Home / บทความ / มาทำให้ทุกวันเป็นวันปลอดรถกันเถิด

มาทำให้ทุกวันเป็นวันปลอดรถกันเถิด

มาทำให้ทุกวันเป็นวันปลอดรถกันเถิด

การจัดงาน CAR FREE DAYหรือ วันปลอดรถ สำหรับปี 2558 ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งในไทยจัดกันในวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน ทั้งที่ Car Free Day จริงๆ นั้นคือวันที่ 22 กันยายนและที่ไหนในโลกก็จัดกันในวันนั้นโดยไม่สนใจว่าจะเป็นวันใดของสัปดาห์  ปีแรกๆ ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศนำแนวคิดนี้มาจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ เริ่มจากปี 2543 ก็จัดตรงวัน ชวนกันมาขี่จักรยานรณรงค์ในช่วงเย็นย่ำหลังจากแต่ละคนเลิกงานประจำมาแล้ว ใส่ชุดที่ใส่ไปทำงานนั่นล่ะมาขี่จักรยานกัน แม้จะไม่ใหญ่โตโอฬาร มีคนร่วมเป็นหมื่นๆ หรือมีการทำสถิติไปลง Guinness Book of Record  แต่ก็มีคนร่วมขี่รณรงค์เป็นร้อย และคนที่กำลังเดินทางกลับบ้านจำนวนมากได้เห็น ทั้งมีข่าวลงหนังสือพิมพ์เช่นกัน  ในเมืองไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมา การจัดงานย้ายไปอยู่ในวันอาทิตย์ที่ใกล้วันที่ 22 มากที่สุดด้วยเหตุผลทำนองว่า “สะดวก คนจะได้มาร่วมเยอะๆ” หรือ “ไม่รบกวนคนขับรถมากนักเพราะเป็นวันหยุด จะได้ไม่ถูกต่อว่าว่าทำรถติด” และมีการทำเสื้อยืดรณรงค์เฉพาะสำหรับงานแต่ละปีออกมาแจกให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งเสื้อตัวนี้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับไปก็ใส่เพียงครั้งเดียวไม่กี่ชั่วโมงในวันนั้นเท่านั้น ทั้งที่การผลิตเสื้อแต่ละตัวก็ใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดผลตรงข้ามกับสิ่งที่งานคาดหวังให้เกิด

วัตถุประสงค์ของการจัดCar Free Dayนี้ก็เพื่อออกมาบอกโลกว่า เราไม่จำเป็นต้องเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยรถยนต์ส่วนตัวที่ครอบครองเมืองอยู่ในขณะนี้  ในระยะใกล้ เราสามารถเดินและใช้จักรยานได้ ในระยะที่ไกลออกไปก็เดินหรือใช้จักรยานมาต่อขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถราง หรือรถไฟ-รถไฟฟ้า  และไม่เท่าแต่มาบอก ยังได้แสดงให้เห็นด้วยว่า เราสามารถเดินทางในชีวิตประจำวันได้ด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้น โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว  ที่สำคัญเมื่อมองให้ลึกลงถึงการก่อเกิด Car Free Day แล้วจะพบว่า ผู้ริเริ่มไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นการรณรงค์ มาทำกิจกรรมเฉลิมฉลอง ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวกันปีละวันเดียว จากนั้นก็กลับไปใช้ชีวิต “ตามปกติ” ใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเหมือนเดิมในอีก 364-365 วันที่เหลือของปี  แต่ตั้งใจให้สาธารณชน โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมงานที่ได้เลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวไปวันหนึ่งแล้ว ก็เลิกใช้รถไปตลอด หรือใช้น้อยที่สุดเท่าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงๆ เท่านั้น นอกจากนั้นก็มาช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้ผู้บริหารเมืองและผู้ปกครองประเทศดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างต่างๆ อย่างถาวร (ไม่ใช่เท่าแต่มาปิดถนนให้ขี่จักรยานกันหรือออกตั๋วพิเศษให้ใช้ขนส่งสาธารณะได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารหรือจ่ายในราคาลดเฉพาะวันนั้นวันเดียว) ให้เอื้ออำนวยต่อการเดิน การใช้จักรยาน และการใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย ในขณะที่ทำให้การใช้รถยนต์ยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  สัมฤทธิผลของ Car Free Dayที่สุดแล้วมีประการเดียวคือชาวเมืองหันมาเดิน ใช้จักรยาน และขนส่งสาธารณะในการเดินทางแทนที่การใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นๆ นั่นคือการทำให้ทุกวันเป็น Car Free Day หรือ Car Free Everyday นั่นเอง  ดังนั้นหากสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น อาจถือได้ว่างาน Car Free Day ที่จัดไปล้มเหลว

ตลอดเวลาราวยี่สิบปีที่ Car Free Dayเกิดขึ้น ก็มีทางเลือกหรือปัจจัยที่มาเอื้ออำนวยให้สามารถใช้ชีวิต-ทำงานได้เป็นปกติโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น สามารถทำให้ทุกวันเป็น Car Free Dayและตัวเราเป็น Car Free Man/Womanได้ง่ายขึ้น เช่น

                   1. จักรยานสาธารณะ(Bike sharing system) คือการมีจักรยานส่วนกลางอยู่ตามสถานีต่างๆ ในเมืองให้ผู้เป็นสมาชิกของระบบสามารถเอาไปใช้ได้ในราคาถูก ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ และลดความจำเป็นในการต้องมีจักรยานเป็นของตนเอง ข้อมูลจาก Metrobike บริษัทที่ปรึกษาในเรื่องระบบจักรยานสาธารณะระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มี 855 เมืองทั่วโลกที่มีระบบนี้ เทียบกับเพียง 11 เมืองเท่านั้นเมื่อสิบปีก่อนคือในปี 2547 หรือ 703 เมืองในปี 2556 และ 549 ในปี 2555  เรียกว่ามีการเติบโตของบริการนี้อย่างรวดเร็วมาก  ในไทยขณะนี้ก็มีจักรยานสาธารณะให้ใช้ในสี่เมืองคือ กรุงเทพฯ พิษณุโลก อุดรธานี และเชียงใหม่ (เข้าใจว่าสถิติข้างต้นนับรวมเฉพาะกรุงเทพฯ กับพิษณุโลก)

                   2. ใช้รถยนต์ร่วมกัน ถ้าคุณยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางออกจากบ้านไปที่ทำงานหรือสถานศึกษา ลองพิจารณาดูว่าจะใช้รถยนต์ร่วมไปกับเพื่อนบ้านได้หรือไม่ อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งของการเดินทางก่อนจะไปต่อขนส่งสาธารณะหรือเดินไปจุดหมาย โดยมีข้อตกลงผลัดกันใช้รถของแต่ละคน  ระบบนี้นิยมกันมากในต่างประเทศมานาน ถึงขนาดมีระบบหรือบริการเชื่อมโยงจัดหาคนในละแวกเดียวกันมาใช้รถยนต์ด้วยกันเลย การใช้รถยนต์ร่วมกันนี้ในไทยก็มี (ผู้เขียนเคยมีเพื่อนบ้านเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันและใช้รถยนต์ร่วมกัน ตอนเช้าเราไปโรงเรียนกับรถครอบครัวเขา และตอนบ่ายเรากลับบ้านด้วยรถครอบครัวผม เป็นเช่นนี้ตลอดหกปีที่เรียนชั้นมัธยม) แม้จะยังน้อย ก็เป็นวิธีเดินทางอย่างหนึ่งที่ควรจะพิจารณาอย่างจริงจัง จะลดการใช้รถยนต์ไปได้อีกส่วนหนึ่ง

                3. จัดตั้งกลุ่มจัดวันเดินทางร่วมกัน อาจจะเป็นการเดินหรือวิธีการอื่นใดก็ได้ที่ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัว เพื่อดึงดูดความสนใจให้เห็นว่าการใช้ชีวิตโดยไม่มีรถยนต์ส่วนตัวนั้นสามารถกระทำได้ และชวนกันก่อตั้งเป็น “ชุมชนคนปลอดรถ” ขึ้นมา อาจเริ่มจากเดือนละวันหนึ่งก็ได้ แล้วมันอาจจะเป็นที่นิยมของคน มีคนเข้าร่วมมากขึ้นๆ และอาจได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่น บริษัทห้างร้านด้วย เช่น มีการให้รางวัลคนที่ทิ้งรถยนต์ส่วนตัวไว้บ้านและเดินหรือขี่จักรยาน หรือ/และไปต่อขนส่งสาธารณะมากที่สุด

                4. ทำงานที่บ้านผ่านระบบสื่อสารอิเล็กโทรนิกคือไม่ต้องเดินทางไปยังที่ทำงานเลย จึงไม่ต้องใช้ยานพาหนะใดๆ ปัจจุบันมีบริษัทมากขึ้นที่ยอมให้พนักงานลูกจ้างทำงานที่บ้าน หากทำได้ บางบริษัทถึงกับเสนอและเอื้ออำนวยให้ทำด้วยซ้ำไป  ดังนั้นหากยังไม่มีแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ในที่ทำงานของคุณก็ลองปรึกษาหารือดูว่าจะทำได้หรือไม่

                5. สื่อสารกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น (สภาตำบล สภาเขต สภาจังหวัด สภากรุงเทพมหานคร) และสภาระดับชาติ (สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา)  เราเลือกเขาเข้าเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของเรา เริ่มตั้งแต่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สื่อสารให้เขารู้ชัดเจนว่าเราจะเลือกคนที่ส่งเสริมสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ ทั้งด้วยตนเองหรือในนามกลุ่มท้องถิ่นของเรา และถ้าคุณลงสมัครรับเลือกตั้งเองก็ย่อมทำได้เพื่อประกาศแนวทางนี้ ไม่ว่าคุณคิดว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม และหากคุณได้รับเลือกตั้ง ก็จะได้เข้าไปผลักดันเรื่องนี้ด้วยตัวคุณเอง

                 6. ใช้สื่อสังคม เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ พินเทอเรส อินสตาแกรม ไลน์ และการเป็นผู้ชมผู้ฟังของสถานีวิทยุ (จส.100 วิทยุชุมชนในท้องถิ่น ฯลฯ) และโทรทัศน์ (ไทยพีบีเอส ฯลฯ) แบ่งปันความคิด ความรู้สึก ความกังวลในเรื่องการใช้รถยนต์ออกไปถึง “เพื่อนมิตร” และ “ชุมชน”  และชักชวนพวกเขาให้สนับสนุนการเรียกร้อง ผลักดัน รณรงค์ ของคุณ และมาร่วมใช้วิธีเดิน ขี่จักรยาน และขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น

เว็บไซต์ www.worldcarfree.netมีข้อมูลและสื่อต่างๆ ที่คุณสามารถไปเอามาดัดแปลงใช้ได้มากมาย  และหากคุณมีความคิดเห็น ข้อเสนอ แนวทางปฏิบัติ หรือประสบการณ์ดีๆ ก็นำมาแบ่งปันช่วยให้ทุกวันเป็นวันปลอดรถที่เป็นจริงขึ้นมา

——————————————————————————————————————————————————————————————
เรียบเรียงจากข้อมูลส่วนหนึ่งใน Make World Carfree Day Every Day เขียนโดย Diane MacEachern  21 กันยายน 2015 (http://www.care2.com/greenliving/make-world-carfree-day-every-day.html) โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น