Home / บทความ / เขียนรูปจักรยานบนพื้นถนนอาจไม่ช่วยอะไร นอกจาก…

เขียนรูปจักรยานบนพื้นถนนอาจไม่ช่วยอะไร นอกจาก…

เขียนรูปจักรยานบนพื้นถนนอาจไม่ช่วยอะไร นอกจาก…

ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านทุกคนเคยเห็นรูปจักรยานที่เขียนไว้บนพื้นถนนนอกทางจักรยานมาแล้ว เมืองหลายแห่งในไทยมีการใช้เครื่องหมายนี้มากขึ้น  รูปนี้ในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Sharrow เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายจราจรประเภทหนึ่งที่บอกว่า “ถนนนี้มีผู้ขี่จักรยานอยู่ด้วย ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นโปรดให้ความระมัดระวัง”  ความมุ่งหมายสำคัญของการมีเครื่องหมายนี้บนถนนคือ เมื่อผู้ใช้ถนนอื่นได้รับการเตือนใจให้ทราบเช่นนั้นแล้ว ก็จะเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นกับผู้ใช้จักรยาน 

ผู้บริหารเมืองบางเมืองถือว่าการทำเครื่องหมายนี้บนถนนเป็นผลงานในการสร้างความปลอดภัยมากขึ้นให้คนขี่จักรยานร่วมกับพาหนะอื่นบนถนน จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมการใช้จักรยาน อย่างเช่นผู้บริหารเมืองโทรอนโทในคานาดาคุยว่า “เครื่องหมายบนถนนเหล่านี้เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมวิธีหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้ใช้จักรยานและผู้ใช้รถยนต์แบ่งปันการใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย”  ผู้บริหารกรุงเทพมหานครก็ดูเหมือนจะเข้าใจเช่นนี้ ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มีการไปทาสีเครื่องหมายรูปจักรยานบนถนนซอยและถนนในย่านชุมชนหลายแห่ง

แต่ก็มีคำถามจนได้ว่า การมีเครื่องหมายนี้บนถนนช่วยให้ผู้ใช้จักรยานปลอดภัยขึ้นจริงหรือ?  เราท่านที่เคยใช้จักรยานบนถนนที่มีเครื่องหมายนี้จะตอบคำถามได้ด้วยประสบการณ์ของตนเอง ผู้อ่านแต่ละท่านอาจมีประสบการณ์แตกต่างไป ผู้เขียนเองจากประสบการณ์พบว่า เครื่องหมายนี้โดยตัวมันเองโดยลำพังไม่ได้สร้างความแตกต่างใดแต่ประการใดให้รู้สึกได้เลย และผู้เขียนไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ มีคนมากขึ้นเริ่มตั้งคำถามตั้งข้อสงสัยกับประสิทธิผลของเครื่องหมายนี้ บางคนอย่างแองจี้ ชมิทท์ แห่ง Streetblog ถึงกับบอกว่า มันเป็นวิธีการของผู้บริหารเมืองที่ไม่มีใจ ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะจัดพื้นที่เฉพาะให้คนได้ใช้จักรยานเดินทางอย่างปลอดภัย

เพื่อตอบคำถามนี้ นิค เฟอเรนชัก กับเวสลีย์ มาร์แชล นักวิจัยมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่เมืองเดนเวอร์ ได้ทำการศึกษาถนนสามประเภทในเมืองชิคาโกของสหรัฐอเมริกาคือ ถนนที่มีทางจักรยาน มีเครื่องหมายรูปจักรยานบนพื้นถนน และไม่มีการจัดอะไรเป็นพิเศษให้กับคนที่ใช้จักรยานเลย และดูว่าผลที่ออกมาในแง่ความปลอดภัยเป็นเช่นใด  การศึกษาพบว่า ถนนที่มีทางจักรยานทำให้การขี่จักรยานบนถนนนั้นปลอดภัยมากขึ้นและกระตุ้นให้คนใช้จักรยานมากขึ้น ในขณะที่ถนนที่มีเครื่องหมายรูปจักรยานบนพื้นถนนแทบไม่สร้างความแตกต่างอะไรทั้งในด้านความปลอดภัยและการส่งเสริมการใช้จักรยาน  พวกเขาพบว่าสำหรับถนนในเมืองชิคาโกที่พวกเขาศึกษานั้น อัตราการใช้จักรยานในการสัญจรเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อมีการทำทางจักรยานขึ้นมาใหม่ ส่วนถนนที่ทาสีรูปจักรยานบนพื้นมีการใช้จักรยานเพิ่มร้อยละ 27 ในขณะที่ถนนที่ไม่มีการทำอะไรเป็นพิเศษให้คนใช้จักรยานเลยกลับมีการใช้จักรยานเพิ่มร้อยละ 43  นอกจากนั้น การบาดเจ็บของผู้ใช้จักรยานยังลดลงร้อยละ 42 บนถนนที่มีทางจักรยาน ในขณะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญใดทางสถิติเลยบนถนนที่มีเครื่องหมายจักรยานบนพื้น

แม้ขณะนี้จะไม่อาจพูดได้ว่า ผลการศึกษานี้เป็นข้อสรุปทั่วไปสุดท้ายที่เป็นวิทยาศาสตร์หนักแน่น ควรจะมีการศึกษามากกว่านี้ในหลายๆ เมืองให้ได้ผลมาพิจารณามากขึ้น  ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับความเห็นของ ดิค แวน ดีน วิศวกรการจราจรชาวดัทช์ที่ชี้ว่า ไม่ใช่ว่าการมีเครื่องหมายจักรยานบนพื้นถนนจะไร้ประโยชน์ไปทั้งหมด แต่เครื่องหมายนี้จะมีส่วนในการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้จักรยานเมื่อใช้ถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นได้ ก็ต่อเมื่อใช้บนถนนที่มีการจำกัดความเร็วหรือมีการทำสภาพทางกายภาพของถนนให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเนเธอร์แลนด์มีใช้เครื่องหมายนี้อยู่บ้างก็ในเงื่อนไขนี้เท่านั้น เขาบอกว่า ไม่ปลอดภัยเอามากๆ ที่ให้คนไปขี่จักรยานบนถนนร่วมกับยานยนต์ที่อนุญาตให้ใช้ความเร็วสูงกว่านี้ และการทำเครื่องหมายนี้บนถนนเช่นนั้นก็ไม่ช่วยอะไรเลย จึงเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรม (นั่นคือหลอกลวงคนใช้จักรยานว่ามีเครื่องหมายนี้แล้ว คนขับรถจะระมัดระวังพวกเขามากขึ้น พวกเขาจะปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง)

สรุปว่า เครื่องหมายรูปจักรยานเพื่อเตือนให้คนขับรถระมัดระวังคนใช้จักรยานไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือไม่ดี ใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผล โดยตัวของมันเอง หากจะนำไปใช้ให้ได้ผลจริงในการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้จักรยาน ก็ต้องใช้บนถนนที่มีการจำกัดความเร็ว มีสภาพที่ทำให้รถใช้ความเร็วสูงไม่ได้ (เช่น เป็นถนนที่แคบอยู่แล้ว มีการหักเลี้ยวบ่อย ไม่มีทางตรงยาวๆ ไม่ราบเรียบอย่างมีสะพานสั้นๆ ที่สูงกว่าถนน ฯลฯ) หรือมีการใช้มาตรการทางกายภาพมาทำให้รถยนต์ไม่อาจใช้ความเร็วสูง (ถ้าจะให้ดีคือความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ที่ฝรั่งเรียกว่า ‘road diet’ เช่น การทำให้ช่องทางจราจรและถนนแคบลง ติดตั้งลูกคลื่นหรือเนินชะลอความเร็วเป็นระยะ  ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นี่เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้ใช้รถว่า นี่เป็นพื้นที่ถนนที่ใช้ร่วมกับผู้ใช้ถนนอื่นๆ โดยเฉพาะคนเดินเท้า-คนใช้จักรยาน ที่พวกเขาต้องเคารพต้องให้ความสำคัญทัดเทียมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมในการขับรถต่อไป  กับถนนที่ต้องการให้คนขับรถใช้ความเร็วสูงได้ การมีเครื่องหมายนี้บนพื้นถนนจะเป็นการสิ้นเปลืองสี สิ้นเปลืองทรัพยากร และงบประมาณจากเงินภาษีของประชาชน ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ขอฝากผู้บริหารเมืองในไทยที่จะส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจังนำไปพิจารณาด้วยครับ

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย  เขียนจาก New study finds that sharrows don’t do anything for cycling safety โดย Lloyd Alter ใน  treehugger.com

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น