Home / บทความ / ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย

ไตรกีฬาครั้งแรกในไทย

เรื่องโดย..ธงชัย   พรรณสวัสดิ์

           ย้อนเวลากลับไปถึงปี 2530 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้ว ตอนนั้นคนไทยยังไม่ได้ฮิตเรื่องการออกกำลังเหมือนสมัยนี้ แต่ก็ไม่ใช่เพียงเฉพาะคนไทยหรอก ทั่วโลกก็คงไม่ต่างจากนี้กันเท่าไรนัก คือคนที่มาออกกำลังกายโดยการวิ่งพอมีให้เห็นบ้าง แต่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะวิ่งตามสวนสาธารณะซึ่งก็พอทำเนา แต่บางคนเล่นออกมาซ้อมวิ่งข้างถนนหลวงซึ่งคนสมัยโน้นมองแล้วจะนึกว่าไอ้หมอนี่ถ้าไม่บ้าก็วิ่งแก้บน

ดังนั้นพอพูดถึงไตรกีฬาอันเป็นที่รวมของกีฬาแห่งความอึด 3 อย่างมาไว้รวมกัน คือ ว่ายน้ำระยะไกล จักรยานทางไกล และวิ่งทางไกล  คนไทยจะไม่รู้จัก ซึ่งการไม่รู้จักนี้รวมไปถึงผู้สื่อข่าวกีฬา ที่เรียกกีฬา triathlon นี้อย่างผิดๆว่า‘ไตรธาลอน’ด้วยซ้ำ

ไตรกีฬาในไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสมาคมไตรกีฬาสมัครเล่นของญี่ปุ่น All Japan Amateur Triathlon Association, AJATA  ที่สมาชิกคงเริ่มเบื่อการแข่งในสถานที่ที่จำเจ  แถมน้ำในญี่ปุ่นก็เย็นยะเยือกไม่ชวนว่าย  จึงพากันมาจัดแข่งที่ประเทศไทย  และไหนๆจะมาจัดที่เมืองไทยแล้วก็เลยจัดที่พัทยาซะเลย  เพราะคนมาแข่ง รวมทั้งลูกเมียกองเชียร์คนมาแข่ง จะได้ถือโอกาสท่องเที่ยวไปด้วยในตัว  ซึ่งพอเขาไปติดต่อททท.ของเรา   ททท.โดยนายเสรี วังส์ไพจิตร รองผู้ว่าการททท.ก็คว้าหมับเอามาเป็นอีเวนท์ใหญ่อีเวนท์หนึ่งของพัทยาในสมัยนั้นทีเดียว

การแข่งขันครั้งนั้นจัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 ที่ชายหาดหน้าโรงแรมแถวพัทยากลาง  โดยมี2ระยะคือ กลุ่ม A ระยะทางรวม 112 กม.  ส่วนกลุ่ม B ระยะทางครึ่งหนึ่ง หรือ 51 กม. ซึ่งแยกได้เป็นระยะทางว่ายน้ำ 1,000 เมตร  จักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่งอีก 10 กิโลเมตร  ที่จัดในระยะทางแบบนี้เพราะสมัยโน้นยังไม่มีระยะทางโอลิมปิก  และไม่มีระยะทางประเภทสปรินท์ พูดง่ายๆไม่มีมาตรฐานการจัดในเรื่องระยะทางเป็นการตายตัว ผู้จัดจะจัดระยะทางเช่นไรก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกันนักในแต่ละประเภทการแข่งขัน

ในคืนก่อนการแข่งขัน มีการบรีฟกันก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับนักกีฬาว่าอย่างไรผิดไม่ผิดกติกา  เช่น การขี่จักรยานจี้คนข้างหน้าห้ามทำ  ห้ามรับน้ำจากคนภายนอก ห้ามมีพี่เลี้ยงวิ่งประกบ  อะไรทำนองนั้น  ซึ่งก็คงไม่ต่างจากสมัยนี้มากนัก   แต่ในระหว่างประชุมบรีฟก็มีเหตุขึ้นจนได้  เมื่อผู้จัดบอกว่าจุดสตาร์ทอยู่ริมหาด  พอปล่อยตัวให้ว่ายออกไปในทะเลเป็นรูปสามเหลี่ยม  คือว่ายไปที่โป๊ะแรกกลางทะเล แล้วเลี้ยวขวาไปที่โป๊ะที่สอง แล้วเลี้ยวขวาอีกที เพื่อว่ายเข้าหาฝั่งบริเวณจุดสตาร์ทนั่นแหละ  ขึ้นมาแล้วให้วิ่งข้ามหาด ข้ามถนน เข้าโรงแรม แล้วทะลุไปด้านหลังโรงแรมไปเอาจักรยาน

‘แล้ววิ่งไปแบบนี้โดนแก้วบาดทำไง  หาดเมืองไทยบางทีก็มีคนกินเหล้าเมาทำขวดแตกไว้อยู่นะ’  ผมถามเพราะ 30 ปีที่แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ   กรรมการญี่ปุ่นหน้าเลิ่กลั่กหันมองกันแล้วเอาหัวชนกัน  ประชุมสรุปบนโต๊ะสัก 5 นาที แล้วออกมาประกาศว่า ‘ทางเราจะจัดเตรียมรองเท้าแตะฟองน้ำไว้บริการทุกท่านครับ’

‘เฮ’เสียงดังสนั่นตอบรับจากผู้สมัครเข้าแข่งขัน ซึ่งถ้าจำไม่ผิดทั้งญี่ปุ่น(เยอะ) ทั้งไทย(ไม่เยอะเท่าไรเพราะเป็นกีฬาใหม่) รวมกันน่าจะประมาณร้อยเดียว

รุ่งเช้าผมตื่นมา 6 โมง กำหนดเริ่มการแข่งที่ต้องดูปูมน้ำทะเลเพื่อกะให้นักกีฬาได้แข่งตอนน้ำนิ่ง ไม่ขึ้นไม่ลง ซึ่งวันนั้นตรงกับเวลา 9 โมงเช้า จึงมีเวลา 3 ชั่วโมงสำหรับการเตรียมตัว หลังจากทำธุระเช้าและอาบน้ำเสร็จผมลงไปที่ชั้นล่างของโรงแรม  กินข้าวไป 1 ชามกับน้ำแกงจืด โดยไม่กินอะไรอีก กะจะเอาแป้งจากข้าวเป็นแหล่งพลังงาน เพราะวันนี้คงต้องออกกำลังเต็มที่และเข้มข้นเป็นเวลา 3 ชั่วโมง

ในปี 2530 นั้น ผมยังไม่มีจักรยานดีๆใช้  มีแต่จักรยานเสือหมอบ 10 สปีดจากไต้หวัน ซึ่งตัวถังรวมทั้งล้อและซี่ลวดเป็นเหล็กหมด  จึงหนักอึ้ง  จะซื้อให้ดีก็พอจะมีตังซื้ออยู่  แต่ผมก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไมเพราะจักรยานตอนนั้นยังไม่เป็นที่นิยม  สถานที่ที่จะไปขี่ออกกำลังก็ไม่ค่อยมี  และการจัดไตรกีฬาแบบนี้จะมีอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้  วิเคราะห์ได้แบบนี้เสร็จผมจึงเลือกที่จะใช้จักรยานหนัก 15-16 กิโลกรัมคันนี้แหละเป็นจักรยานลงแข่งไตรกีฬาครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมด้วย   ส่วนรองเท้าจักรยานก็เป็นรองเท้าหนังทำขายกันเองราคาถูกๆในประเทศไทย  เพียงแต่เสริมพื้นหนังแข็งๆไว้ข้างใต้หน่อย และตีเกี๊ยะติดพื้นรองเท้า ไว้ล็อกกับลูกบันได (หมายเหตุ: เกี๊ยะคือชิ้นพลาสติกเล็กๆที่มีเซาะร่องไว้  เมื่อตอกติดกับพื้นรองเท้าและเอาไปวางบนลูกบันได ร่องนี้จะล็อกกับขอบลูกบันได้  ทำให้เท้ากระชับกับลูกบันได จึงปั่นรอบขาได้ดีขึ้น ….  แต่สมัยนี้อย่าไปหา ไปถามนะครับ ไม่มีแล้วละครับ)  

ส่วนกางเกงว่ายน้ำ แว่นตาว่ายน้ำดีๆ พอหาซื้อได้ในราคาที่สู้ไหว  สำหรับกางเกงวิ่ง เสื้อวิ่งและรองเท้าวิ่งที่ดีๆก็พอมีอยู่แล้ว  ดังนั้นสรุปอุปกรณ์มีครบ  พร้อมที่จะลงแข่งไตรกีฬา……เย้!

โชคดีที่อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์จะถึงวันแข่ง ผมเอารถยนต์เก่าๆผุๆของผมไปทำสีใหม่ที่ร้านเล็กๆในซอยข้างบ้าน ไปเห็นจักรยานเสือหมอบเปอโยต์(ยี่ห้อดังมากในสมัยนั้น)รูปทรงดี  แขวนอยู่ที่ผนังร้านซ่อมสี สอบถามไปสอบถามมาได้ความว่าช่างซึ่งเป็นเจ้าของอู่ด้วย  เป็นอดีตนักจักรยานทีมชาติ(หรือทีมเขต ไม่แน่ใจ จำไม่ได้แล้ว)  คุยไปคุยมาถูกคอเขาเลยเอาจักรยานเสือหมอบอีกคันซึ่งแน่นอนต้องคุณภาพด้อยกว่ามาให้ผมยืมลงแข่ง  จักรยานคันนั้นไซ้ซ์ใหญ่ไปสำหรับผมนิดๆ แต่ก็ยังดีกว่าไอ้เสือหมอบไต้หวันแน่ๆ  เพราะเสือหมอบไต้หวันราคาถูกแบบนั้นมีอยู่ไซซ์เดียวเป็นมาตรฐาน  ไม่มีให้เลือก  ไซซ์มันถึงยังไงก็ใหญ่เกินตัวผมอยู่ดี  คันใหม่นี้หนักราวๆ 12-13 กิโลกรัม  ไม่เบานัก แต่ก็ยังดี(ละวะ) เพราะเบากว่าและทรงดีกว่าเสือหมอบไต้หวันเป็นพะเรอเกวียน

แล้วก็ถึงเวลาปล่อยตัว  9:00 นาฬิกา

         สิ้นเสียงปืนปล่อยตัว  นักไตรกีฬาหรือคนที่แอบเรียกตัวเองว่านักไตรกีฬาพากันกรูวิ่งโดดลงทะเล  แต่พอโดดลงไปแล้วกลับว่ายไม่ได้เพราะน้ำใกล้ฝั่งมันตื้น  ต้องเดินลุยไปอีก 20-30 เมตรจึงเริ่มว่ายได้   ผมว่ายน้ำไม่ค่อยเป็น จึงว่ายไม่ค่อยตรงทาง  แต่ก็ดีกว่าบางคนที่เป็นนักวิ่งแต่เพิ่งมาหัดว่ายน้ำเพื่อที่จะลงแข่งไอ้ไตรกีฬาที่ว่านี่  จึงว่ายน้ำได้ไม่แข็ง  กลัวจมน้ำตาย  จึงสวมเสื้อชูชีพลงว่ายด้วย  ซึ่งพอสวมเสื้อชูชีพแบบนี้ก็ทำให้ต้านน้ำมาก  สุดท้ายพี่แกเลยว่ายไปเกาะเชือกที่มีทุ่นแสดงแนวเส้นทางการแข่งขัน  แล้วใช้วิธีสาวเชือก ซึ่งได้ผลดีมาก เร็วกว่าผมว่ายน้ำอีก  หลังจากว่ายอ้อม 2 โป๊ะที่ว่าและกลับมาขึ้นฝั่งได้ เหลือบไปดูนาฬิกา ผมใช้เวลาไป 33 นาที  ช้ากว่าที่ซ้อมไปกว่า 3 นาที

ขึ้นฝั่งได้ก็อาบน้ำจืดไล่น้ำเค็มที่ฝักบัวที่ผู้จัดขอให้โรงแรมทำไว้ที่หาด 3-4 จุด  เสร็จแล้วรีบสวมรองเท้าแตะวิ่งไปจุดที่จอดจักรยาน  หยิบกล้วยมากินเอาแรง 2 ลูกเล็กๆ  พอขึ้นจักรยานเหลือบไปดูนาฬิกาอีกที ใช้เวลาช่วงนี้ไปถึง 5 นาทีกว่า  ช้าจังแฮะ  ถ้าคิดเอาเวลาช่วงนี้ไปเป็นเวลาที่ใช้วิ่งผมคงวิ่งไปได้หนึ่งกิโลกับ 250 เมตรแล้ว

ที่เล่ามานี่บอกได้เลยว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไตรกีฬาในสมัยนั้นนี่คนไทยมีน้อยมาก การจะซ้อมอย่างไร จะกินอย่างไร จะซ้อมทีละอย่างหรือต้องซ้อม 3 อย่างติดต่อกัน  ต้องซ้อมให้ครบระยะทางที่จะลงแข่งไหม  คือนักวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตรนั้นบางคนเขาลงครั้งแรกและกะเอาแค่ถึง  เข้าเส้นชัยได้  เขาอาจซ้อมไม่ครบระยะทางก็ได้  แล้วไป‘อึด’เอาวันลงแข่งจริงอีกที  อย่างนี้ก็มีนะครับ

แล้วไงต่อ

ได้จักรยานเบากว่าเดิม แล้วขี่เร็วขึ้นเท่าไร  และพอกินกล้วยเข้าไปเยอะอย่างนั้น ตอนไปวิ่งจุกไหม หรือว่าแรงดีขึ้น

ขอไม่ตอบครับ  ขอให้ไปอ่านบทความอีกเรื่องที่เขียนไว้นานแล้ว ตั้งแต่ปี 2530 โน่น  หลังจากแข่งเสร็จไม่นาน และเอาไปลงตีพิมพ์แล้วในหนังสือพ็อกเกตบุ๊ครายปักษ์ที่เป็นที่นิยมของนักอ่านวัยอาวุโสสมัยนั้น ชื่อ “ต่วย’ตูน”  โดยใช้ชื่อบทความว่า ‘ไก่สามอย่าง’

แล้วจะรู้ว่าผลออกมาเป็นไง

      ส่วนตอนนี้ขอเอาประกาศนียบัตรที่ออกให้กับนักกีฬาที่วิ่งเข้าเส้นชัยของ นพ.กฤษฎา บานชื่น เพื่อนสนิทของผมมาโชว์ยั่วความสงสัยไว้ก่อนละกัน

ประกาศนียบัตร 1st Championship Thai Triathlon Cup ‘87

(เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2558)

            ตอนที่ 2 ไก่สามอย่าง ติดตามอ่านตาม link นี้นะคะ  http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/6958

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น