Home / บทความ / ทางจักรยานริมแม่น้ำไทย เทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันและจีน

ทางจักรยานริมแม่น้ำไทย เทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันและจีน

          ผมเป็นคนชอบจักรยาน และผมรู้ว่าเราสามารถใช้จักรยานแก้ปัญหาของสังคมได้ถ้าเราใช้มันให้ถูกประเด็น โดยพยายามทำให้มันเป็นพาหนะทางเลือกของการเดินทางในบ้านเมือง ผมได้รณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้จักรยานเป็นเวลาเกือบ 30ปีมาแล้ว ดังนั้นหากมีทางจักรยานที่แยกเด็ดขาดออกจากถนน ซึ่งจะทำให้ปลอดภัยและคนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ผมก็ต้องชอบและสนับสนุนเป็นธรรมดา

แต่ผมกลับเพียงแค่ชอบ และยังลังเลที่จะสนับสนุนทางจักรยาน 14 กิโลเมตรริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้งบประมาณมากถึงหมื่นสี่พันล้านบาท ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ รัฐบาลอยากให้มีทางจักรยานแบบที่ว่านี้เพราะจะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตา เป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชน โดยผู้บริหารประเทศได้ไปเห็นตัวอย่างดีๆ จากต่างประเทศและอยากนำมาใช้กับประเทศเราบ้าง ซึ่งผมคงต้องขอบอกว่าในต่างประเทศที่มีทางจักรยานริมแม่น้ำสวยๆ นั้น บริบทบ้านเขากับบ้านเรามันไม่เหมือนกันครับ

บริบทของเขาไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ล้วนคล้ายกัน และมีทางจักรยานริมน้ำรูปแบบเดียวกัน คือ ทางจักรยานของเขาตั้งอยู่บนพื้นที่ราบริมแม่น้ำ และที่เขาทำได้เป็นเพราะเขามีพื้นที่ราบริมแม่น้ำที่ว่านี้เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่เราไม่มี และที่เขามีพื้นที่ราบสาธารณะริมแม่น้ำได้ก็เพราะไม่มีคนปลูกบ้านอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ผิดกับบ้านเราที่เป็นสังคมริมน้ำ ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ ปลูกบ้านอยู่ริมน้ำ อาบน้ำซักผ้าก็ริมน้ำ ชักน้ำเข้านาก็มาจากคลองจากแม่น้ำ ไปไหนมาไหนหาสู่กันในอดีตก็ใช้เส้นทางทางน้ำเป็นหลัก

เส้นทางจักรยานและทางเดินบนพื้นที่ราบริมแม่น้ำ, กรุงแซปโปโร ญี่ปุ่น 2015 

(สังเกตด้านซ้ายและขวาของที่ราบริมแม่น้ำ 2 ข้าง เป็นเนินดินยกสูงเพื่อเป็นเขื่อนกันน้ำในแม่น้ำ ไม่ให้ไหลเข้าไปท่วมในเขตเมืองที่มีอาคารและสิ่งก่อสร้างอยู่) 

ป้ายบอกว่าทางริมแม่น้ำนี้ปกติใช้ได้สำหรับเดิน/และจักรยาน(รวมวิ่ง)เท่านั้น แต่อนุญาตให้รถยนต์เข้ามาวิ่งได้ในเฉพาะกรณีฉุกเฉิน, แซปโปโร, ญี่ปุ่น 2015  สวนสาธารณะเส้นทางจักรยานบนที่ราบริมแม่น้ำ หลังแนวต้นไม้คือแม่น้ำ และไกลออกไปคือตัวเมือง, ไทเป 2015

เหตุผลที่เขาไม่ปลูกบ้านริมแม่น้ำแบบบ้านเรา เป็นเพราะในประเทศเขาพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงมาตามช่องเขาอย่างรวดเร็วสุดๆ ในแบบที่เราเรียกกันว่า ‘น้ำป่า’ หรือ ‘น้ำหลาก’ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายของคำว่า  ‘หลาก’ว่า ไหลมากผิดปรกติโดยกะทันหัน) และน้ำป่าหรือน้ำหลากนี้จะพัดสิ่งต่างๆ ริมน้ำไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง หรือต้นไม้พังพินาศหมด ผู้คนเขาจึงต้องสร้างบ้านเมืองกันบนเนินหรือบนที่ราบที่ไกลถัดไปจากพื้นที่ราบริมแม่น้ำ พื้นที่ราบริมแม่น้ำนี้จึงเหลือเป็นพื้นที่สาธารณะไปโดยปริยายได้ด้วยประการฉะนี้         

สภาพกรวดหินที่น้ำหลากพัดพาลงมาจากภูเขา แสดงให้เห็นความแรงของน้ำ

ที่ทำให้ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู๋ริมแม่น้ำไม่ได้,ไทเป 2015         

          ผิดกับบ้านเรา โดยเฉพาะตรงบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังดำริจะสร้างทางจักรยานเลียบสองฝั่งแม่น้ำอยู่นี้ น้ำที่ไหลมาท่วมพื้นที่นี้ (ซึ่งเดิมหรือแม้กระทั่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ราบลุ่มสำหรับปลูกข้าว) เป็นน้ำที่ ‘บ่า’ มา(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายของคำว่า  ‘บ่า’ว่า อาการที่น้ำปริมาณมากไหลมาอย่างรวดเร็ว โปรดสังเกตว่า ใช้คำว่ารวดเร็ว แต่ไม่ใช่กะทันหัน และคำว่า ‘เร็ว’ ในที่นี้ คือ เร็วจนเตรียมตัวไม่ทัน อย่างเช่นน้ำท่วมปี 2554 แม้ว่าน้ำได้ใช้เวลาหลายวันกว่าจะมาถึงกรุงเทพ แต่ก็เร็วจนเราเตรียมตัวไม่ทัน และเกิดภาวะท่วมเป็นอภิมหาน้ำท่วม) และการบ่ามานี้จะกินพื้นที่กว้างนอกเขตริมน้ำไปไกล ซึ่งดีแก่การทำนา และเราก็ไม่ได้เดือดร้อนจากการณ์นี้เพราะมันเป็น‘น้ำบ่า’ไม่ใช่ ‘น้ำป่า’ เราจึงเพียงปลูกบ้านใต้ถุนสูงให้พื้นบ้านแห้งอยู่เหนือน้ำ เราก็อยู่ของเราได้แล้ว แต่พื้นที่ริมน้ำนี้เมื่อมีบ้านเรือนปลูกอาศัยอยู่แน่นอนย่อมต้องเป็นพื้นที่ของประชาชน ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ แบบของสามประเทศที่ว่ามานั้น

ในเมื่อพื้นที่ราบริมแม่น้ำในสามประเทศนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ รัฐจึงสามารถเอามาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ ไม่ว่าจะทำเป็นสวนสาธารณะ สนามฟุตบอล สนามเบสบอล สถานที่แสดงงานนิทรรศการ หรือแม้กระทั่งใช้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำให้นกให้แมลงมาสร้างรังจนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและแหล่งดูนกของผู้คนในสังคมได้ และแน่นอนรัฐสามารถใช้พื้นที่นี้มาสร้างทางจักรยานที่แยกจากถนนอย่างเด็ดขาดได้เช่นกัน

กำแพงที่ขอบพื้นที่ราบริมแม่น้ำ กันน้ำท่วมไม่ให้เข้าเมือง มีประตูขนาดยักษ์เปิดปิดได้ตามสถานการณ์, ไทเป 2015

กำแพงทึบกันน้ำท่วมเข้าเมือง ซ้ายมือคือพื้นที่ราบสาธารณะและทางจักรยานริมแม่น้ำที่อาจปล่อยให้ท่วมได้ในหน้าน้ำ ส่วนขวามือคือเขตป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของเมืองและไม่ยอมให้น้ำเข้ามาท่วม, ไทเป 2015

ทว่า พื้นที่ราบริมแม่น้ำของไทยเป็นของชาวบ้าน การจะไปไล่รื้อเพื่อสร้างทางจักรยานย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หากจะทำกันจริงๆ ก็จำเป็นต้องสร้างบนเสาสูง  และต้องยื่นรุกล้ำเข้าไปในตัวแม่น้ำ ซึ่งผลเสียมีมากมายอย่างไร หลายคนรวมทั้งสถาบันวิชาชีพหลายองค์กรได้พูดทักท้วงเอาไว้แล้ว ผมจะไม่พูดซ้ำ วันนี้ผมเพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นอีกมุมเท่านั้นว่าบริบททั้งทางกายภาพและทางสังคมของเรากับของเขาไม่เหมือนกัน จึงต้องพิจารณากันดีๆ

แต่จะว่าไปแล้วในต่างประเทศก็ใช่ว่าจะไม่มีทางจักรยานบนสะพานที่ล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนก็มี แต่ที่เห็นได้ชัดเจนและแตกต่างจากที่เราจะทำ คือ สะพานทางจักรยานของเขาไม่บดบังทิวทัศน์และไม่มีบ้านเรือนพักอาศัยของชาวบ้านอยู่ชิดติดริมแม่น้ำแบบบ้านเรา ฉะนั้นหากจะทำกันต่อไปก็ต้องให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากต่างภาคี และพิจารณากันดีๆ อย่างที่ว่าไว้

 

ทางจักรยานริมแม่น้ำบนสะพานที่แยกตัวจากส่วนแผ่นดินในกวางโจว, ประเทศจีน  2015

เส้นทางจักรยานริมแม่น้ำ, กวางโจว, ประเทศจีน 2015

(สังเกตไม่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ)

ที่จอดจักรยานบนโป๊ะริมแม่น้ำ, สังเกตไม่มีบ้านพักอาศัยริมแม่น้ำ,กวางโจว,ประเทศจีน 2015

แผนที่แสดงเส้นทางจักรยานริมแม่น้ำซูเจียง,กวางโจว,ประเทศจีน 2015

เหตุผลอีกประการ คือ เส้นทางจักรยานขนาดกว้างข้างละ 20 เมตร (ที่รู้สึกว่าจะมีการปรับแบบ ลดขนาดเหลือ 10 กว่าเมตร) นั้นในแบบร่างเห็นเป็นทางค่อนข้างตรง เหมาะแก่การขี่จักรยานอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเอาไว้ใช้ซ้อม ไม่ใช่ใช้สำหรับการออกกำลังกายหรือนันทนาการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคนที่ได้ประโยชน์จากทางจักรยานรูปแบบนี้ จะเป็นคนเพียงส่วนน้อยของสังคมที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักจักรยาน แต่เป็นเพียงคนที่อยากเอาลูก เอาปู่ เอาหลานไปขี่จักรยานรับลมชมวิวริมแม่น้ำเท่านั้น และจากการที่มีความเร็วไม่เท่ากันและการใช้ประโยชน์จากเส้นทางในวิถีที่ไม่เหมือนกันเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายดังที่ปรากฏเป็นข่าวในหลายๆ พื้นที่ในประเทศเรา

ดังนั้นหากสมมุติว่ารัฐสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ได้แล้ว และรัฐต้องจะสร้างทางจักรยานเส้นนี้ขึ้นมาจริงๆ ผมเห็นว่าก็ต้องออกแบบให้เป็นทางที่คดเคี้ยวบ้าง ตรงบ้าง ซึ่งจะสนุกสนานและเพลิดเพลินกว่าการก้มหน้าก้มตาปั่นบนทางตรงโดยไม่เห็นอะไรข้างทาง รวมทั้งทางจักรยาน (ซึ่งควรมีทางสำหรับคนเดินด้วย) นี้ ไม่ควรเป็นทางที่กว้างมากนัก เพราะหากกว้างมากจนเอารถยนต์มาวิ่งได้ สักวันอาจมีผู้บริหารเมืองสักคนดันเปลี่ยนทางจักรยานนี้เป็นทางให้รถยนต์วิ่งได้ก็ได้ใครจะรู้ ที่พูดมานี้ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเพราะประวัติศาสตร์มันฟ้องว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย คือกรณีสร้างทางจักรยานบนเกาะช้าง ในโครงการเงินกู้มิยาซาวาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคต้มยำกุ้งเมื่อหลายปีที่แล้ว และสุดท้ายตอนนี้ทางจักรยานบนเกาะช้างได้กลายเป็นถนนให้รถยนต์วิ่งไปแล้วทุกเส้น

          รัฐบาลนี้อาจบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนั้น และไม่เคยคิดที่จะทำเช่นนั้น แต่ท่านครับ เมื่อท่านไปแล้วท่านไม่สามารถบังคับวิธีบริหารของคนมาใหม่ได้นะครับ

         ฉะนั้นระวังไว้ดีกว่าแก้นะครับ ขอบคุณครับ 

หนึ่งในสะพานข้ามแม่น้ำสำหรับคนเดินและจักรยานเท่านั้น ห้ามรถอื่นแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ไทเป 2015

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ 

ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ : บทความนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ใน website  THAIPUBLICA  เมื่อวันที่ 17 พ.ย.58

link http://thaipublica.org/2015/11/thongchai-12/

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น