Home / บทความ / ลักเซมเบอร์ก – ดาวรุ่งดวงใหม่ในโลกแห่งการใช้จักรยาน

ลักเซมเบอร์ก – ดาวรุ่งดวงใหม่ในโลกแห่งการใช้จักรยาน

ลักเซมเบอร์ก – ดาวรุ่งดวงใหม่ในโลกแห่งการใช้จักรยาน

ทางจักรยานในลักเซมเบอร์ก

ลักเซมเบอร์ก (หรือชื่อเต็มว่า “ราชรัฐแห่งลักเซมเบอร์ก”) ประเทศขนาดจิ๋วที่มีพื้นที่เพียง 2,584 ตารางกิโลเมตร เท่าๆกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร) แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้กลายเป็น“ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ในโลกแห่งการใช้จักรยานไปแล้ว ด้วยการลงทุนเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในการพัฒนาการใช้จักรยาน  หลังจากใช้การเป็นประธานดันให้ที่ประชุมสุดยอดการใช้จักรยานของสหภาพยุโรปออก ปฏิญญาลักเซมเบอร์กว่าด้วยการใช้จักรยานเป็นวิถีการเดินทางที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ”  ออกมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 แล้ว  นายฟรังซัว บอช รัฐมนตรีคมนาคมขนส่งลักเซมเบอร์ก ก็ได้ประกาศแผนการส่งเสริมการใช้จักรยานที่พูดได้ว่า ทะเยอทะยานเอามากๆ ออกมาต่อสาธารณชน  หลักๆคือแผนนี้กำหนดให้มีทางจักรยานยาว 753 กิโลเมตรในสามปี(พ.ศ. 2561) และมีเครือข่ายเส้นทางจักรยานแห่งชาติ ยาวรวมกันทั้งหมด 838 กิโลเมตรในปี 2564…  ลองนึกภาพอยุธยาจังหวัดเดียวมีทางจักรยานยาว 800 กิโลเมตรนะครับ ชาวอยุธยาคงบอกได้ดีทีเดียว

แผนที่ลักเซมเบอร์ก แสดงเส้นทางจักรยานในวันนี้(รูปซ้าย) ในปี 2561 (รูปกลาง) และในปี 2564 (รูปขวา)

แต่เครือข่ายทางจักรยานแห่งชาติเช่นว่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ลอยๆ จะต้องมีการลงทุนของรัฐบาลอย่างจริงจัง  ในกรณีของลักเซมเบอร์กคือปีละ 8 ล้านยูโร (ราว 300 ล้านบาท)   เงินจำนวนนี้เอาไปทำอะไรบ้าง  รัฐบาลลักเซมเบอร์กเอาไปส่งเสริมการใช้จักรยานร่วมกับยานพาหนะอื่นบนเครือข่ายถนนของประเทศ พัฒนาการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน อุดหนุนรัฐบาลท้องถิ่นเชื่อมโยงทางจักรยานในท้องถิ่นเข้ากับเครือข่ายจักรยานแห่งชาติ และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้จักรยานที่สถานีรถไฟ   การลงทุนในมาตรการทั้งหมดโดยหน่วยงานรัฐเหล่านี้รวมกันเป็นเงิน 11.75 ล้านยูโร หรือ 21 ยูโรต่อคนต่อปี  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป ลักเซมเบอร์กจึงกระโดดออกมานำลิ่วในด้านการลงทุนส่งเสริมการใช้จักรยานของรัฐบาลแห่งชาติต่อคนต่อปี  เดนมาร์กที่ได้ที่ 2 ลงทุน 4.8 ยูโร ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ 2.1 ยูโร และเยอรมนี 1.15 ยูโร 

ถึงแม้ว่า จะเป็นเงินจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้กับการคมนาคมขนส่งวิธีการอื่น  แต่ก็มีงานวิจัยบ่งบอกมาแล้วว่าการลงทุนส่งเสริมการใช้จักรยาน เป็นการลงทุนที่สุดแสนจะคุ้มและสร้างผลตอบแทนหลายเท่า   ยกตัวอย่างเช่นกระทรวงคมนาคมขนส่งอังกฤษสรุปว่า สัดส่วนของประโยชน์ที่ได้รับต่อค่าใช้จ่ายของการลงทุนในด้านการใช้จักรยานโดยเฉลี่ยแล้วคือ 5.5 ต่อ 1 หมายความว่าทุก 1ปอนด์ของเงินภาษีประชาชนที่ลงไป โครงการหรือมาตรการที่นำเงินนี้ไปใช้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นมูลค่า 5.5 ปอนด์  ตามคำแนะนำการลงทุนของกระทรวงนี้ การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนในสัดส่วนสูงกว่า 4 ต่อ 1 แล้วถือว่า “มีคุณค่าต่อตัวเงินสูงมาก”

หากจะให้การลงทุนได้ประโยชน์สูงสุด โครงการเกี่ยวกับถนนใดๆ ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลแห่งชาติก็ต้องนำการใช้จักรยานมาพิจารณาตั้งแต่ต้น  โครงการของหน่วยงานที่รับผิดชอบถนนจะต้องได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่การจักรยานแห่งชาติก่อนจะส่งไปให้รัฐมนตรีคมนาคมประทับตราอนุมัติ  การทำให้ขั้นตอนนี้เป็นแนวทางในกระบวนการวางแผนการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การใช้จักรยานไม่กลายเป็นสิ่งที่มาคิดเอาภายหลังทำโครงการถนนเสร็จไปแล้ว

เมื่อสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) พิมพ์รายงาน “มาตรวัดการจักรยาน” (ECF Cycling Barometer) ออกมาเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2558 นี้ ลักเซมเบอร์กก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ก้าวกระโดดก้าวใหญ่ขึ้นบันไดการจัดลำดับของ ECF เมื่อเทียบกับการวัดครั้งแรกในปี 2556 นั่นคือกระโดดจากอันดับที่ 19 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 13  แต่ถ้าเอาไปเทียบกับประเทศที่อยู่ในแถวหน้าสุดอย่างเนเธอร์แลนด์กับเดนมาร์กที่เริ่มลงทุนกับการจักรยานมาก่อนหน้านานแล้วตั้งแต่ยุค 1970 หรือสี่สิบปีก่อน ราชรัฐแห่งนี้ก็ยังตามหลังอยู่ห่างไกล   ยิ่งกว่านั้นสภาพภูมิประเทศของลักเซมเบอร์กก็ยังท้าทายกว่าประเทศที่แบนราบสองประเทศนั้นด้วย   การเติบโตขึ้นของยอดขายจักรยานไฟฟ้าอาจชดเชยข้อเสียเปรียบนี้ไปได้บ้างในอนาคต (ในปี 2557 ลักเซมเบอร์กมียอดขายจักรยานไฟฟ้า 1,000 คัน)   การที่คนจากฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเยอรมนีที่เข้ามาทำงานในลักเซมเบอร์กด้วยแรงดึงดูดใจของตลาดแรงงานที่นั่นส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ก็เป็นสิ่งท้าทายอีกประการ   กระนั้นการลงทุนสูงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้น่าใช้จักรยานและใช้จักรยานได้ปลอดภัย จะดึงดูดให้คนหันมาใช้จักรยานเป็นจำนวนมากขึ้น และดึงดูดให้คนที่ใช้จักรยานอยู่แล้วใช้มากขึ้นด้วย สมกับคำขวัญที่ว่า ถ้าคุณสร้าง พวกเขาก็จะใช้

นายกุส มุลเลอร์ ประธานขององค์กรผู้ใช้จักรยาน Lëtzebuerger Vëlos-Initiativ ซึ่งเป็นสมาชิกของ ECF กล่าวด้วยความดีใจว่าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่พวกเขาผลักดันนโยบายกับทางการมาหลายปี   “ลักเซมเบอร์กเคยตกท้ายขบวนมานานในเรื่องการใช้จักรยาน  แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว…”

กรณีของลักเซมเบอร์กเป็นตัวอย่างที่ดีที่บอกเราว่า การส่งเสริมสนับสนุนการใช้จักรยานเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ด้วยการมีความมุ่งมั่น(ทางการเมือง) แปรความมุ่งมั่นเป็นนโยบาย เป็นแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายที่วัดได้ในเชิงปริมาณในกรอบเวลาที่ชัดเจน ตามมาด้วยการจัดสรรงบประมาณที่มากพอและสอดคล้องกับแผนมาทำให้เป็นจริง  ประเทศไทยก็ทำเช่นนี้ได้ครับ  นายกรัฐมนตรีไทยพูดถึงการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ออกกำลังกาย และใช้ในชีวิตประจำวัน มา 13 เดือนแล้ว เรากำลังรอขั้นตอนต่อมาด้วยความหวังว่าจะไม่ตกขบวนประเทศในเอเชียครับ…  เราไม่คาดหวังให้ไทยก้าวไปเทียบกับญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือจีนได้ในวันสองวันหรอก แต่ “ถ้าคุณสร้าง ประชาชนไทยก็จะใช้”

——————————————————————————————————————————————————————————————-

เรียบเรียงจาก Luxembourg rising star in cycling world?เขียนโดย ฟาเบียน คึสเทอร์ ใน ECF News, 19 November 2015 โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น