ชาวดัทช์ใช้การออกแบบล่อให้คนเดินและใช้จักรยานมากขึ้น
(เครดิตภาพนี้และภาพอื่นทั้งหมด: Benthem Crouwel)
เราเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า การออกแบบเมืองโดยรวมและการออกแบบสิ่งก่อสร้างมีส่วนสำคัญในการทำให้เมืองนั้นน่าเดินน่าใช้จักรยาน และเดินและใช้จักรยานไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกปลอดภัย เป็นแรงกระตุ้น-ปัจจัยบวกที่ทำให้คนในเมืองนั้นเดินและใช้จักรยานในการสัญจรไปไหนมาไหนมากขึ้น ความสะดวกและปลอดภัยนี้เกิดขึ้นได้หลายวิธี ในกรณีที่ทางเดิน-ทางจักรยานตัดกับเส้นทางของยานพาหนะอื่น วิธีที่ดีสุดหากสภาพแวดล้อมอนุญาตให้ทำได้ก็คือ ทำให้คนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานเคลื่อนที่ไปได้อย่างไหลลื่น ไม่ต้องหยุด ไม่ต้องตัดผ่านกับยานพาหนะอื่นแบบมีโอกาสสัมผัสกัน นั่นคือใช้เทคโนโลยีสะพานหรืออุโมงค์ให้ผู้เดินทางประเภทหนึ่งข้ามหรือลอดกระแสการเคลื่อนที่ของผู้เดินทางอีกประเภทหนึ่ง
เราเคยได้อ่านข่าวและเห็นรูปสะพานจักรยานของชาวเมืองโคเปนเฮเกนที่ทั้งใช้งานได้ดีและงดงามเป็นงานศิลปะไปในตัวมาแล้ว คราวนี้จะพาไปดูอุโมงค์ของชาวดัทช์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมกันครับ อุโมงค์Cuyperspassageนี้เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกจากบริษัท Bentham Crouwel มีความยาว 360 ฟุตหรือประมาณ 100 เมตร อยู่ใต้สถานีรถไฟกลางอันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของนครหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เชื่อมโยงตัวเมืองกับแม่น้ำ Ij เมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา มีคนขี่จักรยานใช้อุโมงค์นี้เฉลี่ยวันละ 15,000 คัน ส่วนคนเดินเท้าก็มีตลอดทั้งวัน
การที่อุโมงค์นี้ดึงดูดทั้งคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานให้มาใช้เป็นประจำ นอกจากการเป็นเส้นทางลัดที่ใช้ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยช่องทางกว้างขวางที่แยกทางเดินเท้ากับทางจักรยานออกจากกันด้วยระดับ, สีและวัสดุที่ทำพื้น, และความสว่างของไฟที่ต่างกัน (ทางเท้าสว่างกว่าทางจักรยาน แต่ก็สว่างเหลือเฟือทั้งสองส่วน) แล้ว ยังเป็นเพราะความสวยงามของอุโมงค์ทั้งตัวรูปแบบของอุโมงค์เองและการตกแต่งผนังภายในด้านคนเดินเท้าด้วยกระเบื้องขาวลายน้ำเงินแบบโบราณของเนเธอร์แลนด์ที่เรียกกันว่า กระเบื้องเดลฟ์ (ตามชื่อเมืองที่เป็นแหล่งผลิตกระเบื้องชนิดนี้) จำนวน 80,000 แผ่น เริ่มที่ปลายอุโมงค์ฝั่งเมืองด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดมหึมาที่ออกแบบโดย Irma Boom จากภาพเขียนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของ Cornelis Bouwmeester ที่แสดงกองเรือพาณิชย์อันเกรียงไกรของชาวดัทช์ในยุคนั้นที่ทำให้ประเทศร่ำรวยมาจนถึงปัจจุบัน แล้วค่อยๆ กลายมาเป็นภาพไร้รูปทรงทางปลายอุโมงค์ฝั่งแม่น้ำ เกิดเป็นงานศิลป์ชิ้นใหม่ที่ไม่เพียงทำให้การเดินทางผ่านอุโมงค์เต็มไปด้วยความรื่นรมย์ ชาวดัทช์บอกว่าให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในบ้านของเขาเอง โดยเฉพาะห้องครัวของบ้านดัทช์ดั้งเดิมที่มักตกแต่งด้วยกระเบื้อง และความรู้สึกว่าอยู่ในบ้านก็นำไปสู่ความรู้สึกว่าปลอดภัย อบอุ่นสบาย สำหรับผู้มาเยือนอัมสเตอร์ดัม อุโมงค์นี้ก็กลายเป็นงานศิลป์อีกชิ้นหนึ่งที่ควรมายล การใช้กระเบื้องทำผนังยังทำให้ทนทาน บำรุงรักษาและทำความสะอาดง่ายเช่นเดียวกับพื้นทางเดินและทางจักรยาน
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบ-การสร้างเมืองที่มีชื่อเสียงของชาวดัทช์ที่ผสานอย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างการใช้งาน(ในการเป็นช่องทางการเดินทางขนส่ง) เข้ากับการสร้างสรรค์ศิลปะ ความงาม ความเป็นท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่พวกเขาภาคภูมิใจ เกิดเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับการเดิน-การใช้จักรยาน น่าอยู่และยั่งยืน และที่สำคัญเขาไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ไทยเราสามารถเอาแนวคิดมาออกแบบเมืองของเราให้ได้ผลเช่นเดียวกับชาวดัทช์เช่นกัน และเราก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น
กวิน ชุติมา เก็บมาเขียนจาก Smart Dutch underpass design accommodates both pedestrians & cyclists โดย Kimberley Mok