นายกเทศมนตรีอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนการจัดพื้นที่ให้จักรยานมากกว่าให้รถแล่นหรือจอด
แบ่งพื้นที่ถนนที่ให้รถแล่นและจอดมาทำทางจักรยาน (เครดิตภาพ: Adam Coppola Photography)
หน่วยงานความริเริ่มในเรื่องเมืองใหญ่ (Initiative on Cities)ของมหาวิทยาลัยบอสตันในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มโครงการสำรวจความเห็นของนายกเทศมนตรีที่บริหารเมืองที่มีขนาดและระดับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจต่างๆ ในสหรัฐฯ ขึ้นในปี 2014 เพื่อให้เข้าใจว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไร, อะไรที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งท้าทาย, ความสัมพันธ์ต่างๆ และพวกเขาได้แรงดลใจในการทำงานมาจากไหน จากความเป็นจริงของเมืองที่พวกเขาบริหาร และเสนอสิ่งที่ค้นพบจากการสำรวจออกมาเป็นประเด็นเฉพาะต่างๆ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงกิจการตำรวจและความไม่เสมอภาคกัน และเพิ่งเปิดเผยรายงานการสำรวจของปี 2015 ออกมา
สิ่งที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 70 ของนายกเทศมนตรีที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจ (หรือจำนวนจริง 89คน) ซึ่งมาจากเมืองในทุกขนาดและทุกแนวคิดทางการเมืองสนับสนุนการทำให้ผู้ใช้จักรยานสามารถใช้ถนนในการสัญจรได้สะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น แม้จะต้องเอาพื้นที่ถนนที่เคยจัดให้รถยนต์แล่นและจอดมาทำช่องทางให้จักรยานก็ตาม เมื่อจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณมาให้ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมือง นายกเทศมนตรีในการสำรวจร้อยละ 20 จัดให้การจัดสรรงบประมาณมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เมืองที่พวกเขาบริหารเป็น “เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน” เป็นหนึ่งในสามเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุด และหากเมืองของพวกเขามีทุนขนาดเล็กมาใช้อย่างไม่จำกัดกับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โครงการที่เกี่ยวกับจักรยานและคนเดินเท้าเป็นโครงการที่พวกเขาจะเลือกทำเป็นอันดับแรก ก่อนหน้าโครงการที่เกี่ยวกับสวนสาธารณะ ถนน และอาคารต่างๆ ของเมือง สำหรับทุนขนาดใหญ่ที่ไม่จำกัดนั้น ขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนเป็นเรื่องที่พวกเขาจะเลือกใช้ทุนทำเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยถนน (ดูรายงานฉบับเต็มของ The 2015 Menino Survey of Mayors ได้ในเอกสารแนบ)
แม้การสำรวจนี้จะทำในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ไทย แต่ก็น่าจะมีผลต่อความคิดของผู้บริหารเมืองและส่วนงานราชการในไทยไม่น้อย เพราะพวกเขามักมองไปที่สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างในเรื่องต่างๆ ทั้งแนวคิดและมาตรการในทางปฏิบัติ อย่างเช่นมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในไทยที่กระทรวงคมนาคมทำออกมาและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อปลายปี 2558 ก็ใช้มาตรฐานของสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศในทวีปยุโรปก้าวหน้าในด้านการส่งเสริมการใช้จักรยานไปกว่าสหรัฐฯ ซึ่งถูกครอบงำด้วย “วัฒนธรรมการใช้รถยนต์” (Car culture) คณะสำรวจเชื่อว่า บรรดานายกเทศมนตรีเริ่มตระหนักว่าพวกเขาไม่สามารถลงทุนเพิ่มพื้นที่ถนนมารองรับการใช้รถยนต์ไปเรื่อยอย่างไม่มีสิ้นสุด ในขณะที่ปัญหาความแออัดของถนนและเมือง การจราจรที่ติดขัด นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่เคยหมดไปและนับวันจะหนักขึ้น แต่หากชาวเมืองหันมาใช้จักรยานหรือระบบขนส่งสาธารณะในการสัญจรในชีวิตประจำวัน เมืองจะลดความแออัดลง น่าอยู่มากขึ้น และพวกเขาสามารถใช้งบประมาณที่มีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ตามภาพ
เปรียบเทียบการใช้พื้นที่ถนนของคน 69 คนที่ใช้รถประจำทาง จักรยาน และรถยนต์ส่วนตัว (เครดิตภาพ: Cycling Promotion Fund)
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยหวังว่า นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบสร้างและดูแลสุขภาพของเมืองทั้งหลายในประเทศไทย ซึ่งมักจะมองสหรัฐอเมริกาเป็นคำตอบในการพัฒนาเมือง จะตระหนักถึงกระแสใหม่ในความคิดและการปฏิบัติของนายกเทศมนตรีในสหรัฐฯ ดังที่การสำรวจค้นพบ ซึ่งความจริงก็เป็นกระแสโลก และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองของท่าน ในการส่งเสริมการใช้จักรยานเช่นกัน
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขียนด้วยข้อมูลจาก Most Mayors Agree—Add More Bike Lanes Instead of Parking โดย Caitlin Giddings ใน bicycling.com