Home / บทความ / ที่จอดจักรยาน – อัมสเตอร์ดัมลงไปทำใต้น้ำแล้ว กรุงเทพฯ จะไปทางไหน?

ที่จอดจักรยาน – อัมสเตอร์ดัมลงไปทำใต้น้ำแล้ว กรุงเทพฯ จะไปทางไหน?

ที่จอดจักรยาน – อัมสเตอร์ดัมลงไปทำใต้น้ำแล้ว กรุงเทพฯ จะไปทางไหน?

ที่จอดจักรยานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม(Photo: Aiala Garcia/flickr)

เวลาพูดถึงการส่งเสริมการใช้จักรยาน เมื่อถามถึง “สิ่งจำเป็น” คำแรกที่มักพูดถึงกันก็คือทางจักรยานไม่ว่าจะเป็น นักจักรยานซึ่งใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวเดินทางเป็นระยะไกลๆ หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มักจะฟังเสียงนักจักรยานที่เป็นคนกลุ่มที่เสียงดังที่สุด ได้ออกสื่อมากที่สุด ในบรรดาคนที่ขี่จักรยานทั้งหลาย แต่ถ้าไปถาม “ผู้ใช้จักรยาน” คือคนที่ขี่จักรยานเป็นวิธีการสัญจรเพื่อเดินทางไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นขี่ไปทำงาน ไปศึกษาเล่าเรียน ไปจับจ่ายซื้อของ หรือไปทำธุรกิจต่างๆ ในระยะใกล้ นอกจากเส้นทางขี่ที่สะดวกปลอดภัยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะเอ่ยทันทีคือ ที่จอดจักรยาน ซึ่งหมายถึงที่ที่พวกเขาจะไปจอดจักรยานทิ้งไว้ได้อย่างปลอดภัย คือจักรยานไม่ถูกคนอื่นเอาไปง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีโครงสร้างให้เอาจักรยานเข้าไปล็อกไว้ได้หรือมีระบบดูแล เช่น มีคนเฝ้า เพราะการจอดจักรยานทิ้งไว้ห่างตัวคือสิ่งที่เขาต้องทำเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง การสำรวจหรือศึกษาวิจัยไม่ว่าจะที่ใด รวมทั้งการศึกษาใน ๑๐ จังหวัดทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ทั้งสองฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยทำในปี ๒๕๕๔ ก็ได้ผลออกมาเช่นนี้ ชุมชนเมืองทั้งหลายที่ชาวชุมชนอยากให้พัฒนาเป็นชุมชนจักรยานก็มีความต้องการเช่นนี้  ดังนั้นเมืองที่จะส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการจัดให้มีที่จอดจักรยานสาธารณะให้เพียงพอ เพียงพอทั้งในแง่การมีในทุกสถานที่ที่เป็นจุดหมายสำคัญในการใช้จักรยาน และเพียงพอในแง่จำนวน  งานวิจัยยังบอกด้วยว่า หากมีที่จอดจักรยานให้ คนจะออกมาใช้จักรยานในการสัญจรในชีวิตประจำวันมากขึ้น

เมื่อมาพิจารณาในแง่นี้ ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อแล้วครับ คนกรุงเทพฯ กับชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมพบกับปัญหาเดียวกัน นั่นคือมีที่จอดจักรยานให้พวกเขาไม่เพียงพอ ต่ปัญหาที่ฟังดูคล้ายกันนี้กลับมีสาเหตุที่ต่างกันอย่างตรงกันข้าม ขณะที่ในกรุงเทพฯ ผู้บริหารเมืองและผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ได้จัดที่จอดจักรยานให้หรือจัดให้ไม่เพียงพอ ที่อัมสเตอร์ดัมเป็นเพราะชาวดัทช์ใช้จักรยานมากเสียจนผู้บริหารเมืองจัดที่จอดจักรยานให้ไม่ได้เพียงพอ 

การที่ชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมใช้จักรยานกันมากนั้นมีปัจจัยเอื้อหลายประการ รวมทั้งการที่ผู้บริหารเมืองเอาใจใส่ส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา ขณะนี้ร้อยละ 57 ของชาวเมืองอัมสเตอร์ดัม หรือกว่า 450,000 คนของเมืองที่มีประชากรราว 800,000 คน ใช้จักรยานเป็นประจำทุกวัน และส่วนใหญ่เป็นการใช้ไปทำงาน และถ้านับจำนวนจักรยานก็พบว่ามีถึง 880,000 คัน มากกว่าจำนวนคนและแน่นอนว่ามากกว่าจำนวนรถในเมืองหลวงของประเทศแห่งนี้  

สภาพแออัดของที่จอดจักรยานใกล้สถานีรถไฟกลางของเมืองอัมสเตอร์ดัม (Photo: Poom!/flickr)

แน่นอนว่านี่เป็นตัวเลขที่น่าภาคภูมิใจ แต่เมื่อเอาขนาด อายุ ความหนาแน่น และสภาพที่เต็มไปด้วยคลองของเมืองมาพิจารณาแล้ว ความสำเร็จนี้ก็ตามมาด้วยปัญหาการมีที่จอดจักรยานสาธารณะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในย่านกลางเมือง เชื่อไหมครับว่าการมีที่จอดจักรยานไม่เพียงพอนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองนี้ไปแล้ว ทั้งที่อัมสเตอร์ดัมมีที่จอดจักรยานสาธารณะที่จัดไว้ให้จอดได้อย่างถูกต้องถึง 400,000 คัน กระจายอยู่ทั่วเมือง  ปัญหาหนักมากถึงขนาดที่สหภาพชาวดัทช์ผู้ใช้จักรยาน (Fietsersbond) ออกมาชี้ว่าอัมสเตอร์ดัมรับมือกับปัญหานี้ไม่ไหวแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหน สถานีรถไฟ ศูนย์การค้า หรือย่านที่อยู่อาศัย ก็ล้วนมีจักรยานมากกว่าที่จอดทั้งสิ้น ทำให้ชาวอัมสเตอร์ดัมต้องจอดจักรยานกันอย่างสะเปะสะปะนอกที่จอดที่จัดไว้ ซึ่งผิดกฎหมาย และรัฐบาลเมืองก็ต้องมายกไปเก็บ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชนไปเปล่าๆ ยกตัวอย่างเมื่อสองปีก่อนคือ ในปี 2013 มีจักรยานที่จอดผิดกฎหมายถูกยกไปเก็บกว่า 73,000 คัน เสียค่าใช้จ่ายราวคันละ 70 ยูโร (ราว 3,000 บาท) ในขณะที่เจ้าของสามารถไปไถ่จักรยานคืนมาได้ด้วยเงินเพียงคันละ 400 กว่าบาท

แน่นอนว่าผู้บริหารเมืองมองเห็นว่าการมีที่จอดจักรยานเพิ่มขึ้นเป็นความต้องการเร่งด่วนและจัดงบประมาณ 200 ล้านยูโร (กว่า 8,000 ล้านบาท) มาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นทางสำหรับจักรยานเป็นการเฉพาะ และจะมีที่จอดจักรยานเพิ่มอีก 21,500 คันในปี 2030  แต่ปัญหาคือจะไปสร้างที่จอดจักรยานใหม่นี้ได้ที่ไหนกัน

ชาวดัทช์ซึ่งเก่งในการจัดการน้ำอยู่แล้วจึงประกาศว่าต้องลงไปอยู่ใต้น้ำสิ โดยจะมีโรงจอดจักรยานใต้น้ำขนาดยักษ์ จุจักรยานได้ 7,000 คัน ใต้ทะเลสาบติดกับสถานีรถไฟกลางของอัมสเตอร์ดัมซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของเมืองและเจอปัญหาที่จอดจักรยานไม่พอหนักที่สุด  โรงจอดจักรยานนี้จะมีอุโมงค์เชื่อมต่อกับทั้งสถานีรถไฟและสถานีรถใต้ดิน  เหตุที่โรงจอดจักรยานลงไปอยู่ใต้น้ำนอกจากจะเป็นเพราะที่ดินในเมืองราคาแพงระยับแล้ว ยังเป็นเพราะต้องการรักษาความสวยงามของเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลในแต่ละปีด้วย  นอกจากโรงจอดจักรยานใต้น้ำแล้ว เทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมยังมีแผนสร้างเกาะเทียมขึ้นมาใหม่อีกสองเกาะสำหรับเอาไว้จอดจักรยานเป็นการเฉพาะ ใช่แล้วครับคุณอ่านไม่ผิดหรอก เกาะเทียมสำหรับจอดจักรยาน แต่ละเกาะที่จะสร้างใหม่นี้จอดจักรยานได้ 2,000 คัน และไม่ใช่สิ่งก่อสร้างใหม่บนน้ำสำหรับจอดจักรยานแห่งแรกด้วย ก่อนหน้านี้ อัมสเตอร์ดัมเอาเรือขนสินค้าเก่าที่ลำตัวแบนกว้างคล้ายเรือเอี้ยมจุ๊นที่ใช้กันในเมืองไทยมาดัดแปลงเป็นที่จอดจักรยานมาแล้วหลายลำ

เรือจอดจักรยานในคลองของเมืองอัมสเตอร์ดัม(Photo: Wansan Son/flickr)

แล้วกรุงเทพฯ ทำอะไรบ้างในเรื่องที่จอดจักรยาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำไประดับหนึ่งคือการเอาโครงเหล็กที่จอดจักรยานไปตั้งไว้ตามป้ายรถประจำทาง สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และ/หรือปากซอย จำนวนหนึ่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในซอยลึกสามารถขี่จักรยานออกมาจอดล็อกทิ้งไว้ ขึ้นรถประจำทางหรือรถไฟฟ้าต่อไปทำงานหรือไปทำธุรกิจได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยปลอดภัยนัก (จักรยานของประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเคยถูกขโมยไปจากที่จอดที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอารีย์) แต่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ออกมาทางชานเมือง ก็มีคนใช้มากจนเต็มล้นไม่เพียงพอในหลายแห่ง ส่วนทางเขตยังไม่ค่อยตอบสนองนักต่อข้อเรียกร้องของชุมชนจักรยานในเรื่องที่จอดสาธารณะนี้ มีทั้งที่จัดให้และไม่จัดให้ตามที่ขอ และที่ทำให้บางครั้งก็ไม่ได้ถามชุมชนก่อนว่าอยากให้อยู่ตรงไหน  ถ้า กทม.จะส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชาวกรุงเทพฯจริงๆ ซึ่งงานวิจัยพบว่าการมีที่จอดจักรยานตามที่ประชาชนต้องการเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจใช้จักรยานหรือไม่ ก็ยังต้องปรับการทำงานในเรื่องที่จอดจักรยานอีกมาก  ในขณะเดียวกัน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยก็กำลังทำงานกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนามาตรฐานที่จอดจักรยานของอาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาหารให้มีข้อบัญญัติให้อาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะจัดที่จอดจักรยานให้ผู้มาใช้บริการหรือผู้พักอาศัย (ทำนองเดียวกับที่ขณะนี้มีข้อบัญญัติให้มีที่จอดรถยนต์ตามขนาดพื้นที่ของอาคาร) มีความคืบหน้าไประดับหนึ่งแล้ว

——————————————————————————————————————————————————————————————
กวิน ชุติมา เก็บมาเขียนจากบทความ Amsterdam mulls underwater bike garage as available parking for cyclists dwindles ใน www.mnn.com

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น