Home / บทความ / การใช้จักรยานกับสิงคโปร์ ตอนที่ 1 Cycling: For the People, For the Nature, For the Future

การใช้จักรยานกับสิงคโปร์ ตอนที่ 1 Cycling: For the People, For the Nature, For the Future

การใช้จักรยานกับสิงคโปร์ ตอนที่ 1 Cycling: For the People, For the Nature, For the Future

จักรยานของผู้เขียนจากเมืองไทยขึ้นเวทีข้างจอที่ฉายหน้าแรกของการฉายภาพประกอบการบรรยาย

ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วม “งานนกเอเชีย” (Asian Bird Fair – ABF) ซึ่งครั้งที่ 6 ในปี 2558 นี้จัดขึ้นที่สวนพฤกศาสตร์ สิงคโปร์ (Botanic Garden, Singapore ซึ่งเพิ่งได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกไปเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมานี่เอง) ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งงานนี้เมื่อปี 2553 เมื่อครั้งเป็นนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand – BCST)  อย่างไรก็ตามเนื่องจากห้าปีหลังนี้ ผู้เขียนได้กลับมาเป็นกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และทำงานส่งเสริมการใช้จักรยานกับการเดินในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องหลัก  เมื่อมีโอกาสไปร่วมงานนกหรือเทศกาลดูนก (Birdwatching Festival) ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งในปีหลังๆ ได้ขยายขอบเขตของงานไปถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย ผู้เขียนก็จะไปบรรยายเกี่ยวกับการใช้จักรยานในนามของ Thailand Cycling Club หรือชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นการกระตุ้นให้คนที่รักนก รักธรรมชาติ หันมาเดินและใช้จักรยานด้วย

ผู้เขียน(กลางภาพ)กับเจ้าหน้าที่ BCST (คนซ้าย) และผู้เข้าร่วมจากองค์กรอนุรักษ์ที่เมืองจิ่งชาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ABF ครั้งที่ 7 ในปีหน้า เสื้อ I Bike I Walk ได้ไปอวดโฉมให้ชาวสิงคโปร์และผู้เข้าร่วมงานจาก 15 ประเทศชมในงานนี้

สำหรับการบรรยายครั้ง ผู้เขียนใช้หัวข้อ Cycling: For the People, For the Nature, For the Future(การใช้จักรยาน: เพื่อคน เพื่อธรรมชาติ เพื่ออนาคต) ให้สอดคล้องกับหัวข้อของ “งานนกเอเชีย” ครั้งนี้ โดยชี้ว่า จักรยานเป็นเครื่องกลที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประดิษฐ์มาและเป็นคำตอบง่ายๆ ให้กับปัญหาใหญ่และซับซ้อนหลายประการที่โลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้กำลังมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของนกหลายชนิดพันธุ์มากขึ้นทุกที  เนื่องจากสัดส่วนที่สำคัญของก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาจากยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นซากดึกดำบรรพ์(โดยเฉพาะน้ำมัน)    ดังนั้นคนรักนก ชอบดูนก ก็สามารถอนุรักษ์นก ปกป้องที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนก ให้พวกเขาได้ดูนกต่อไปได้ด้วยการหันมาเดินและใช้จักรยาน แทนรถยนต์ส่วนตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้  ผู้เขียนสรุปปิดท้ายด้วยการเชิญให้ผู้เข้าฟังการบรรยายหันมาร่วม “การปฏิวัติเขียว” ครั้งใหม่นี้ด้วย   คาดว่าการบรรยายได้ผลในการดลใจผู้เข้าฟังไม่น้อย มีหลายคนเข้ามาพูดถึงความประทับใจ ขอนามบัตร และพูดถึงการใช้จักรยานของตนเองว่าจะพยายามใช้ให้มากขึ้น ทั้งในห้องบรรยายและภายหลัง

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น