเช่นนี้ได้อย่างปลอดภัย” เขาพูดถึงสถานการณ์ในอังกฤษว่า หากเป็นในอดีต “ยุควันวานยังหวานอยู่” รัฐบาลจะผลิตวิดิทัศน์เรื่องนี้ออกมาเผยแพร่ให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจกับสาธารณชน แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลไม่ทำอีกแล้ว ก็เลยกลายเป็นสมาคมจักรยานกับบริติชไซคลิงที่ต้องมาออกทุนสนับสนุนแทน

เนื่องจากหนังสั้นชื่อ “Space” เรื่องนี้ถ่ายทำในอังกฤษให้คนขับรถยนต์และผู้ใช้ถนนอื่นๆ ในอังกฤษดู จึงได้เน้นไปที่มาตรา 163 ในกฎหมายทางหลวงของอังกฤษ ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับรถยนต์ที่จะแซงขึ้นไปต้องทิ้งระยะห่างกับผู้ขี่จักรยานและผู้ขี่ม้ามากเท่าๆกับรถยนต์หนึ่งคัน มาตรานี้ยังตอกย้ำสิทธิตามกฎหมายของผู้ขี่จักรยานที่จะขี่สองคันเคียงคู่กันไปได้

“แต่กฎหมายไม่ได้ปกป้องคนขี่จักรยาน บ่อยครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์รถยนต์ชนจักรยานขึ้น (ผู้รักษากฎหมาย)ก็มักจะตีตราไปเลยว่าเป็นการขับรถโดยประมาท และการตีความแบบนี้ก็นำไปการสู่การตัดสินลงโทษเล็กๆน้อยๆ เพียงสถานเบา (คล้ายกับในไทย)

“ ผมอยากเห็นหมู่บ้าน เมือง และชุมชนของเราให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก เอาพวกเขากับธุรกิจท้องถิ่นมาพิจารณาก่อนในการจะทำสิ่งใด  ผมอยากให้ทุกคนคิดดูสิว่า “ที่ไหนนะเป็นสถานที่ที่เยี่ยมที่สุดที่ฉันเคยไปมา?” ผมเอาหัวเป็นประกันได้ว่าสถานที่ที่ผุดขึ้นมาในใจของคุณไม่ใช่สถานที่ที่เต็มไปด้วยรถยนต์แน่นอน  และนั่นคือสิ่งที่จำเป็นต้องมุ่งทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นเรื่องที่เราพูดกันนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนขี่จักรยาน หากเป็นเรื่องของชุมชน  ผมอยากให้รถยนต์เป็นเพียงผู้มาเยือน ไม่ใช่ครอบงำสถานที่ที่ผมกับลูกๆของผมอยู่อาศัย

“ผมอยากให้ลูกสาวของผมสามารถขี่จักรยาน 300 เมตรออกไปสวนสาธารณะใกล้บ้านเราได้ เพราะมีที่ให้ทำได้ มีกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานให้ทำได้  เราต้องทำเรื่องนี้แบบองค์รวมคือใช้ทุกวิถีทาง ซึ่งจะไปกระทบการใช้ชีวิตของผู้คนแน่นอน แต่ในไม่ช้าพวกเขาก็จะคุ้นกับมันและชอบมันด้วย  สิ่งที่น่ากลัวอยู่ที่การเมือง การตัดสินใจของผู้บริหารเป็นเรื่องการเมือง ถนนในเมืองมีพื้นที่จำกัด ถ้าจะเอาพื้นที่ถนนมาแบ่งให้คนขี่จักรยาน คุณก็ต้องไปเอามาจากคนอื่นที่ใช้อยู่ และทั่วไปแล้ว คนก็ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง” เขาสรุป

สิ่งที่คริส บอร์ดแมน ผู้มีภาพเป็นนักแข่งจักรยานเต็มตัวกล่าวข้างต้น สะท้อนสิ่งที่ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย พยายามย้ำเน้นในการสื่อสารสร้างความตระหนักความเข้าใจแก่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชน ในระยะหลังนี้ และสะท้อนสถานการณ์การใช้จักรยานในไทย

เมื่อจัดผู้ขี่จักรยานออกเป็นสามกลุ่มคือ นักแข่งจักรยาน นักจักรยาน และผู้ใช้จักรยาน(ในชีวิตประจำวัน) ใน สามเหลี่ยม(หรือปิรามิด)ของผู้ขี่จักรยาน อาจารย์ธงชัยจะกล่าวถึงและแสดงภาพถ่ายตนเองเป็นตัวอย่างว่ามีประสบการณ์เป็นผู้ขี่จักรยานมาแล้วทั้งสามกลุ่ม อาจารย์เคยเป็นนักแข่งจักรยานลงแข่งจักรยานมาแล้วหลายรายการ รวมทั้งไตรกีฬา  อาจารย์เป็นนักจักรยาน หนึ่งในผู้บุกเบิกการขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกายและเพื่อนันทนาการ-ท่องเที่ยวในไทย และอาจารย์เป็นผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันด้วย  ในสามสถานะ สามสถานการณ์หรือโอกาสนี้ อาจารย์จะปฏิบัติเช่นเดียวกับคริส บอร์ดแมน นั่นคือใช้จักรยานต่างกันและเมื่อเป็นนักแข่งหรือขี่จักรยานทางไกล อาจารย์ก็จะใส่หมวกนิรภัย หากแต่เมื่อขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน ระยะสั้น อาจารย์ก็จะไม่ใส่หมวกนิรภัย เช่นเดียวกับบอร์ดแมน อาจารย์ไม่ได้ต่อต้านการใส่หมวกนิรภัย แต่ชี้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ของผู้บริหารบ้านเมืองที่มีอำนาจตัดสินใจ จะต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายที่ทำให้ทุกคนในทั้งสามกลุ่มสามารถขี่จักรยานอย่างที่พวกเขาทำได้อย่างสะดวก สบาย และปลอดภัย                                                                                                                                                                                                        

——————————————————————————————————————————————————————————————

กวิน ชุติมา เก็บมาเขียนจากข้อมูลในข่าว http://road.cc/content/news/160492-chris-boardman-films-cycle-safety-video-instructing-drivers-how-pass-safely

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น