แม้แต่เมืองที่เป็นสัญญลักษณ์ของรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาก็ยังอยากเปลี่ยนมาเป็นเมืองแห่งการเดินและการใช้จักรยาน
ทางเขียวสองข้างคลองใจกลางเมืองอินเดียนาโพลิส (ภาพจาก Visit Indy)
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเมืองอินเดียนาโพลิสในสหรัฐอเมริกาในฐานะเมืองที่เป็นบ้านของการแข่งรถประจำปีที่มีชื่อเสียง Indianopolis 500 จึงไม่แปลกเลยที่สุดยอดของพาหนะสำหรับการเดินทางของคนที่เมืองนี้คือรถยนต์ส่วนตัว มันเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของชาวเมืองผู้แทบจะมองว่ามันเป็นส่วนขยายที่จำเป็นอย่างยิ่งของร่างกายของตน การวางแผน ออกแบบ และสร้างเมืองนี้จึงเป็นไปเพื่อการใช้รถยนต์ และตราบจนห้าปีก่อน อินเดียนาโพลิสมีทางจักรยานแค่กิโลเมตรเดียว
แต่ชาวอเมริกันหรือคนรักรถยนต์จากที่ใดก็ตามที่ไปเยือนเมืองนี้ในปัจจุบันอาจช็อค เพราะเมืองนี้มองดูคล้ายเมืองพอร์ตแลนด์ เมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐฯ ในเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มากกว่าเมืองแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างดีทรอยท์ ทางเดินเท้าที่กว้างขวางเรียงรายด้วยต้นไม้ให้ความร่มเย็นและเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาเดินหาความสำราญ เข้ามาแทน ทางจักรยานลัดเลาะคดเคียวไปตามฝั่งของแม่น้ำไวท์ และ “ทางเขียว” เชื่อมส่วนต่างๆ ของเมืองไกลออกไปถึงชานเมือง
การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2553 เมื่อเทศบาลเมืองขายสาธารณูปโภคให้กองทุนเอกชนเข้ามาบริหารได้เงินมา 500 ล้านดอลลาร์ จึงต้องมาคิดว่าจะเอาเงินใหญ่นี้ไปทำอะไรดี สร้างทางด่วนเพิ่มดีไหม หรือเอาไปซ่อมถนน อย่างที่ผู้บริหารเมืองเคยทำมาอย่างไม่ต้องคิดในอดีต แต่รู้ไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขากลับแหกคอกทำในสิ่งที่ผู้บริหารก่อนไม่เคยทำ นั่นคือการถามชาวเมืองว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไรดี ด้วยการจัดประชุมรับฟังความเห็นจากสาธารณชนมากกว่า 50 ครั้ง และผลที่ออกมาก็เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของเมืองนั้นเมื่อชาวเมืองบอกว่า พวกเขาต้องการเดิน!!! มติมหาชนนี้ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของเมืองเป็นเวลาห้าปี ซึ่งว่ากันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุดและกล้าหาญที่สุด” ที่เมืองในสหรัฐอเมริกาทำเพื่อเอาจิตวิญญาณแห่งการเดินกลับคืนมา
เส้นทางวัฒนธรรมอินเดียนา(ภาพจาก Indiana Cultural Trail)
จากหนึ่งกิโลเมตรเมื่อห้าปีก่อน ขณะนี้อินเดียนาโพลิสมีทางสำหรับจักรยานไม่น้อยกว่า 150 กิโลเมตร ที่เด่นที่สุดคือเส้นทางวัฒนธรรมอินเดียนา (Indiana Cultural Trail) ทางเดินเท้าขี่จักรยานปูอิฐยาว 13 กิโลเมตรที่เชื่อมโยงย่านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และยังเชื่อมใจกลางเมืองเข้ากับย่านชุมชนเก่าของเมืองที่คนมักจะมองข้าม สวนสาธารณะ คลอง และแม่น้ำที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อย่างสง่างาม มีการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ติดตั้งม้านั่ง และงานศิลป์ให้คนชื่นชม ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงสองสามปีเคยถูกมองว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยอาคารรกร้าง มาบัดนี้สองข้างเส้นทางวัฒนธรรมอินเดียนา เต็มไปด้วยร้านอาหาร บาร์ ร้านเครื่องแต่งกาย ฯลฯ แต่ถ้าจะดูด้านความนิยมของชาวเมืองที่มีต่อ “ทางเขียว” ก็ดูได้ทางเขียวโมนอน ยาว 29 กิโลเมตร ที่เชื่อมโยงเมืองด้านเหนือกับย่านชานเมือง ทางสายนี้เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟเก่าสายอินเดียนาโพลิส-ชิคาโก และขณะนี้มีคนใช้มากกว่าวันละ 4,000 คน อินเดียนาโพลิสยังมีระบบจักรยานสาธารณะที่เริ่มเปิดใช้ในปี 2557 ที่มีคนใช้เกินความคาดหวังคือกว่า 100,000 ครั้งในปีแรก อินเดียนาโพลิสที่เคยมีวัฒนธรรมรถยนต์เข้มแข็ง จึงแซงหน้าเมืองอย่างเดนเวอร์หรือแนชวิลล์ที่มี “วัฒนธรรมจักรยาน” มากกว่านานกว่าเข้าไปอยู่ในรายชื่อเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว
รถไฟฟ้าสาธารณะที่อินเดียนาโพลิส
เนื่องจากเป็นเมืองรถยนต์มาก่อน การขจัดวัฒนธรรมรถยนต์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และความจำเป็นในการเดินทางระยะไกลที่ไกลเกินกว่าการเดินและใช้จักรยานก็ยังมีอยู่ อินเดียนาโพลิสมีคำตอบที่โดดเด่นคือการมีระบบรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะชื่อ Blue Indy ให้ใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ระบบนี้ดำเนินงานโดย Autolib บริษัทเดียวกับที่ดำเนินงานระบบรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะในกรุงปารีสและกรุงลอนดอน ชาวเมืองให้การต้อนรับระบบนี้ด้วยดีมีคนใช้กว่า 1,500 ครั้งในเดือนแรก บริษัทจึงแผนจะเพิ่มจำนวนรถเป็น 500 คันและสถานีให้เช่ารถ 200 แห่งในต้นปี 2559 โดยมีเป้าจะเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขียนจากบทความ One of America’s Most Auto-Centric Cities Ditches the Car ใน www.takepart.com/